ในยุคที่ผู้บริโภคมีข้อมูลสุขภาพซึ่งเก็บจากบรรดาอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ (Wearable Device) กันมาต่อเนื่องหลายปี จนทำให้จากข้อมูลเริ่มต้นเพียงแค่การนับก้าว ตรวจจับการออกกำลังกาย ตรวจวัดการนอน เพิ่มเติมด้วยอัตราการเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือด จนถึงอุณหภูมิผิวหนัง ได้กลายเป็นข้อมูลที่ล้ำค่ามากขึ้นเมื่อถูกนำไปวิเคราะห์อย่างถูกวิธี
หนึ่งในอีโคซิสเต็มทางด้านสุขภาพที่น่าสนใจ คงหนีไม่พ้น ‘Apple Health’ ซึ่งบรรดาผู้ใช้งาน iPhone และ Apple Watch ที่ใช้งานกันต่อเนื่องมา อาจไม่ทราบว่าทั้ง 2 ดีไวซ์ได้มีการเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างละเอียด และจะเข้ามาเปลี่ยนความสัมพันธ์ต่อข้อมูลสุขภาพในยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจกับการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น
หลัง Apple ได้ทำการอัปเดตแอปสุขภาพ (Health) ใหม่บน iOS 17 และเปิดให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ทั้ง iPhone และ iPad ที่เชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับอุปกรณ์เก็บข้อมูลอื่นๆ อย่าง Apple Watch หรือบรรดาเซ็นเซอร์ตรวจวัดข้อมูลต่างๆ ทำให้รูปแบบการเข้าถึงข้อมูลโดยเฉพาะบน iPad ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ทำได้สะดวกมากขึ้น
โดยจากการเก็บข้อมูลการก้าวเดินย้อนหลัง ทำให้ Apple สามารถแสดงผล ‘การเคลื่อนไหว’ (Mobility) ของผู้ใช้งานได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บย้อนหลังมาจากการพก iPhone ติดตัวของผู้ใช้งาน ด้วยการนำเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวใน iPhone มาช่วยในการวัดความเร็วในการเดิน ความยาวก้าว ช่วงเวลาที่เท้ารับน้ำหนัก และการเดินไม่สมดุล
เหตุผลที่ Apple เลือกนำทั้ง 4 ข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ ไล่ตั้งแต่ความเร็วในการเดิน และความเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป มีความใกล้เคียงกับการเข้าไปทดสอบการเดินในศูนย์การแพทย์ ที่ตามปกติแล้วค่าความเร็วในการเดินที่วัดได้มักใช้ในการติดตามการฟื้นตัวจากเหตุการณ์เฉียบพลันที่มีผลต่อสุขภาพ อย่างการเปลี่ยนข้อต่อและอาการเส้นโลหิตในสมองแตก รวมถึงการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป เช่น พัฒนาการของโรคพาร์กินสัน และการสูงวัย
ขณะที่ความยาวก้าวเป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวบกพร่องประเภทที่มีอาการเกี่ยวข้องกับระบบประสาท และกล้ามเนื้อและโครงกระดูก และยังเป็นสัญญาณว่าอาจเกิดการล้มและความกลัวการหกล้มได้ ความยาวก้าวจะลดลงตามอายุโดยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากขึ้นจะมีความยาวก้าวลดลงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า
ดังนั้น การลดความยาวก้าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเมื่ออายุมากขึ้น และการออกกำลังกายเพื่อช่วยในเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจช่วยให้เราดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
ส่วนช่วงเวลาที่เท้าทั้งสองรับน้ำหนัก คือสัดส่วนของเวลาที่เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นขณะเดิน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นค่าเวลาที่แน่นอน การที่เท้าทั้งสองข้างรับน้ำหนักนานขึ้นก็มีความเกี่ยวข้องกับความกลัวการหกล้ม ขณะเดียวกันค่าที่น้อยลงก็มีความสัมพันธ์กับการเดินที่มั่นคงขึ้นและความเสี่ยงในการล้มที่ลดลง
สุดท้ายการเดินไม่สมดุลเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บกับขาข้างใดข้างหนึ่ง และบุคคลนั้นต้องอาศัยขาอีกข้างเป็นหลักขณะเดิน มักเป็นมากขึ้นหลังจากเกิดอาการบาดเจ็บ หรือมีการเสื่อมของระบบประสาทอันเนื่องมาจากอายุมากขึ้นหรือการเป็นโรค
นอกจากนี้ ยังพบว่าการที่ขาสองข้างทำงานสัมพันธ์กันลดลงมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการล้มที่มากขึ้นและผลการผ่าตัดที่ไม่ดี และยังเป็นสัญญาณว่าอาจเกิดการบาดเจ็บที่ข้อต่อในภายหลังได้ด้วย
จะเห็นได้ว่าการวัดค่าทั้งหมดนี้จะนำไปใช้ในการประเมินท่าเดิน และการเคลื่อนไหวที่จะกลายเป็นข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว การได้เห็นแนวโน้มของการเดินที่ไม่สมดุลล่วงหน้าของผู้สูงอายุแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะล้ม ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่อันตรายสำหรับผู้สูงอายุ และช่วยให้สามารถนำข้อมูลที่สังเกตได้ถึงอาการผิดปกติไปปรึกษาแพทย์ได้
ทั้งนี้ เมื่อใช้งานคู่กับ Apple Watch ยังสามารถใช้เพื่อทดสอบการเดิน 6 นาที ที่จะเป็นการวัดที่อาจนำไปใช้ในทางการแพทย์ บ่งบอกถึงระดับความฟิตของหัวใจและหลอดเลือดโดยรวมกับการเคลื่อนไหว จนถึงการวัดระดับคาร์ดิโอฟิตเนส หรือปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถใช้ในระหว่างการออกกำลังกาย (VO2 Max)
***แจ้งเตือนเมื่อใช้หน้าจอใกล้เกินไป-เตือนให้เด็กใช้เวลากลางแจ้ง
ไม่ใช่แค่การตรวจจับเพื่อสุขภาพของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ของ Apple ยังมีฟีเจอร์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะภาวะสายตาสั้นที่มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง
สถาบันจักษุสากล (International Myopia Institute) ให้คำแนะนำว่า เด็กควรใช้เวลากลางแจ้งอย่างน้อย 80-120 นาทีในแต่ละวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสายตาสั้นในเด็ก รวมถึงการเพิ่มระยะห่างจากการดูอุปกรณ์ หรือหนังสือ
ภายใน watchOS 10 บน Apple Watch จะมีการบันทึกค่าแสงช่วงกลางวันที่ตรวจจับ แสดงให้เห็นถึงข้อมูลการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง รวมถึงการนำคุณสมบัติของกล้องหน้า TrueDepth ที่ใช้งาน FaceID มาช่วย เมื่อเปิดโหมด ‘ระยะหน้าจอ’ (Screen Distance) ตัวเครื่อง iPhone และ iPad จะแจ้งเตือนทันทีเมื่อถือเครื่องไว้ใกล้เกินกว่า 30 ซม.
***แชร์ข้อมูลสุขภาพในครอบครัว
แน่นอนว่า เมื่อมีการเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้สูงวัย และเยาวชนไว้ภายในแอป ‘สุขภาพ’ กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้สนใจถึงข้อมูลมากนัก ทำให้ Apple เลือกที่จะเปิดการแชร์ข้อมูลสุขภาพให้บุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ดูแลได้ด้วย
โดยในขั้นตอนของการเลือกแชร์ข้อมูลสุขภาพ ผู้ใช้งานสามารถเลือกถึงรายละเอียดที่จะแบ่งปันได้ อย่างเรื่องการแจ้งเตือนอัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ การออกกำลังกายต่างๆ ทำให้เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด หรือเห็นแนวโน้มของการออกกำลังกายที่ลดลง จะช่วยให้ลูกหลาน สามารถเข้ามาดูแลได้อย่างทันท่วงที
ความสามารถที่น่าสนใจของ Apple Health ยังมีเพิ่มเติมในส่วนของ HealthKit หรือการที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอป หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เข้ามาเชื่อมต่อข้อมูลกับ Apple Health ได้ ในทันทีที่ผู้ใช้งานอนุญาตให้เข้าถึงและเขียนข้อมูล จะทำให้ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพได้ครบถ้วนมากขึ้น
อย่างในต่างประเทศที่เริ่มมีการนำเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดมาใช้งานกับผู้ที่มีภาวะเบาหวาน โดยอุปกรณ์นี้จะทำการฝังเซ็นเซอร์เข้าไปทางผิวหนัง และส่งข้อมูลแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์มาที่สมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถรับรู้ถึงแนวโน้มน้ำตาลในเลือดที่พุ่งสูงขึ้น หรือลดต่ำลง ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายได้ล่วงหน้า เพียงแต่อุปกรณ์นี้ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการดูแลสุขภาพจิต ที่แม้ว่าจำเป็นจะต้องให้ผู้ใช้งานคอยบันทึกความรู้สึกในช่วงเวลาต่างๆ แต่เมื่อสามารถนำมาเทียบเคียงข้อมูลกับการออกกำลังกาย หรือการนอน จะช่วยให้เห็นได้ว่าสภาวะจิตใจ หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต่างๆ อาจมีปัจจัยมาจากพฤติกรรมรอบตัวที่เกิดขึ้นก็ได้