xs
xsm
sm
md
lg

3 ต.ค.67 ไปรษณีย์ไทยลุยกฎหมาย COD ใหม่ ตรวจพัสดุก่อนจ่าย-คืนเงินใน 5 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฎหมาย COD ใหม่ บังคับใช้ 3 ต.ค.67 ไปรษณีย์ไทยจัดเต็ม หนุนตรวจพัสดุก่อนจ่าย-คืนเงินใน 5 วัน ดัน 'Virtual Bank' สร้างโอกาสทางการเงินใหม่ พร้อมดัน 'เอสเอ็มอี' สู้โลกดิจิทัล

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.67 เป็นต้นไป สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเริ่มบังคับใช้มาตรการส่งดี หรือ Dee-Delivery เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าผ่านระบบเก็บเงินปลายทาง หรือ COD โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่ง ต้องออกหลักฐานการรับเงินทันทีที่ชำระ และถือเงินไว้ 5 วัน ก่อนโอนให้ผู้ขาย

ผู้บริโภคมีสิทธิ์เปิดตรวจสอบสินค้าก่อนจ่ายเงิน และหากพบปัญหาสามารถปฏิเสธการชำระเงินได้ หรือหากจ่ายเงินแล้วแต่พบปัญหาภายใน 5 วัน สามารถขอคืนสินค้าและเงินคืนได้ โดยผู้ให้บริการขนส่งต้องคืนเงินภายใน 15 วัน ไปรษณีย์ไทย ซึ่งมียอดจัดส่ง COD กว่า 2 ล้านรายการต่อเดือน

"พร้อมสนับสนุนมาตรการนี้เต็มที่ จึงเตรียมเพิ่มจำนวนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับปริมาณคำถามและการร้องเรียนที่เพิ่มขึ้น พร้อมนำ AI เข้ามาช่วยลดภาระงานบริการลูกค้า หลังจากกังวลถึงการคืนสินค้าที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องบริหารกระแสเงินสดอย่างรอบคอบ เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการหมุนเวียนเงินทุนในธุรกิจ" ดร.ดนันท์ กล่าว


รุก Virtual Bank ขยายฐานลูกค้า

ด้วยข้อกังวลถึงผลกระทบดังกล่าว เป็นโอกาสในการขยายบริการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ ไปรษณีย์ไทย จึงร่วมกับพันธมิตร นำโดย Sea Group จากสิงคโปร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม บริษัทแม่ของ Shopee, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, กลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS โดยมี บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI และเครือสหพัฒน์ ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยมีการประชุมและวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบตลอดปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาแล้ว จะมีการอนุมัติ และพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงกลางปีหน้า

ดร.ดนันท์ กล่าวว่า จะเน้นเจาะ 2 กลุ่มลูกค้า ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยได้รับบริการธนาคาร (Unserved) และกลุ่มที่ได้รับบริการเพียงบางส่วน (Underserved) เพื่อเติมเต็มความต้องการทางการเงินของประชาชน ที่เข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้อย่างเต็มที่

สำหรับกลุ่มลูกค้า Unserved คือ กลุ่มที่ไม่เคยมีบัญชีธนาคาร หรือไม่สามารถเปิดบัญชีได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ที่ชัดเจน เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่มีหลักฐานรายได้แน่นอน จึงไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ส่วนกลุ่ม Underserved คือกลุ่มที่เข้าถึงบริการธนาคารบางอย่าง แต่ไม่ครบถ้วน เช่น ไม่สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่ออื่นๆ

"มองว่า Virtual Bank จะเป็นตัวแปรสำคัญ ในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในระบบการเงินไทย ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายไปรษณีย์ไทยที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยให้ Virtual Bank สามารถขยายบริการไปยังพื้นที่ห่างไกล ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ เช่น สมัคร เปิดบัญชี ฝาก-ถอน โอนเงิน หรือขอกู้เงินได้สะดวกสบาย โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาธนาคาร ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น ทำให้ทุกธุรกรรมดำเนินการได้ง่ายดายทุกที่ทุกเวลา" ดร.ดนันท์ กล่าว และว่า

"ธุรกิจ Virtual Bank ย่อมมีความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจผันผวน เช่น การระบาดของโรค วิกฤตน้ำท่วม และผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง รวมถึงต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้นจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แต่เชื่อว่า ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยและวางแผนรับมือกับหลายๆ สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นักชอปเฮ! 3 ต.ค.67 นี้ เปิดดูสินค้า ก่อนจ่ายเงินได้
ไปรษณีย์ไทยเปิดเกมรุก! แท็กทีมพันธมิตรลุยธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์
◉ ไปรษณีย์ป่วน! เก็บภาษี VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ดันต้นทุนพุ่ง-งานสะดุด


ดันเอสเอ็มอีไทย สู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สู่ยุคดิจิทัล ด้วยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านระบบไปรษณีย์ดิจิทัล ให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ดร.ดนันท์ กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ ไปรษณีย์ไทย ให้บริการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร (e-Document) พร้อมทั้งระบบ Digital Mailbox สำหรับรับ-ส่งเอกสารออนไลน์ และบริการ e-Payment รวมถึง Digital Signature เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

อีกทั้ง พัฒนาระบบ DBD Biz Regist ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำ Postman Cloud ของไปรษณีย์ไทยมาใช้ในการปักหมุดตำแหน่ง สำนักงานธุรกิจให้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงโครงการ D/ID ที่ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่ง

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์ม ThailandPostMart ที่รวบรวมสินค้ากว่า 20,000 รายการจากผู้ประกอบการ 6,000 ราย และสนับสนุนร้านค้าโชห่วยเป็นจุดรับส่ง EMS Point ปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 10,789 แห่งทั่วประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น