'ไปรษณีย์ไทย' ใช้ทรัพยากรเด็ดในมือ แท็กทีมพันธมิตรตัวท็อป ลุยธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ หวังคว้าโอกาส-ขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ
วันนี้ (19 ก.ย.67) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.67 ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หน่วยงานในสังกัด จะร่วมมือกับ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL และบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้าร่วมทำธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ และที่ประชุมบอร์ดได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อเดือน ส.ค.67 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุว่า ไปรษณีย์ไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมทำธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ เพื่อคว้าโอกาสและขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ โดยใช้เครือข่ายสาขากว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ และพนักงานส่งไปรษณีย์ 25,000 คน ที่มีความคุ้นเคยกับชุมชน เพื่อให้บริการสินเชื่อกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก คือ แรงงานข้ามชาติ และคนไทยที่ไม่มีสลิปเงินเดือนจากนายจ้าง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ ช่วยให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมฝากถอนเงินได้ที่สาขาของไปรษณีย์ทั่วประเทศ จากนั้น จะทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ขาดการเข้าถึงบริการธนาคารอย่างทั่วถึงในปัจจุบัน
◉ ดิ้นเจรจาทางรอด เจาะตลาดใหม่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความพยายามของไปรษณีย์ไทยครั้งนี้ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อหาแสวงแหล่งรายได้ใหม่ ชดเชยส่วนที่ขาดหาย หลังจากแพลตฟอร์มต่างชาติ ในคราบคู่แข่งขันและพันธมิตรการค้าเข้ามาทำตลาดในไทย ทำให้ยอดขนส่งของไปรษณีย์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่กี่เดือนหลัดๆ หายไปถึง 50% ต่อวัน
ดร.ดนันท์ เล่าว่า เนื่องจาก TEMU ไม่มีตัวแทนในไทย ช่วงต้นเดือน ก.ย.67 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์จึงมีการเจรจากับ TEMU ผ่านตัวแทนจากเวียดนาม หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดำเนินธุรกิจและให้บริการลูกค้าบน TEMU ในไทย โดยตัวแทนเตรียมนำข้อเสนอกลับไปพิจารณาภายในบริษัท และอาจจะมีการนัดหมายเจรจาเพิ่มเติมในอนาคต
"ต้องอาศัยกลไกของรัฐบาลในการกำกับดูแล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาว จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่สนับสนุนการขนส่งในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากการทุ่มตลาดของต่างชาติ" ดร.ดนันท์ กล่าวและว่า
"อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยยังได้รับผลกระทบหนักจากรถบรรทุกจากจีนที่เข้ามาทำการขนส่งในไทยมากขึ้น โดยมีการจดทะเบียนและดำเนินกิจการผ่านผู้ถือหุ้นไทยแบบตัวแทน (นอมินี) ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคการผลิตและการค้าภายในประเทศ เพราะการเข้ามาของระบบโลจิสติกส์จากจีน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยสูงขึ้น และขาดความสามารถในการแข่งขัน"
◉ รัฐเตรียมแก้เกม ช่วยไปรษณีย์สู้กลับ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัญหาแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี อย่างไปรษณีย์ไทย
การแก้ปัญหานี้ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงดีอี อุตสาหกรรม พาณิชย์ และการคลัง โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้ และหนึ่งในมาตรการที่กำลังพิจารณา คือ การกำหนดมาตรฐานสินค้า เนื่องจากมีความกังวลว่า สินค้าที่มีราคาถูกเกินไปอาจไม่มีคุณภาพที่เหมาะสม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าในประเทศอย่างเข้มงวดขึ้น
"หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแก้ปัญหาที่เคยหารือกันในรัฐบาลก่อนต้องเริ่มใหม่ พร้อมดำเนินการตามกรอบที่สามารถทำได้" นายประเสริฐ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
◉ TEMU บุก ฉุดยอดขนส่ง 'ไปรษณีย์ไทย' บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซวูบ 50% ต่อวัน
◉ 'เอ็ตด้า' จ่อคุมเข้มแพลตฟอร์มต่างชาติ จดทะเบียนในไทย ขวางอำนาจเหนือตลาด
◉ 'ไปรษณีย์ไทย' เร่งศึกษาความเสี่ยง ลงชิงไลเซนส์ 'เวอร์ชวลแบงก์'