xs
xsm
sm
md
lg

จับ “ชาย” ขึงพืด กระตุกสำนึกมนุษยธรรม “7 ตุลาทมิฬ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์
“อภิสิทธิ์” ชำแหละ “สมชาย” เละกลางสภา ตั้งกระทู้สดถามหา “สำนึกความเป็นผู้นำ” ต่อเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ กรีดปล่อยเว็บ-คลิปหมิ่นสถาบันพล่านทั่วประเทศ แต่คลิปยอดนิยมกลับรีบปิดเร็วพลัน ด้าน “สมชาย” หวังเบี้ยวกระทู้ อ้างต้องไปแจงกับ กก.สิทธิฯ แต่สุดท้ายหนีไม่รอด โยนบาปเลขาฯ ครม.จัดตารางงานผิดวัน แต่ยังปากแข็งเล่นบทสามวาสองศอก

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธาน เมื่อเริ่มเข้าสู่การพิจารณากระทู้ถามสดตามวาระเป็นกระทู้ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี เรื่อง บทบาทและความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง เมื่อถึงเวลานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นาย สุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแทน โดยกล่าวว่านายกฯ ไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ เพราะจะต้องเดินทางไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ และจะต้องเดินทางไปเป็นประธานทอดกฐินพระราชทานที่คณะรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ไม่พอใจและยืนยันให้นายกฯ มาตอบกระทู้ดังกล่าว โดยระบุว่าการมาตอบกระทู้ต่อสภาเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมืองในวิถีประชาธิปไตย เวลาที่ ส.ส.ไปนั่งเป็นฝ่ายบริหารมักจะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ชัดว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา การตั้งกระทู้ถามสด เป็นสิ่งสำคัญมากในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาทุกคนรู้ล่วงหน้าทุกวันพฤหัสบดี เวลาประมาณ 13.30 น.จะเป็นวาระกระทู้ถามสด จึงสามารถบริหารเวลาได้ เพราะทราบล่วงหน้า เชื่อว่านายกฯ จะมาได้ แต่ตนได้คาดในใจว่านายกฯ จะไม่มาตอบ จึงได้ตรวจสอบการทำงานของนายกฯ ซึ่งไม่ทราบว่าคณะทำงานของนายกฯ จงใจบอกกับสื่อมวลชนอย่างไร เพราะที่ได้ข้อมูลมามีกำหนดจะมาสภาในเวลา 11.30 น.ถึง 13.00 น.เพราะใช้เวลาตอบกระทู้เพียง 20 นาทีก็เสร็จแล้ว จากนั้นก็สามารถไปชี้แจงคณะกรรมการการสิทธิฯ ได้ ตนมั่นใจว่าคณะกรรมการการสิทธิฯ ไม่ขัดข้อง ดังนั้น นายสุขุมพงศ์ยืนยันหรือไม่ว่าข้อมูลที่ตนได้มาไม่เป็นความจริง ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นจริงจะรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งนายสุขุมพงศ์ได้ชี้แจงว่า ได้รับข้อมูลจากคณะทำงานของนายกฯ เป็นอย่างนี้ ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ

ทั้งนี้ นายชัยได้พยายามไกล่เกลี่ยว่าหากเจ้าของกระทู้ไม่ต้องการให้รัฐมนตรีตอบแทนก็สามารถเลื่อนออกไปได้ แต่นายอภิสิทธิ์ได้เสนอว่าควรจะมีการตรวจสอบว่านายกฯ ได้มาลงชื่อเข้าประชุมหรือไม่ ถ้ามาลงเวลาเท่าไหร่ ทำให้นายชัยสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปตรวจสอบเรื่องนี้

ระหว่างนั้น นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นชี้แจงกลางที่ประชุมทันทีว่า ตนทราบว่านายกฯ เข้ามาลงชื่อแล้ว แต่กำลังจะออกจากสภา ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเลี่ยงไม่กล้าตอบกระทู้ เห็นสภาเป็นอะไร เมื่อเข้ามาแล้วก็ควรจะมาตอบกระทู้ ในขณะนั้นนายสมชายได้เดินเข้ามานั่งตรงที่นั่งของนายกรัฐมนตรีในห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียดเล็กน้อย

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวว่า ตนอยากให้นายกฯ ชี้แจงต่อสาธารณชนรับทราบว่ากำหนดการเป็นอย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ของสภา ซึ่งนายสมชายได้ชี้แจงว่ากำหนดการเดิมตนได้ลงบันทึกว่าจะต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ในวันนี้ แต่บังเอิญเลขาฯ ได้ลงวันที่สับสน ซึ่งความจริงเป็นวันพรุ่งนี้ ดังนั้นจึงได้รีบมาสภาเพื่อตอบกระทู้ จากนั้นจะต้องรีบไปเป็นประธานงานทอดกฐิน

จากนั้นได้เริ่มพิจารณากระทู้ถามสด โดยนายอภิสิทธิ์ได้ถามว่า ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ตนไม่สามารถตำหนินายกฯ และรัฐบาลได้ว่าเป็นผู้ทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤตเพราะปัญหามีมาก่อนนายกฯ จะมารับตำแหน่ง แต่ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาฯ เป็นการเพิ่มวิกฤตการเมืองให้สูงไปอีกระดับหนึ่ง เกิดการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อประชาชน แปลกใจว่าจากนั้นจนถึงวันนี้ ความชัดเจนต่อบทบาทความรับผิดชอบของผู้ที่เรียกตนเองว่านายกรัฐมนตรีคืออะไร มีการสำรวจความเห็นชอบประชาชนเป็นจำนวนมากที่คลางแคลงใจต่อบทบาทของนายกฯ ในเรื่องนี้ที่ปฏิเสธไม่ได้ซึ่งส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศยากที่จะแก้ไข ตราบใดที่ความเชื่อมั่นศรัทธาของตัวนายกฯ และรัฐบาลไม่ดำรงอยู่ ตนได้ยินท่านนายกฯยอมเอ่ยปากเสียใจครั้งแรกหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 5 วันแล้ว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ขอเป็นตัวแทนของประชาชน ตั้งคำถามต่อนายกฯ ดังนี้ การประชุม ครม.ในคืนวันที่ 6 ต.ค.โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ครม.มีมติหรือนโยบายหรือสั่งการอะไรเกี่ยวกับการสั่งสลายผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อปรากฏชัดถึงความเสียหายในช่วงเช้าโดยมีการสลายผู้ชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาที่สร้างความบาดเจ็บสาหัส แขนขาขาด และบาดเจ็บนับร้อย ซึ่งวิญญูชนทั่วไปไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นการสลายผู้ชุมนุมตามมาตรฐานสากล นายกฯ รับรู้หรือไม่ และได้สั่งระงับการใช้ความรุนแรงหรือไม่ และทำไมถึงยังดำเนินการเช่นนี้ต่อไปถึงช่วงค่ำ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

นายสมชาย กล่าวว่า ในคืนวันที่ 6 ต.ค.ตนได้เรียกรัฐมนตรีไปประชุม เพราะไม่อยากตัดสินใจคนเดียว ซึ่งรัฐมนตรีก็มาร่วมประชุมเกือบทั้งหมด ที่ประชุมก็วิเคราะห์กันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เท่าที่รู้มีผู้คนจำนวนมากตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ประชุมได้เสนอคือ ถ้าหากเข้าประชุมไม่ได้จะมีการย้ายไปประชุมที่อื่นหรือไม่ มีหลายคนบอกว่าประธานสภาฯ เป็นผู้นัด ไม่ใช่นายกฯ การย้ายต้องไปหารือประธานสภาฯ หรือประธานสภาฯ เป็นผู้สั่งเท่านั้น สุดท้ายเราก็ตกลงกันว่าถ้าเป็นเช่นนั้นก็มารวมกันที่สภาก่อน ถ้าเข้าไม่ได้ก็คงต้องรอคำสั่งประธานสภาฯ ว่าจะทำอย่างไร จะเลื่อนไปประชุมวันไหนหรือเปลี่ยนเป็นสถานที่ใด สุดท้ายที่ประชุมก็มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ มาดูแลสถานการณ์ที่หน้าสภา นี่คือผลการประชุมใน ครม.ทั้งนี้ มีข้อความบันทึกการประชุม ครม.ยืนยันด้วย

นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.มีการดำเนินการอย่างไรนั้น ในช่วงเช้าตนได้รับแจ้งว่าให้เข้าประชุมรัฐสภาตรงด้านถนนราชวิถีให้มาแถลงนโยบายได้ เมื่อแถลงเสร็จก็ได้รับรายงานเพิ่มเติมว่ากลุ่มผู้ประท้วงมาปิดไม่ให้ออกจากสภา แต่ตนก็มีนัดที่จะไปหารือเรื่องกัมพูชาที่กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อออกไปไม่ได้ แต่เนื่องจากเห็นว่าถึงเวลาใกล้ประชุม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าหากนายกฯ อยู่ในสภาอาจเกิดเหตุร้ายและเกิดเหตุการณ์วุ่นวายได้ จึงได้ให้ตนปีนกำแพงออกด้านหลัง แต่ก็ยังออกไปไม่ได้ สุดท้ายก็มีเฮลิคอปเตอร์มารับออกไป แต่ก็ยังมีรัฐมนตรีติดอยู่ในสภาอยู่ จนภายหลังก็ได้มีการเปิดทางให้ผู้ที่ติดอยู่ในสภาออกไป นี่คือสิ่งที่ตนได้ทราบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนถามว่านายกฯ ได้รับรายงานเกี่ยวกับความสูญเสียของประชาชนหรือไม่ที่ตอบเป็นเรื่องของตัวเองทั้งสิ้น คนขาขาด คนเจ็บไม่ได้รับรายงานเลยหรืออย่างไร ที่จริงตนเตรียมเรื่องที่จะอภิปรายนโยบายอยู่จนถึงดึก แต่พอเห็นว่ามีสถานการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเกิดการสูญเสียแล้ว จึงตัดสินใจเชิญ ส.ส.พรรคไปประชุม แต่นายกฯ ตนไม่ทราบว่ารายงานทั้งหมดที่รายงานท่านไม่มีเรื่องนี้เลยอย่างไร ถึงไม่ได้ทำอะไรปล่อยให้เหตุการณ์เกิดจนช่วงเย็น และดึก ส่วนมติ ครม.มอบให้ พล.อ.ชวลิตดูแล ซึ่งท่านก็ลาออก แต่นายกฯ ก็มาตอบว่าไม่ทราบว่า พล.อ.ชวลิตลาออก การบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะนี้ถือว่าบกพร่อง หย่อนประสิทธิภาพ ประชาชนล้มเจ็บขนาดนี้ก็ไม่รายงานกันหรือ ตนอยากถามว่าหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว ตนเชื่อว่าในประเทศและสังคมประชาธิปไตยก็จะมีการแสดงความรับผิดชอบ อยากสอบถามว่าเหตุใดเมื่อไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ แล้วองค์กรต่างๆ ต้องมาดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในส่วนของสภาฯ ซึ่งตนเชื่อว่าหากไม่ใช่ตนเป็นผู้ตั้งกระทู้ถามนายกฯ ก็คงไม่มาตอบ การที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาเชิญนายกฯ และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดมาให้ข้อเท็จจริงกับ กมธ. เหตุใดไม่ได้รับความร่วมมือในเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว และอย่างนี้เราจะเรียกตัวเองว่ารัฐบาลในวิถีทางรัฐสภาได้อย่างไร

อยากถามนายกฯ ว่าจะให้ความร่วมมือกับ กมธ.ของสภาได้หรือไม่ พร้อมมาให้ถ้อยคำได้เมื่อไหร่ องค์กรที่สอบในเรื่องนี้ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กมธ.ของสภาฯ มีความเห็นว่าท่านต้องแสดงความรับผิดชอบ ท่านจะรับผิดชอบอย่างไร หรือจะยึดถือเอาผลสอบของคณะกรรมการที่ท่านตั้งขึ้นเอง

นายสมชาย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครเห็นว่าเกิดเหตุการณ์อย่างไร ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งตนและคนอื่นก็เห็นว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็สอบสวนอยู่ ทางตำรวจก็ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบอยู่ ตนก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แค่อำนวยความสะดวกให้ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ ส่วนจะให้ปากคำหรืออะไรก็ไม่มีปัญหา หากว่าสะดวกตนก็พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ส่วนที่ถามว่าจะรับผิดชอบอย่างไร ก็มีอยู่ตามขั้นตอนทั้งหมด โดยรอฟังผลขั้นตอนการสอบของแต่ละองค์กรแต่ละชั้น ทั้งหมดเราจัดกรรมการสอบแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร เราจะยอมรับผลการสอบนั้น แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นชัดเจนแน่นอน ที่มาที่ไป ใครทำใครไม่ทำก็ต้องทำให้ชัดเจนและมีเหตุมีผลก่อน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่รู้ว่านายกฯ จะยึดผลการตรวจสอบของคณะไหน แต่ความรับผิดชอบทางการเมือง ไม่เหมือนความรับผิดชอบตามขั้นตอนของทางราชการ ที่หากท่านถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงทางข้าราชการก็ต้องถูกไล่ออก แต่ท่านดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่อ้างว่าเป็นคนละเรื่องกัน วันนี้อย่าเอาขั้นตอนทางราชการมาเป็นบรรทัดฐานแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง นายกฯ ได้เห็นสภาพของประเทศวันนี้หรือไม่ ความเสี่ยงที่มีต่อชีวิตของคนไทยแต่ละวัน วันนี้ก็เสียชีวิตอีก ความเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย ต้องให้ประเทศบอบช้ำกว่านี้อีกเท่าไหร่ ถึงจะเห็นการแสดงภาวะผู้นำ ภาวะการรับผิดชอบทางการเมือง ที่สำคัญขณะนี้มีประเด็นขัดแย้งขยายเพิ่มเติมไปอีก 1.ก่อนเกิดเหตุการ์วันที่ 7 ต.ค. เราตั้งความหวังว่า ส.ส.ร.จะเป็นคำตอบหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้ง แต่วันนี้ การตั้ง ส.ส.ร.กลับกลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติมอีก จึงอยากถามนายกฯ ว่า เมื่อการตั้ง ส.ส.ร.จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก นายกฯ จะพักเรื่องนี้ไว้ก่อนหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ทางการเมืองจากลอนดอนที่ต้องเดินต่อไป

2.ในภาวะที่สังคมตึงเครียดนายกฯ เคยพูดกับตนว่า ไม่ประสงค์จะเห็นคนของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับรายการหรือกิจกรรมที่นำมาสู่ความแตกแยก จากวันนั้นถึงวันนี้นอกจากจะยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรแล้ว แต่บุคคลเหล่านั้นยังเดินหน้าทำกิจกรรมที่นำมาสู่ความแตกแยก อยากถามนายกฯ ว่าได้ทำอะไรเพิ่มเติมหลังจากที่บอกกับตนหรือไม่ และ 3.สิ่งที่อันตรายที่สุดคือความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความตรึงเครียด ความทุกข์ให้กับประชาชนทั้งประเทศ วันนี้กลับมีกระบวนการดึงสถาบันต่างๆ เข้ามาสู่ความขัดแย้งด้วย ทั้งกระบวนการยุติธรรม เหมือนที่เกิดขึ้นที่บ้านตุลาการศาลปกครองและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถาบันสูงสุดของประเทศ ถูกดึงลงมาสู่ความขัดแย้งโดยกระบวนการบางประการ การใช้เครือข่ายต่างๆ เผยแพร่คลิปและข้อความที่หมิ่นสถาบัน ติดขัดอะไร จากงบประมาณ เรื่องกำลังคน เรื่องกฎหมายหรืออะไร ทำไมเว็บไซต์และคลิปที่หมิ่นสถาบันลบยาก แต่คลิปที่ยอดนิยมอยู่ในขณะนี้ปิดได้อย่างรวดเร็ว

นายสมชาย กล่าวว่า เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.3 ตนเข้าใจว่าทุกคนคงทราบแล้วว่าแต่เดิมมีควมคิดทำร่วมกัน เริ่มจากการประชุม 4 ฝ่าย ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็ไปประชุมร่วมด้วย ซึ่งก็มีแนวทางหาทางออกให้มีการพัฒนาการเมือง ซึ่งหลายฝ่ายก็เสนอหลายอย่างทั้งตั้งกรรมการ หรือเรื่องการเมืองใหม่เลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70 ซึ่งก็เป็นความคิดของแต่ละคน ตนไม่ได้ไปตำหนิ แต่เมื่อเราต้องการหาทางออกให้ประเทศอย่างแท้จริงควรทำอย่างไร เราจึงตกลงว่าควรให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วม ซึ่งก็คือให้ตัวแทนของประชาชนเป็นตัวแทนมาปรับปรุง ยกร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในหลักการก็ให้มีการเลือกมาจากประชาชน หรือบุคคลต่างๆ จากนั้นที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันให้ดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 ที่นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ส.ส.ร. 3 จะทำให้มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นนั้น ตนมองต่างออกไปว่าการตั้ง ส.ส.ร.3ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง ที่นายอภิสิทธิ์เปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมในภายหลังก็เป็นเอกสิทธิ์ของท่าน ซึ่งตนไม่มีสิทธิ์ไปโต้แย้งอะไร แต่เมื่อเรามองเห็นแล้วว่าเรื่องนี้เป็นทางออกที่ไปได้ ตนก็ไม่มีความคิดที่จะเลิกล้ม เพราะหลายฝ่ายก็ยังดำเนินการอยู่ ก็ว่ากันไปตามกฎเกณฑ์จะผ่านหรือไม่ผ่านก็เป็นเรื่องของรัฐสภาให้ว่ากันไป

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความแตกแยกที่มีคนของตนเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ตนยืนยันว่ารัฐบาลเราไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ไม่ให้เกิดความแตกแยก ตนพูดเสมอว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องทำตรงนี้ ส่วนเรื่องเว็บไซต์เมื่อตนทราบเรื่องก็ได้เดินทางไปยังกระทรวงไอซีทีทันที ที่ถูกปารองเท้า ขว้างขวดน้ำ เพื่อไปแก้ไขปัญหานี้ ส่วนเว็บไซต์ที่ทางกระทรวงไอซีทียืนยันว่าได้ทำการปิดไปเยอะแล้ว แต่ส่วนที่ยังเปิดอยู่เป็นเรื่องเทคนิค ซึ่งทางกระทรวงบอกว่าต้องใช้เงินถึง 500 ล้านบาทในการแก้ปัฐหา ตนก็บอกว่ายินดีที่จะให้เงิน เพราะไม่ว่าอะไรที่เป็นผลกระทบต่อคนไทย รัฐบาลต้องดำเนินการ ตนยึดมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพราะมาจากกระบวนการยุติธรรม และที่ผ่านมาก็ไม่เคยล่วงละเมิดสถาบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น