xs
xsm
sm
md
lg

'เอ็ตด้า' จ่อคุมเข้มแพลตฟอร์มต่างชาติ จดทะเบียนในไทย ขวางอำนาจเหนือตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'เอ็ตด้า' เตรียมออกมาตรการควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติ ให้มีมาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการไทย จดทะเบียนในไทยให้ครบ พร้อมเปิดฟังความคิดเห็นต้นเดือน ต.ค.67

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้า และ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในไทย โดยจัดทำรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม หลังพบปัญหาการดำเนินงานที่ขาดความโปร่งใสและไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะด้านการเก็บภาษีและการควบคุมการแข่งขัน เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มีฐานการดำเนินงานอยู่นอกประเทศ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายของไทยอย่างเต็มที่

จึงได้เสนอแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหา คือ การบังคับให้แพลตฟอร์มต่างชาติที่ให้บริการในไทยจัดตั้งบริษัทในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การกำกับดูแลทางด้านภาษีและการแข่งขันดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทั้งหมด รวมถึงต้องเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบจากรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดความโปร่งใสและความไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ ควบคุมการเก็บภาษีจากรายได้ของแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาด แม้จะมีมติเป็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว แต่ยังมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากหลายภาคส่วน

"แม้รัฐบาลจะเล็งเห็นความสำคัญของการควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ยังมีการถกเถียงถึงผลกระทบจากมาตรการที่เข้มงวด ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การกำกับดูแลที่เข้มงวดอาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศไทย ขณะที่ อีกฝ่ายมองว่า การควบคุมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการผูกขาด และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันในตลาดดิจิทัล" ดร.ชัยชนะ กล่าว และยอมรับว่า

"การบังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มต่างชาติยังมีข้อจำกัด เนื่องจากข้อตกลงระหว่างประเทศในอดีตที่ไม่ได้ครอบคลุมธุรกิจดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายของไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมอย่างเต็มที่ แม้จะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐผ่าน ระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 เพื่อเพิ่มอำนาจในการกำกับดูแล แต่การเข้าถึงข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลการเงิน การลงทุน และข้อมูลการตลาดของแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังคงมีความซับซ้อน เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในต่างประเทศ ทำให้การพิสูจน์ว่าแพลตฟอร์มมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่เป็นไปได้ยาก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อีคอมเมิร์ซจีนหนาวแน่! ETDA ถกด่วน 23 ส.ค.67 หามาตรการคุมเข้มสินค้าด้อยคุณภาพ ปกป้องผู้บริโภคไทย คาดเดือน ก.ย.67 รู้เรื่อง

ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐ พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง

ปลัดกระทรวงแรงแรงาน, เลขาธิการ ก.พ.ร., อัยการสูงสุด, เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทศโนโลยี, เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า, เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค,
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานอื่นซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

กำลังเตรียมออก ร่างประกาศอีมาร์เก็ตเพลส เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติ โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สินค้าต้องมีทั้งมาตรฐาน ม.อ.ก.และ อ.ย. ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และประเมินความเสี่ยงจากการร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง เพื่อออกมาตรการควบคุม หากพบว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง อาจจะออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุม แต่หากความเสี่ยงต่ำ อาจไม่มีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด

ร่างประกาศฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ แสดงความคิดเห็นผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อหาทางออกที่เป็นธรรมร่วมกัน ภายในต้นเดือน ต.ค.67 จากนั้น จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม ส่งต่อไปยังอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อพิจารณา ก่อนเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติเห็นชอบ


ทั้งนี้ หลังจากประกาศบังคับใช้แล้ว จะมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่า แพลตฟอร์มต่างชาติ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศไทยภายในกี่วัน เพื่อให้เจ้าของแพลตฟอร์ม มีเวลาเพียงพอในการเตรียมระบบตรวจสอบ และปรับปรุงให้สอดคล้องกับข้อกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น