xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ "ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์" ไขข้อข้องใจ ไมโครซอฟท์ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยแบบเช่า ตอนนี้ยังไม่เคาะตัวพันธมิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวอัปเดตความเคลื่อนไหวในช่วง 3 เดือนหลังจาก “สัตยา นาเดลลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ ประกาศจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในประเทศไทยเพื่อขยายความพร้อมใช้งานของบริการคลาวด์ไปเมื่อ 1 พฤษภาคม 2024 ล่าสุด MD ไมโครซอฟท์ประเทศไทยย้ำว่าไมโครซอฟท์เลือกลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยแบบเช่า ไม่ใช่แบบสร้าง โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปพันธมิตรที่เหมาะสมที่สุด คาดว่าจะสามารถประกาศรายละเอียดกรอบการให้บริการจริงที่แน่ชัดได้ภายในปีนี้

คำกล่าวของธนวัฒน์ ถูกบันทึกไว้ได้ที่งานประกาศวิสัยทัศน์ซึ่งบริษัทวางไว้สำหรับปีการเงิน 2025 (1 ก.ค.2024-30 มิ.ย.2025) ว่าปีหน้าคือปีที่ไมโครซอฟท์ไทยจะเดินหน้า 3 เส้นทางหลักเพื่อพาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเสริมแกร่งประเทศไทย นั่นคือการลุยสร้างทักษะ เสริมขีดความสามารถ สานต่อความมั่นคง ซึ่งมีการขยับเป้าหมายจากการให้ความรู้ AI แก่คนไทย 1 แสนคน มาเป็น 1 ล้านคนในไม่กี่เดือนข้างหน้า

***แบบเช่า ไม่ใช่แบบสร้าง

ธนวัฒน์ อธิบายว่า Microsoft วางแผนให้ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเป็น 1 รีเจี้ยน (Region) ของไมโครซอฟท์ทั่วโลก คำว่า 1 Region หมายความว่าดาต้าเซ็นเตอร์ AI Cloud นี้จะเป็นผืนเดียวกับดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์ทั่วโลก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้คลาวด์เซอร์วิสของไมโครซอฟท์ได้จากทั่วโลก

“ตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้อยู่ในญี่ปุ่น เราสามารถเลือกให้เวิร์กโหลดของเราไปอยู่ที่เมืองไทยได้เลย นั่นคือคำว่าอยู่บนผืนเดียวกัน หรือถ้านั่งอยู่ที่อเมริกา นั่งอยู่ที่อังกฤษ ก็สามารถใช้เวิร์กโหลดประเทศไทยได้เลย เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะกลายเป็น AI cloud data center แบบผืนเดียวกันกับไมโครซอฟท์ทั่วโลก การวางจุดยืนเช่นนี้จึงไม่ใช่การวางให้มี data center แห่งเดียว แต่อย่างน้อยที่สุดจะต้องมี 3 ดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะทำงานพร้อมกัน เป็นคลัสเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งเพื่อจะสร้างตัวคลัสเตอร์ขึ้นมา ดาต้าเซ็นเตอร์ 3 แห่งนี้คือน้อยที่สุด เพราะจะต้องขยายขึ้นมาอีก ฉะนั้น เราจึงอยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์พันธมิตรในประเทศไทยที่จะทำงานร่วมกัน และเพื่อร่วมเตรียมตัวให้บริการ”

แฟ้มภาพ สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของไมโครซอฟท์ ขณะเยือนประเทศไทย
ธนวัฒน์ระบุว่ายังไม่สามารถเปิดเผยกรอบเวลาดำเนินการของศูนย์ข้อมูลเห่งใหม่ได้ เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการหาข้อสรุป ซึ่งทันทีที่หาข้อสรุปได้แล้ว กรอบเวลาจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยขณะนี้ ไมโครซอฟท์สามารถเปิดเผยได้เพียงว่าบริษัทมีพันธมิตรที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และกำลังค้างอยู่ในขั้นตอนการหาข้อสรุป ซึ่งยังคงมีการอภิปรายกันอยู่ต่อเนื่อง

“ปีนี้เราจะพยายามทำสรุปเรื่องของพาร์ตเนอร์ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่เรา workout อยู่ เพราะเมื่อสรุปเรื่องของพาร์ตเนอร์ได้ ก็จะมีการวางแผนเพื่อจะเตรียมตัวให้บริการ ด้วยความที่ประเทศไทยตอนนี้เราเลือกที่เป็นโมเดลเช่า ไม่ได้เป็นโมเดลสร้าง ถ้าเลือกโมเดลสร้างแปลว่าไมโครซอฟท์จะต้องมาเช่าที่ และตอกเสาเข็ม ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่เราเลือกที่จะเป็นโมเดลเช่า และหาว่ามีใครที่จะเป็นผู้ให้บริการได้บ้าง ในคุณสมบัติที่เราต้องการ และเมื่อทันทีที่เราสามารถพบผู้ให้บริการรายนั้นเราก็จะลุยเลย”

เมื่อถามถึงตัวเงินการลงทุน ธนวัฒน์ย้ำว่ายังไม่ได้มีการประกาศโดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้านี้

“นี่คือเหตุผล ไมโครซอฟท์จะประกาศก็ต่อเมื่อเราจะลงทุนจริงๆ เท่าไหร่ วันนั้นเราจึงไม่ได้ประกาศ เพราะเมื่อเราเป็นโมเดลเช่า รายละเอียดรวมจะต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ในภาพรวมทั้งหมด หากมองที่มาเลเซียจะพบว่ามีเงินลงทุน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐครอบคลุม 4 ปี ขณะที่อินโดนีเซียลงทุน 1.8 พันล้านระยะเวลา 4 ปีเช่นกัน หลังจากที่ได้เห็นภาพรวมทั้งหมด เราจึงสามารถประกาศได้ ว่าเราจะใช้เงินเท่าไหร่”

อย่างไรก็ตาม ธนวัฒน์อยากบอกว่าไม่ต้องการให้คนไทยยึดติดกับเม็ดเงินการลงทุนโดยตรง เนื่องจากตัวเลขนั้นถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับอิมแพกต์ที่จะนำเอา AI มาประยุกต์ใช้ ให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งมีโอกาสเติบโตมหาศาลด้วยการทำงานของ AI

“วันนี้คือเราอยากบอกให้ภาครัฐมาทำงานร่วมกัน หรือภาคเอกชนให้มาร่วมมือให้เกิดแรงกระเพื่อมได้จริง โดยประเทศไทยสามารถเริ่มต้นได้พร้อมกันกับประเทศอื่นทั่วโลก แปลว่าไทยเราไม่ได้เสียเปรียบใคร แล้วเรากำลังจะมี AI cloud data center ในเมืองไทย เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เสียเปรียบใคร”

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อถามว่าทำไมการลงทุนในไทยด้วยรูปแบบเช่า จึงต่างกับการลงทุนในอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่อยู่ในรูปแบบสร้าง ธนวัฒน์ย้ำว่าตลาดประเทศไทยเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก จึงเห็นว่าโมเดลในการเช่าจะช่วยเร่งความเร็ว ให้บริษัทสามารถเริ่มให้บริการได้เร็วกว่า

***จาก 1 แสนคน สู่เป้าหมาย 1 ล้านคน


ไมโครซอฟท์ย้ำว่าปีการเงิน 2025 คือปีที่ไมโครซอฟท์ไทยจะเดินหน้า 3 เส้นทางดัน 3 ทางเพื่อจับ AI ใส่มือคนไทยทุกกลุ่ม ความน่าสนใจคือวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า “AI for All Thais” นี้มีการปรับยอดสู่ 1 ล้านราย จากเดิม 1 แสนคนที่เจ้าพ่อไอทีอเมริกันได้ประกาศไว้ในระหว่างการมาเยือนของนายสัตยา นาเดลลา ที่ได้กล่าวถึงพันธสัญญาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตในยุค AI และคลาวด์

ธนวัฒน์ชี้ว่าไมโครซอฟท์เห็นโอกาสที่ AI และคลาวด์จะเข้ามายกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้คนไทยและประเทศไทย ทั้งภาคการศึกษา การท่องเที่ยว เกษตร และอุตสาหกรรม เชื่อว่าพันธกิจที่ได้ประกาศออกไปเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน AI และคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จะเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทย บริษัทไทย และประเทศไทยประสบความสำเร็จในเวทีโลก

ในด้านการสร้างทักษะ ไมโครซอฟท์ได้เตรียมเปิดตัวโครงการ ‘AI National Skill Initiative’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนทักษะ AI ที่จำเป็นให้คนไทย 1 ล้านคนภายในปี 2025 ผ่านหลากหลายหลักสูตรฝึกอบรมที่เป็นหลักสูตรภาษาไทยกว่า 80% ซึ่งออกแบบให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ผู้บริหาร และนักพัฒนา เพื่อนำศักยภาพของ AI ไปประยุกต์ใช้เพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ด้วยฝีมือคนไทย

นอกจากนี้ ยังมีการเสริมขีดความสามารถ ผ่านแผนประยุกต์ใช้งานในวงกว้างทั้งระดับบุคคลและองค์กร รวมถึงการสานต่อความมั่นคง ซึ่งไมโครซอฟท์เชื่อว่าความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ไม่มองข้าม


กำลังโหลดความคิดเห็น