xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเลือกตั้ง-สรรหาส.ว.ชุดใหม่ ปลอดอิทธิพลการเมืองจริงหรือ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร( ส.ส.)ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังคงต้องจับตากับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือยาวไปถึงการได้ผู้นำประเทศคนใหม่
แต่การเลือกตั้ง และการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็จ่อท้ายมาอย่างกระชั้นชิด แถมมีหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาอย่างมาก
โดยในจำนวนส.ว.ที่พึงมีทั้งสภา 150 คนนั้น รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 111 กำหนดให้มีที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน ซึ่งก็จะมีส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาส.ว. อีก 74 คน ทั้งหมดจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร และได้รับการสรรหาเป็นส.ว.ไว้ค่อนข้างสูงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 อาทิ ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นสมาชิก หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ไม่เป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาไม่น้อยกว่า 5 ปี จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ แถมยังให้ผู้สมัครส.ว. หาเสียงเลือกตั้งได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. โดย กกต. ก็ต้องสนับสนุนในเรื่องของการจัดสถานที่ปิดประกาศ ที่หาเสียงเลือกตั้ง จัดพิมพ์ส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับการเลือกตั้งส.ส.
ทั้งหมดก็เพื่อให้องค์กรวุฒิสภา ปลอดจากการถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองให้มากที่สุด ไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนเช่นอดีต จนประชาชนหมดศรัทธา พาลไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรนี้ไว้ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
แต่ทั้งนี้ในการเลือกตั้งและสรรหาครั้งแรกนี้ ก็มีการยกเว้นไว้ในหลายเรื่อง อาทิ ห้ามไม่ให้ผู้เคยเป็นส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 40 มาลงสมัคร หรือเข้ารับการสรรหา แต่ไม่ห้ามผู้ที่พ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมายังไม่ถึง 5 ปีลงสมัคร รวมถึงไม่ห้ามผู้ที่เคยเป็น ส.ว.ซึ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งหลังสุดตามรัฐธรรมนูญ 40 ลงสมัคร และให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นส.ว.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 50 ดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกเพียง 3 ปี
ซึ่งทั้งขั้นตอนของการเลือกตั้ง การสรรหา เวลานี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) ทั้งในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง และหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา ก็ได้มีการกำหนดปฏิทินการทำงานไว้แล้ว
เริ่มจากในส่วนของการเลือกตั้ง มีการกำหนดให้ วันที่ 2 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้ง ส.ว ทั่วประเทศ ทันทีที่เปิดศักราชใหม่ประมาณ 8 ม.ค. ก็จะมีการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. โดยคาดว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้งส.ว.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 ม.ค.
จากนั้นวันที่ 21-25 ม.ค. ก็จะสมัครรับเลือกตั้ง โดยช่วง 3-31 ม.ค. จะเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดได้ยื่นขอลงทะเบียน ส่วน 11-24 ก.พ. จะเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ขณะที่ 23-24 ก.พ. ก็จะเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งส.ว.ทั่วประเทศในวันที่ 2 มี.ค.
ขณะที่ในส่วนของกระบวนการสรรหาส.ว.นั้น มีการประกาศวันเริ่มต้นดำเนินการไปแล้วคือ วันที่ 2 ม.ค. โดยใน 7 อรหันต์ที่ทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาส.ว. อย่าง นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา นายอำพล สิงหโกวินท์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ที่ได้รับมอบหมายจากประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ก็ได้มีการประชุมนัดแรก และมีมติเลือกนายวิรัช ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสรรหา พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา
ซึ่งจากนี้ไป 15 วัน ก็จะเป็นช่วงที่คณะกรรมการสรรหา จะเปิดให้องค์กรภาคๆ ต่าง ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ส.ว. อาทิ องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ ที่มีสภาพเป็นนิติบุคคลดำเนินการต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือดำเนินกิจกรรมการทางการเมืองได้ยื่นลงทะเบียน พร้อมเสนอรายชื่อบุคคลที่อาจเป็นสมาชิกขององค์กร หรือมีสมบัติเดียวกับองค์กรที่เสนอชื่อเป็นผู้เหมาะสมเป็น ส.ว.องค์กรละ 1 ชื่อ ประกอบหลักฐานเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรและเกี่ยวกับบุคคลที่จะเสนอชื่อ และเมื่อครบกำหนดเวลา ทางกกต. ก็จะทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดทำเป็นบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาภายในวันที่ 22 ม.ค
เมื่อรายชื่อถึงมือคณะกรรมการสรรหาฯแล้ว 5 คณะอนุกรรมการฯ ตามองค์กรแต่ละภาคที่คณะกรรมการสรรหาตั้งขึ้น ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯขององค์กรภาควิชาการ มีเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นประธาน คณะอนุกรรมการฯ ขององค์กรภาครัฐ มีเลขาธิการป.ป.ช. เป็นประธาน คณะอนุกรรมการฯขององค์กรภาคเอกชน มีเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธาน คณะอนุกรรมการฯขององค์กรภาควิชาชีพ มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการฯ ขององค์กรภาคอื่น มีประธานกกต. เป็นประธานจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรและผู้ถูกเสนอชื่อ ก่อนจะนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการสรรหาทำการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ มาทำหน้าที่ส.ว.รวม 74 คน ซึ่งการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ นี้จะใช้เวลา 30 วัน
ดังนั้นภายใน 21 ก.พ. ก็จะได้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา 74 คน
แม้จะมีการวางหลักเกณฑ์ ขั้นตอนพิจารณาต่างๆ ไว้เพื่อให้การสรรหาทันกับระยะเวลาที่ไล่หลังมา แต่การที่คณะกรรมการสรรหาไม่ได้กำหนดในระเบียบเกี่ยวกับการสรรหา ส.ว.ถึงนิยามขององค์กรแต่ละภาคที่จะเสนอผู้เหมาะสมเป็นส.ว. ว่าจะหมายถึงองค์กรที่ประกอบกิจการลักษณะใดบ้าง และไม่ได้มีการกำหนดจำนวนสัดส่วนว่าแต่ละองค์กรภาค จะต้องได้รับการคัดเลือกเป็นส.ว .เท่าใด จากจำนวนส.ว.ที่พึงมีในการสรรหา อาจกลายเป็นช่องโหว่ ที่ทำให้การสรรหาเกิดปัญหา
เพราะแน่นอนว่าจะมีการหลั่งไหลมายื่นลงทะเบียนขององค์กรภาคต่างๆ ที่นอกจากไม่อาจพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นส.ว.นั้น เป็นการเสนอภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือไม่แล้ว การไม่กำหนดจำนวนสัดส่วนของแต่ละองค์กรภาคที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นส.ว. ว่าต้องมีจำนวนเท่าใดนั้น ย่อมอาจกลายเป็นช่องทางให้เกิดการแทรกแซงจากภายนอกได้
ซึ่งงานนี้ก็แว่ว ๆว่า ในส่วนของการสรรหานั้น มีการตั้งเป้าไว้แล้วว่า จะมีการเสนอชื่อบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติในปัจจุบัน ผ่านองค์กรภาคต่างๆ และจะมีการผลักดันให้ผ่านการคัดเลือกเพื่อให้เข้าไปทำหน้าที่ ส.ว.ชุดใหม่ ไม่น้อยกว่า 30 %
ยังไม่รวมถึงข่าวคราวที่ว่า มีการจัดที่ทาง เตรียมไว้ให้กับบรรดาอดีตนายทหารแกนนำคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.) อีกจำนวนหนึ่ง หรือการขอจองเก้าอี้ ส.ว.ในสัดส่วนจากองค์กรภาคเอกชน ของบรรดา ประธานสภาหอการค้าต่างๆ
ขณะที่ในส่วนของสนามเลือกตั้งนั้น ประเภทพวกไร้ชื่อ ไร้เงิน อย่าคิดหวัง เพราะ 1 คน 1 จังหวัด นอกจากต้องเจ๋ง แล้วยังต้องเฮง อีกต่างหาก และเมื่อโจทย์ยากขนาดนี้ ระบบหัวคะแนนจึงเป็น “ตัวช่วย” ที่สำคัญที่จะทำให้ได้รับเลือกตั้ง
ทำให้บรรดาผู้สมัครส.ส.ที่อกหักจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เล็งจะใช้สายสัมพันธ์ต่างๆ ในท้องถิ่นช่วยเหลือเกื้อกูลให้ได้รับการเลือกตั้ง แต่ว่ากันว่างานนี้คนที่มีเปอร์เซ็นต์ได้รับเลือกตั้งสูงหากลงสมัคร หนีไม่พ้น พวกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
และเริ่มมีกระแสข่าวว่า การเลือกตั้งซ่อมนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด ที่จะมีขึ้นในจังหวัดมุกดาหาร มหาสารคาม นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ในช่วงเดือน ม.ค -ก.พ. นี้ ก็อาจจะพอวัดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของระบบหัวคะแนนได้ระดับหนึ่ง เพราะจะมีการหาเสียงพ่วง ให้กับผู้ที่เปิดตัวจะลงสมัครส.ว.ควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ คณบดีคณะรัฐประศาสน์ศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ไว้ว่า การเลือกตั้งส.ว.ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงหนีไม่พ้นกลุ่มก้อนนักการเมืองในพื้นที่ที่จะยังคงยึดครองที่นั่งส่วนใหญ่ได้เหมือนเคย เพราะตราบใดที่เปิดให้มีการเลือกตั้ง ย่อมเป็นธรรมดาที่จำเป็นต้องอาศัยฐานอำนาจจาก ส.ส. ดังนั้นกลุ่มที่จะลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว. ก็จะเป็นนักการเมืองในพื้นที่ และบรรดาหัวคะแนนที่ทำงานใกล้ชิดกับ ส.ส. จะได้เปรียบมากที่สุด
“ผลการเลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้ สามารถมองทะลุไปถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะตามมาได้พอสมควร เพราะการเมืองใน 2 สนามนี้ไม่แตกต่างกันเท่าไร ต้องยอมรับว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทุจริตเลือกตั้ง ก็ต้องรอดูว่าการทำงานของกกต. จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน หากไม่ได้ผล แน่นอนว่า กลุ่มอำนาจของนักการเมืองในพื้นที่จะได้เข้ามาเป็นตับ ยิ่งอำนาจของรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงให้ ส.ว.มีบทบาทเหมือนเดิม โดยเฉพาะการถอดถอน ย่อมหนีไม่พ้นคนเหล่านี้จะต้องหาหนทางยึดครองเสียงในสภาสูงให้ได้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยในสถานภาพของตัวเอง และแม้จะมีความพยายามรื้อระบบการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในสภาสูงใหม่ ด้วยการแบ่งส่วนหนึ่งให้มาจากการคัดสรรก็ตาม แต่ผมมองว่าตรงนี้ยิ่งจะเป็นช่องโหว่ หรือ จุดอ่อนมากกว่า หากถูกฝ่ายที่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงการคัดสรร โอกาสที่จะป้องกันย่อมเป็นไปยาก"
ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ยิ่งต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง และการสรรหาส.ว.สูงขนาดที่ว่า ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลรวม 1,800 ล้านบาท ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะจากการคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นรวมแล้ว อาจจะเกือบถึง 2,400 ล้านบาท จึงต้องบอกว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องไม่ละสายตาจากทุกขั้นตอนของการสรรหา และการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้น โอกาสที่จะให้ ส.ว.เป็นองค์กรที่เป็นกลาง ห่างไกลการเมือง สมเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญก็ ปิดประตูตายไปได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น