นโยบายเก็บภาษี VAT สินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท ตามสั่ง 'กรมศุลกากร' กระทบ 'ไปรษณีย์ไทย' แล้ว ฉุดประสิทธิภาพ ทำงานสะดุด ต้นทุนเพิ่มพรวด
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยถึงกรณีกรมศุลกากรให้ไปรษณีย์ไทยช่วยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้า มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ตั้งแตวันที่ 5 ก.ค.-31 ธ.ค.67 ว่า ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบแล้ว แม้ไม่สามารถระบุตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนได้ แต่ปัญหาหลักคือการเพิ่มเวลาในการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพ (Efficiency) ลดลงอย่างมาก และอาจต้องแบกรับค่าทำงานล่วงเวลา (OT) พนักงานสูงขึ้น
เพราะเดิมทีสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ที่คิดเป็น 90% ของสินค้าทั้งหมดจากต่างประเทศ สามารถนำส่งถึงลูกค้าได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาเก็บภาษีจากลูกค้า ส่งผลให้การทำงานของไปรษณีย์เป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามข้อตกลงการให้บริการ (SLA) แต่หลังจากมีนโยบายดังกล่าว ไปรษณีย์ต้องจัดเก็บภาษีตามราคาที่กรมศุลกากรประเมิน
ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อผู้รับสินค้าปฏิเสธการจ่ายภาษี โดยอ้างว่า ราคาสินค้าจริงไม่ถึง 1,500 บาท ทำให้บุรุษไปรษณีย์ต้องนำสินค้ากลับมาคืนที่ทำการ และหากผู้รับไม่จ่ายภาษีภายใน 7 วัน สินค้าจะถูกส่งคืนไปยังกรมศุลกากร ทำให้ไปรษณีย์ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และทำงานล่าช้าอย่างมาก
"ควรให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นผู้จัดเก็บภาษีล่วงหน้า และหากแพลตฟอร์มไม่ปฏิบัติตาม ควรมีมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาด เช่น ปิดการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม เหมือนกับการบล็อกเว็บไซต์พนันออนไลน์ เพราะการเก็บภาษีปลายทางเช่นนี้ทำให้ไปรษณีย์ต้องรับภาระหนักกว่าเดิม เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้เตรียมตัวจ่ายภาษีทันทีที่รับสินค้า แตกต่างจากการเก็บภาษีในขั้นตอนการสั่งซื้อที่ชัดเจนกว่า ปัญหานี้จึงกลายเป็นภาระใหญ่ที่ไปรษณีย์ไทยต้องเผชิญ" ดร.ดนันท์ กล่าว
◉ 'ไปรษณีย์ไทย' ผจญภัยในตลาดโลจิสติกส์ที่ไม่เหมือนเดิม
◉ TEMU บุก ฉุดยอดขนส่ง 'ไปรษณีย์ไทย' บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซวูบ 50% ต่อวัน
◉ ไปรษณีย์ไทยลุยแหลก! ฉลอง 141 ปี ปรับโหมดสู้ศึก งัดบริการใหม่ เขย่าตลาด หวังโตยั่งยืน