xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน : แนวโน้มเศรษฐกิจโลก..ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2551 ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย อาจต้องเผชิญกับโจทย์ในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจหมายความรวมถึง แนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการทรงตัวในระดับสูงของต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาน้ำมันในระดับสูง

เศรษฐกิจไทยมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูง และมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยจะมีการปรับตัวรับกับต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และอ่อนไหวต่อแรงเก็งกำไรตลอดจนปัญหาขาดแคลนด้านอุปทาน (ในขณะที่การใช้พลังงานของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก) จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและต้องจับตาต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง

นอกจากจะมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันในระดับสูงแล้ว เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากกว่าบางประเทศในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยแม้ว่าจีนจะมีสัดส่วนของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (รวมการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังประเทศที่สามเพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีจุดหมายปลายทางคือตลาดสหรัฐฯ) อยู่ในระดับที่สูงมากถึงประมาณร้อยะ 31.2 ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และอินเดีย ก็มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มากกว่าร้อยละ 25 ในขณะที่ การส่งออกของไทยพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ น้อยกว่า โดยสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 24.7 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกต่อจีดีพีของไทยมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 62 ในขณะที่ สัดส่วนการส่งออกของจีนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 34 เท่านั้น ดังนั้นเมื่อทำการพิจารณาผลกระทบของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแล้ว จะพบว่า การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ นั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเศรษฐกิจของจีน นั่นก็เป็นนัยว่า ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้ส่งออกไทยได้มีการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ แล้วก็ตาม

และเมื่อประกอบภาพของแนวโน้มการชะลอตัวลงของภาคส่งออกอันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลัก และการอ่อนแอลงของเงินดอลลาร์ฯ ในระถัดไปเข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นว่า ภาคส่งออกของไทยอาจกำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งในปี 2551 ในขณะที่ ข้อมูลของธปท.ยังสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ยังคงรับชำระค่าสินค้าเป็นรูปเงินดอลลาร์ฯ ถึงประมาณร้อยละ 70-80 ของการส่งออกโดยรวม แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 82 ในปี 2549 และจากร้อยละ 90 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ดังนั้น แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ยังอาจบั่นทอนรายได้ของภาคส่งออกในรูปเงินบาทอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ผลกระทบจากการพึ่งพาน้ำมันและการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ

เศรษฐกิจไทยและเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะความผันผวนของราคาน้ำมันและการชะลอลงของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ทั้งนี้ หากประกอบภาพของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกันกับประเด็นทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 นั้น อาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งปัจจัยภายนอก อาทิ แนวโน้มการชะลอตัวของภาคส่งออกตามการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ตามกระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และปัจจัยภายใน อาทิ การเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ตลอดจนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการภาครัฐหลังการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้กลับมาเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 อาจเป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้น้ำหนักความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็จะหมายความว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินนโยบายการเงินไปในแนวทางที่เสริมสร้างเสถียรภาพของราคาเป็นสำคัญ

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นโยบายการเงินอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เด่นชัดมากนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ดังนั้นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจึงมุ่งประเด็นไปยังนโยบายการคลังของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า รัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยมีการขาดดุลงบประมาณ(ในปี 2551) ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2550 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แม้ว่ามาตรการผ่อนคลายทางการคลังจะเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2551 ที่ต้องการแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศ ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของภาคส่งออก แต่ก็มีประเด็นที่ต้องพึงระวัง 2 ประการ คือ ประการแรก การขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องคำนึงการรักษากรอบวินัยทางการคลังที่กระทรวงการคลังกำหนด และประการที่สอง รัฐบาลควรจะตระหนักว่า แนวทางการขาดดุลงบประมาณนั้น แม้จะมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุน) ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาระกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐ ก็คือ ภาครัฐต้องมีบทบาทในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อช่วยให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนกลับคืนมาเป็นตัวจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น