ทวงบัลลังก์! ไปรษณีย์ไทยครบรอบ 141 ปี เปิดศึกท้าชนคู่แข่ง ครึ่งหลังปี 67 ดันแผน ESG+E เสริมพลังดิจิทัล ลุยสร้างอนาคตใหม่สู่ Information Logistics
เมื่อวันที่ 21 ส.ค.67 นายรัฐพล ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าว ไปรษณีย์ไทย ครบรอบ 141 ปี ว่า ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารพื้นฐานที่เชื่อมโยงคนไทยทั่วประเทศ มุ่งสู่การเป็น Information Logistics เต็มรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยยังคงมุ่งเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และรองรับธุรกิจออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
รวมถึงให้ความสำคัญของการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าและชุมชน รวมถึงการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต ในวาระครบรอบนี้ ขอขอบคุณพนักงานทุกคนที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ รวมถึงขอบคุณลูกค้าและประชาชนที่ให้การสนับสนุนตลอดมา
"ปัจจุบันสภาพการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างมาก การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ ทําให้การแข่งขันที่มีความรุนแรงจากทั้งภายในและนอกประเทศ ทำให้องค์กรต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ต่างเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ไปรษณีย์ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านั้น และต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถดํารงอยู่ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต" นายรัฐพล กล่าว
ด้าน ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยปรับวิสัยทัศน์สู่การเป็นองค์กรที่พร้อมส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ โดยวางกรอบการดำเนินงานด้วยหลัก ESG+E เพื่อเป็นผู้ให้บริการขนส่งและสื่อสารที่ขับเคลื่อนระบบงานต่างๆ อย่างยั่งยืน
ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 มีแผนนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์ เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งเป้าปรับเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 85% ภายในปี 2573 และ 100% ภายในปี 2583 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับระบบขนส่งเพิ่มเติม
ซึ่งผลการดำเนินงานขณะนี้พบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และจากการปรับระบบภายใน จาก Physical ให้เป็น Digital ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 400 ตันคาร์บอน เริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 250 คันแรก และจักรยานยนต์พี่ไปร 200 คันแรกในปีนี้ ช่วยลดค่าน้ำมันด้านจ่ายลง 18% เทียบกับปีก่อน และลดค่าใช้จ่ายขนส่งถุง จากการยุบเลิก HUB ในนครหลวงลง 15%
ด้านสังคม ไปรษณีย์ไทยมุ่งสร้างชุมชนที่ยั่งยืนด้วยโครงการ "ไปรษณีย์เชื่อมสุข" สร้างงาน สร้างอาชีพ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังชุมชนสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ ช่วยเกษตรกร กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มเปราะบางทางสังคมขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม ThailandPostMart สร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาทต่อปี สนับสนุนเกษตรกรขนส่งผลไม้และพืชผลทางการเกษตรกว่า 100,000 ตันใน 3 ปี โดยครึ่งแรกปี 2567 มีปริมาณการฝากส่งผลไม้ไทยยอดนิยมผ่านบริการ EMS กว่า 18 ล้านกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังส่งเสริมรายได้พี่ไปรฯ เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่ มากกว่า 2.2 ล้านบาท และส่งเสริมการจ้างงานผ่านไปรษณีย์อนุญาตในชุมชนได้ 741 ล้านบาทต่อปี
ด้านการกำกับดูแลกิจการ ให้ความสำคัญกับการรักษาและใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล พร้อมเปิดเผยการดำเนินงานอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน โดยเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและพัฒนาธุรกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งการบริหารจัดการข้อมูลระบบ CRM อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปี 2565 ช่วยให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการมากกว่า 1 ล้านราย คิดเป็นรายได้กว่า 300 ล้านบาท
สำหรับอนาคต ไปรษณีย์ไทยมุ่งสู่การเป็น Information Logistics ด้วยบริการ Prompt Post ที่ครอบคลุมการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการในยุคดิจิทัล โดยมี 4 บริการหลัก ได้แก่ Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัล Digital Postbox บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญ One-stop service สนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล และ Prompt Pass บริการจัดเก็บเอกสารส่วนบุคคลเพื่อความสะดวกในการส่งข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีบริการ Postman Cloud ที่ใช้บุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ ในการให้บริการ Postman as a Service เช่น Survey การเก็บข้อมูล Express รับส่งสิ่งของแบบ Point to Point และ Matching เชื่อมโยง Demand กับ Supply และอีกหนึ่งบริการสำคัญคือ D/ID (Digital Post ID) ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในการจัดส่งสิ่งของ พร้อมระบุพิกัดแนวดิ่งสำหรับที่อยู่ในอาคารสูง และปรับปรุงข้อมูลที่อยู่ให้ตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 4/2567
ทั้งนี้ ยังมุ่งรักษาลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการเป็นผู้ขนส่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น TikTok Shopee และ Lazada บริการ EMS ในประเทศเติบโต 12.92% จากปี 2566 ด้วยแรงหนุนจากอีคอมเมิร์ซ และเครือข่ายจุดบริการกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ