xs
xsm
sm
md
lg

“สัตยา นาเดลลา” ยังอุบงบตั้งศูนย์ข้อมูลไมโครซอฟท์แห่งใหม่ในไทย วางเป้ามอบทักษะ AI คนไทยแสนราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ ประกาศจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในประเทศไทยเพื่อขยายความพร้อมใช้งานของบริการคลาวด์ ยังเก็บเงียบไม่เผยตัวเลขงบลงทุนหลังประกาศที่อินโดนีเซียพร้อมลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้า ระบุเพียงเตรียมมอบทักษะด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้คนไทยกว่า 100,000 คน พร้อมปั้นโครงการช่วยนักพัฒนาไทย 6,000 รายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI

นายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของไมโครซอฟท์ เผยถึงแผนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในประเทศไทยบนเวทีงาน Microsoft Build : AI Day ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ต่อหน้านักพัฒนาและผู้นำจากภาคธุรกิจและเทคโนโลยีในประเทศไทยกว่า 2,000 คน ว่าศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพ พื้นที่เก็บข้อมูล และการปฏิบัติตามข้อกำหนดระดับองค์กร ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการประมวลผลแบบคลาวด์จากองค์กร ธุรกิจ และภาครัฐในประเทศไทย ดันให้ประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มาจากการปรับใช้เทคโนโลยี AI ขั้นสูง



“ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล และ AI การเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับคลาวด์และ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้ประเทศไทย”

น่าเสียดายที่สัตยาไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในไทย ซึ่งแตกต่างจากการเยือนอินโดนีเซียที่ CEO ไมโครซอฟท์ระบุชัดเจนว่าจะลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์ในด้านคลาวด์และ AI ในอินโดนีเซีย ตลอดช่วง 4 ปีนับจากนี้ 

สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของไมโครซอฟท์
สิ่งที่สัตยากล่าวตรงกันระหว่างไทยและอินโดนีเซีย คือการลงทุนนี้จะนำพาโครงสร้างพื้นฐาน AI ล่าสุดและยิ่งใหญ่ที่สุดมาสู่ประเทศ โดย
นาเดลลา ได้พบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไทย หลังจากได้เข้าพบประธานาธิบดีโจโค วิโดโดของอินโดนีเซียเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน ซึ่งการเข้าพบทั้ง 2 นัดล้วนถูกรายงานว่าเป็นการหารือเกี่ยวกับการวิจัย AI ร่วมกันและการพัฒนาความสามารถด้าน AI ของประเทศ 

สำหรับกรณีของอินโดนีเซีย รายงานระบุว่ารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม บูดี อารี เซเตียดี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าได้แนะนำให้ไมโครซอฟท์ตั้งศูนย์ข้อมูลบนเกาะท่องเที่ยวอย่างบาหลี หรือในเมืองหลวงใหม่นูซันทารา ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยบทสรุปในส่วนนี้


สำหรับประเทศไทย ไมโครซอฟท์ประกาศความมุ่งมั่นทำโครงการมอบโอกาสและทักษะเรียนรู้เทคโนโลยี AI ให้ผู้คนกว่า 100,000 คนในประเทศไทย โดยจะทำโครงการพัฒนาทักษะ AI สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็มุ่งเพิ่มขีดความสามารถด้าน AI ในภาคการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการและเยาวชนทั่วจังหวัด ร่วมกับโครงการอื่น เช่น Accelerating Thailand ความปลอดภัยทางไซเบอร์ โปรแกรมการเขียนโค้ด เป็นต้น ทั้งหมดถือเป็นการส่งเสริมนโยบายคลาวด์เฟิร์สต์ของรัฐบาลไทย ด้วยการมอบทักษะด้าน AI สำหรับนักพัฒนาและบุคลากรไอที

นาเดลลาได้พูดถึงโครงการ AI Odyssey ที่ช่วยให้นักพัฒนาไทย 6,000 รายกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาชาวไทยบน GitHub ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ไทยมากกว่า 900,000 ราย บนอัตราเติบโต 24% ต่อปี โดยจะเดินหน้าสนับสนุนองค์กรไทย เช่น AIS, สปสช., SCB, OCS ในการปรับใช้โซลูชันเจเนอเรทีฟเอไอของไมโครซอฟท์

ถัดจากอินโดนีเซีย และไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์มีกำหนดการเยือนเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักพัฒนาในมาเลเซียในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม คาดว่าจะเป็นการพูดคุยถึงประเด็น AI ซึ่งเป็นแกนหลักที่ไมโครซอฟท์กำลังวางเดิมพันให้ GenAI เป็นแรงผลักดันการเติบโตของธุรกิจไมโครซอฟท์ในระยะยาว


ที่ผ่านมา Microsoft มีความสัมพันธ์ยาวนานกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อขับเคลื่อนการค้าออนไลน์ ธุรกรรมดิจิทัล และสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยี ปัจจุบัน ระบบประมวลผลคลาวด์ Azure ของไมโครซอฟท์ต้องแข่งขันกับทั้ง Amazon, Google และ Alibaba รวมถึงผู้ให้บริการรายอื่นในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ได้เปิดศูนย์ข้อมูลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรกในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2010

การเยือน 3 ประเทศอาเซียนของนาเดลลาถือว่าสอดคล้องกับการสำรวจมากมายที่พบว่าจะมีความต้องการเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างมากทั่วภูมิภาค ไมโครซอฟท์ถือเป็นผู้เล่นหลักในตลาด AI ผ่านการเป็นพันธมิตรกับ OpenAI ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง ChatGPT รายงานระบุว่า ไมโครซอฟท์ได้ลงทุนประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์ใน OpenAI เพื่อถือหุ้น 49% ขณะเดียวกันก็ใช้ Azure ขับเคลื่อนกลยุทธ์ AI ร่วมกับการทำตลาดซอฟต์แวร์ผู้ช่วย AI ที่เรียกว่า Copilot ซึ่งขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีเดียวกันกับ ChatGPT

ล่าสุด ธุรกิจ Azure ของไมโครซอฟท์นั้นเติบโตขึ้น 31% จากปีก่อนหน้า (ข้อมูลไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคม 2024) เป็นกำลังสำคัญผลักดันให้รายรับในไตรมาสที่ 3 ของไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบเป็นรายปี เบ็ดเสร็จคิดเป็นมูลค่า 61,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น