xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทาง 'ไปรษณีย์ไทย' ยุคใหม่หลังปรับโครงสร้าง พลิกทำกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย
เมื่อโจทย์ใหญ่ของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ คือทำให้งานไปรษณีย์ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศยังคงอยู่ เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยยังเจอความท้าทายจากการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีผู้ประกอบการที่มีทุนหนาจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจไม่เกิดความยั่งยืนทำให้ต้องมีการปรับตัวอย่างมากโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแรง

ช่วงครึ่งแรกปี 2566 ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้ทำให้เห็นแล้วว่า ผลจากการทยอบปรับโครงสร้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถพลิกฟื้นจากการขาดทุน กลับมาเป็นกำไรได้ 158 ล้านบาท และเชื่อว่าจะสามารถรักษาการเติบโตของกำไรได้ต่อเนื่องในสิ้นปีนี้

ตัวเลขกำไรที่เกิดขึ้นครึ่งปี 158 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขกำไรที่ดูแล้วยังไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (2561) ไปรษณีย์ไทยสามารถทำกำไรได้กว่า 3,826 ล้านบาท ก่อนที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2562 และ 2563 เป็นกำไร 619.39 ล้านบาท และ 385.35 ล้านบาท ตามลำดับ


แน่นอนว่า ถ้าเทียบจากในปี 2564 ที่ขาดทุน 1,594 ล้านบาท และ 2565 ที่ขาดทุนหนักกว่า 3,046 ล้านบาท จากทั้งการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการแข่งขันซึ่งกลายเป็นว่าผู้ให้บริการรายใหม่ต่างขาดทุน และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดที่ออกมารองรับกับการบริหารจัดการบุคลากรจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ นับว่าไปรษณีย์ไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยกลับมามีกำไรได้เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการต้นทุน และการปรับลดจำนวนพนักงานจากกว่า 42,000 คน เหลือ 38,000 คนในปัจจุบัน และเชื่อว่าจะเป็นสัดส่วนที่น่าเหมาะสมกับธุรกิจที่ทำอยู่ เพราะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในบางส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้คน และหมุนปรับหน้าที่ของพนักงานให้เหมาะสมแทน

รัฐพล ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวถึงภารกิจหลักของไปรษณีย์ไทยคือการดูแลพี่น้องประชาชนในการรับส่งจดหมาย เอกสาร รวมถึงการบริการที่กว้างขวางไปกว่านั้น จากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไปรษณีย์ไทยมองถึงการก้าวข้ามสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Beyound Logistic) ด้วยการนำข้อมูล (Data) มาใช้ ซึ่งเมื่อบริบทเปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้างองค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้รองรับการแข่งขันในปัจจุบันที่มีผู้ให้บริการจากต่างชาติเข้ามา รวมถึงการที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งผันตัวมาให้บริการโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน

“การเข้ามาให้บริการของผู้ให้บริการต่างชาติ ยังไม่ได้มีกฎระเบียบ กติกาที่ชัดเจนในการแข่งขัน เพราะว่าในไทยเรื่องของระบบการขนส่งต้องการหน่วยงานกำกับดูแลมาช่วยดูแลกติกาการแข่งขัน”

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย กล่าวเสริมว่า การที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาควบคุมในการออกใบอนุญาตที่สามารถเพิกถอนได้ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลายรายมีปัญหาสินค้าค้างส่ง จนทำให้ผู้บริโภคต้องเดินทางไปค้นหาสินค้าที่คลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

“ที่สำคัญคือการให้บริการขนส่งในไทยถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีการดูแล เพราะเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของประเทศ ขณะเดียวกัน จะช่วยให้การแข่งขันมีมาตรฐานที่ชัดเจนด้วย”

ประธานบอร์ดไปรษณีย์ไทย กล่าวต่อว่า เมื่อต้องรักษาทั้งภารกิจหลักไปพร้อมกับการพัฒนาองค์กรเพื่อให้รองรับกับการแข่งขันในปัจจุบัน การทำทรานส์ฟอร์มเมชันในช่วงเวลานี้ นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมาก ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทั้งผู้บริหาร และพนักงานไปรษณีย์ไทยทำงานอย่างหนักเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

“ในการแข่งขันตรงนี้ ไปรษณีย์ไทยไม่ได้มองถึงการแข่งขันแล้วต้องเป็นที่ 1 แต่ต้องการแข่งขันเพื่อที่จะมีอัตลักษณ์ โดยเฉพาะในแง่ของคุณภาพในการให้บริการซึ่งไปรษณีย์ไทยทำได้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 140 ปี”


เพื่อหลีกเลี่ยงจากตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ไปรษณีย์ไทยจึงมีนโยบายมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริการในปัจจุบัน โดยอาศัยจุดแข็งและบริการที่มากกว่าการจัดส่งสิ่งของ/สินค้าไปยังปลายทาง

รวมถึงนำจุดเด่นของเครือข่ายไปรษณีย์ ทั้งในส่วนของ Physical Network เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ระบบการขนส่งไปรษณีย์ หรือศูนย์คัดแยกไปรษณีย์ และ Human Network เช่น พนักงานรับฝาก บุรุษไปรษณีย์ ที่เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายไปรษณีย์ทั่วโลกได้ มาเสริมศักยภาพให้รองรับการทำธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

***ดึงจุดแข็ง ‘คุณภาพ-บริการ’

ในส่วนของสภาพการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ แน่นอนว่าสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจออนไลน์เติบโตขึ้น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จากหลักแสนเพิ่มเป็นหลักล้านทำให้ธุรกิจขนส่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลายคนอาจมองว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ให้บริการต่างชาติอยากเข้ามาทำตลาดมากขึ้น แต่สิ่งที่เจอคือบริษัทเทคโนโลยีอย่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็เห็นโอกาส และเข้ามาทำตลาดนี้เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ให้บริการเข้ามามากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา

“เวลาที่มีผู้ให้บริการเข้ามาใหม่ ทุกคนเข้ามาแข่งขันด้านราคา ซึ่งในธุรกิจนี้เมื่อราคาต่อชิ้นปรับลดลง เท่ากับรายได้จะหายไปทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นว่าปัจจุบันมีผู้ให้บริการเยอะเกินกว่าการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะมีชิ้นงานเข้ามาแบ่งกัน ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการแต่ละรายน้อยลง”

ทำให้ไปรษณีย์ไทยมองว่ารายได้หรือกำไรที่เพิ่มขึ้น จะมาจากการให้บริการที่มีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกันในตลาด ซึ่งการบริหารคุณภาพขนส่ง ประสบการณ์ใช้งานเมื่อเกิดความเชื่อมั่นทำให้เกิดการเติบโตทางด้านรายได้

ไปรษณีย์ไทยมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีต่อเนื่องอย่างการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการคัดแยกสินค้า เนื่องจากไลน์การขนส่งพัสดุมีการปรับตลอดเวลา การมีระบบเข้ามาจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพัสดุด้วย พร้อมไปกับการที่มีโปรดักต์ในการให้บริการที่หลากหลายตั้งแต่จดหมาย พัสดุ ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่ หรือแม้แต่สินค้าที่มีมูลค่าสูง รวมถึงผลไม้ ซึ่งกลายเป็นบริการที่เข้าไปช่วยผู้ประกอบการรายย่อยในต่างจังหวัดให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

รัฐพล ภักดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งเชื่อว่าผู้ให้บริการหลายๆ รายจะเริ่มมีการปรับราคาขึ้น เพราะในสภาพรวมของอุตสาหกรรม เมื่อคู่แข่งเริ่มมีการปรับราคาขึ้น สุดท้ายแล้วเมื่ออยู่ในระดับราคาใกล้เคียงกัน การแข่งขันจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของการให้บริการ อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การดูแลคนไทย สังคมไทย ของไปรษณีย์ไทย ที่จะเป็นช่องทางสื่อสารส่งถึงกันได้ตลอดเวลา จากการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนปัจจุบันสามารถให้บริการได้ต่อเนื่องทุกวัน และยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในการที่มีบุรุษไปรษณีย์ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปถึงชุมชน

***นำเทคโนโลยีต่อยอดบริการยุคดิจิทัล


นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างองค์กร และบริหารจัดการบุคลากรแล้ว อีกความเคลื่อนไหวที่เห็นได้ต่อเนื่องคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเสริมสร้างบริการใหม่ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้มีการนำเสนอบริการที่น่าสนใจอย่าง Prompt Post ในการทรานส์ฟอร์มเอกสารทุกรูปแบบสู่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถเข้าถึงเอกสารแบบดิจิทัลได้ตลอดเวลา ช่วยลดความเสี่ยงของการที่เอกสารสูญหาย

รวมถึงการแปลงระบบจ่าหน้าหรือที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบ Digital Post ID ทำให้บุรุษไปรษณีย์สามารถส่งเอกสารได้แม่นยำมากขึ้น และช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้รับเอกสาร-พัสดุ หรือแม้แต่การให้บริการในรูปแบบ Postman as a service ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ ความเข้าใจในทุกพื้นที่มาต่อยอดนำเสนอบริการที่ตรงใจ พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนพี่ไปรฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ

ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยยังมองถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้ ด้วยรูปแบบการนำ CRM มาใช้อย่างการนำเสนอสิทธิประโยชน์ของสมาชิก Post Family ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 6 แสนราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านรายได้ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ในการตอกย้ำบทบาทของไปรษณีย์ไทยที่ให้บริการมากว่า 140 ปี ได้มีการนำแนวคิดอย่าง “ส่งทุกความสัมพันธ์ สู่ทุกความสำเร็จ” มาเป็นจุดเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในทุกเจเนอเรชัน สร้างประสบการณ์ที่นอกจากเรื่องของการสื่อสารและการขนส่งแล้ว ยังช่วยนำพาธุรกิจไปสู่ตลาดที่เหมาะสม ก้าวไปกับโลกอนาคตทุกยุค ทุกสมัย


กำลังโหลดความคิดเห็น