xs
xsm
sm
md
lg

7 ตุลาฯ กับทางตันของตุลาการภิวัฒน์

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

เช้าตรู่วานนี้ ผมเดินทางไปร่วมงานรำลึกครบรอบหนึ่งปี เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แม้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะยุติการชุมนุมมาได้เกือบปีแล้วก็ตาม แต่บรรยากาศของความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และน้ำใจของเหล่าพันธมิตรฯ ก็ยังล้นเหลือเหมือนเคย

เมื่อได้เดินผ่านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ผมนึกถึง “น้องโบว์” อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หนึ่งในสองชีวิตที่พวกเราต้องสูญเสียไปในวันที่ 7 ตุลาฯ พร้อมๆ กับ “สารวัตรจ๊าบ” พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี

คุณพ่อ-คุณแม่ ญาติ พี่น้อง ของน้องโบว์ ภรรยาของสารวัตรจ๊าบ และครอบครัวของวีรชนท่านอื่นๆ เดินทางมาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แม้ญาติวีรชนหลายท่านจะมีสีหน้าโศกเศร้าอาลัย ต่อคนสำคัญที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ทุกคนก็ดูเหมือนว่าจะรับรู้ถึงแรงใจของเหล่าพันธมิตรฯ เรือนหมื่นที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ

ที่ลานพระบรมรูปฯ เมื่อได้กราบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เห็นพระที่นั่งอนันตสมาคม ผมก็อดที่จะประหวัดนึกถึงการรวมตัวและการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีจุดเริ่มของการชุมนุมครั้งแรก ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้มิได้

นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 หลังจากที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กัดฟันต่อสู้กับ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยและระบอบทักษิณอย่างโดดเดี่ยวมาเกือบ 5 เดือน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การร่วมแรงร่วมใจของประชาชนเกือบทุกภาคส่วน โดยในเวลาต่อมากลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีมติเอกฉันท์เลือกแกนนำขึ้นมา 5 คน เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่อาจเรียกได้ว่า เข้มแข็ง แข็งแรง และครบเครื่องที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีการชุมนุมต่อเนื่อง 193 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดในโลกเป็นหลักฐานการันตี

การก่อกำเนิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ “ประชาภิวัฒน์” ของสังคมไทยในห้วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

“ประชาภิวัฒน์” เป็นการสนธิระหว่างคำว่า “ประชา” กับคำว่า “อภิวัฒน์” อันมีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่โดยประชาชน หรือกล่าวอย่างง่ายๆ คือ ประชาภิวัฒน์ เป็นศัพท์สูง เป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า “การเมืองใหม่” และเป็นปรัชญาพื้นฐานขององค์กรทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมอย่างพรรคการเมืองใหม่นั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในห้วงเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากกระบวนการประชาภิวัฒน์ที่ขับเคลื่อนกงล้อวิวัฒนาการของการเมืองไทยให้รุดหน้าไปแล้ว กระบวนการอีกกระบวนการหนึ่งก็ถูกนำมาใช้เป็นหลักยึดให้แก่สังคมด้วยเช่นกัน นั่นคือ กระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์”

คล้อยหลังการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และการเลือกตั้งอัปยศ 2 เมษายน 2549 ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย และคณะกรรมการการเลือกตั้งชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เชิดอยู่เบื้องหลังไม่นาน ในวันที่ 25 เมษายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ก็มีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดตอนหนึ่งว่า “... หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก ซึ่งเกรงว่า ท่านอาจจะนึกว่า หน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครอง มีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก...”

ต่อมา ความเห็นจากบุคลากรในแวดวงวิชาการหลายต่อหลายคน อย่างเช่น ความเห็นของ อ.ธีรยุทธ บุญมี แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า พระราชดำรัสดังกล่าวของในหลวงนั้นเป็นการสนับสนุนให้องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยพระองค์เสนอว่า ภายใต้สถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนั้น เราจำเป็นต้องมองอำนาจศาลอย่างกว้าง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ประเทศในยุโรปเรียกว่า “กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ของระบอบการปกครอง (Judicialization of Politics)” ส่วนสหรัฐอเมริกาเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็น “การตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายตุลาการ (Power of Judicial Review)”

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายตุลาการซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของระบอบประชาธิปไตย จึงกลายสภาพเป็นเสาหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ช่วยค้ำยัน และช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ของชาติให้พัฒนามาถึงวันนี้ได้

กระนั้น ผมกลับมีข้อสังเกตว่า ณ ปัจจุบัน กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ได้ออกแรงผลักดันสังคมและประเทศชาติ ให้เคลื่อนตัวมาจนกระทั่งกลไกนี้เกือบจะหมดแรงแล้ว

สัญญาณความอ่อนแรงของกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การที่สังคมไม่สามารถใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อกฎหมาย มาจัดการนักการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชัน ได้อย่างเด็ดขาด ดังที่ประชาชนหลายคนแสดงทัศนะด้วยความคับแค้นต่อนักการเมืองโกงชาติออกมาว่า “ขายชาติ ขายแผ่นดิน คอร์รัปชัน รอลงอาญา ปรับแค่ 2 หมื่นบาท ลักเล็กขโมยน้อยโดนจับติดคุกติดตะราง”

หรือในกรณีที่นักการเมืองแม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี แต่กลับก้าวเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล การแต่งตั้งรัฐมนตรี การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง การแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทว่า กระบวนการยุติธรรมและตุลาการ กลับไม่สามารถดำเนินการใดๆ อีกทั้งยังปราศจากกฎหมายและบทลงโทษ อันเป็นเครื่องมือที่ใช้กำราบคนเหล่านี้ที่ประพฤติตัวละเมิดอาญาแผ่นดิน

ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงมีความเห็นว่า ณ ปัจจุบัน กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ได้ดำเนินมาจนเกือบถึงทางตันแล้ว เนื่องเพราะตุลาการภิวัฒน์ มิอาจขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้โดยปราศจากกองหนุนสำคัญคือ นโยบายและแนวปฏิบัติที่ถูกต้องของฝ่ายบริหาร รวมไปถึงกฎหมายดีๆ ที่ออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ

การจะผลักดันให้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์เคลื่อนตัวต่อไปได้โดยปกติ กระบวนการประชาภิวัฒน์ หรือการเมืองใหม่ (ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับกลุ่มพันธมิตรฯ) จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นและตรวจสอบให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ “หยุด” กระทำในสิ่งไร้สาระ อย่างเช่น การคอร์รัปชันโครงการรถเมล์ NGV 4,000 คัน การแทรกแซงองค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

เพราะถ้าหากกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ถึงทางตันเมื่อใด 7 ตุลาฯ และชีวิตวีรชน ก็ย่อมสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เมื่อนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น