รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตบึงกุ่ม เตรียมปรับปรุงอาคารสุขาสวนเสรีไทย อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ตรวจมลพิษวัดควันดำรถสองแถวสาย 1538 เขตบึงกุ่ม-ถนนเสรีไท 41-43 พร้อมติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จุดตรวจวัดบริเวณสวนเสรีไทย
วันนี้ (26 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตบึงกุ่ม จำนวน 2 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 การปรับปรุงสวนเสรีไทย ณ สำนักงานสวนเสรีไทย จุดที่ 2 การตรวจมลพิษรถสองแถวประจำทาง ณ หมู่บ้านเอื้ออาทรเสรีไทย (หลังสำนักงานเขตบึงกุ่ม) โดยมี นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตบึงกุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สำนักสิ่งแวดล้อมมีสวนสาธารณะหลักและสวนสาธารณะรองที่อยู่ในการดูแล จำนวนรวมกว่า 63 แห่ง ส่วนใหญ่เปิดให้บริการมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ทางเดิน -วิ่ง อาคารสุขา สนามเด็กเล่น ลานออกกำลังกาย เสาไฟส่องสว่าง ป้ายบอกทาง ได้ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เกิดความปลอดภัย และมีความเหมาะสม รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม จากการลงพื้นที่พบว่าอาคารสำนักงานสวนเสรีไทย มีสภาพทรุดโทรม ตัวอาคารมีพื้นที่จำกัด ต้องจัดสรรพื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่ชั่วคราว สำหรับจัดเก็บเอกสารและอุปกรณ์สำนักงาน นอกจากนี้ภายในสวนเสรีไทย มีอาคารสุขาสาธารณะ จำนวน 2 หลัง ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย โดยดำเนินการปรับปรุงหลังคาอาคาร ทำระบบกันซึมใหม่ เปลี่ยนสุขภัณฑ์ 25 ชุด เดินระบบท่อสุขาภิบาลใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนกระเบื้องพื้นและผนัง ปรับปรุงฝ้าเพดาน ติดตั้งถังบำบัดใหม่ 2 ชุด ติดตั้งถังเก็บน้ำพร้อมปั๊มน้ำ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสวนทุกกลุ่มอายุและสภาพร่างกาย มีสุขาสาธารณะที่ใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย ด้านพื้นที่กายภาพของสวนเสรีไทย มีแนวเขื่อนบึงรับน้ำเสรีไทยบางส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้มีน้ำกัดเซาะเข้ามาในพื้นดิน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินราคาในการปรับปรุง ส่วนสะพานทางเดินข้ามบึงเสรีไทย ซึ่งพื้นทางเดินชำรุด จึงจำเป็นต้องปิดการใช้งานนั้น อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตบึงกุ่ม ได้มอบหมายให้เขตฯ ดำเนินการออกแบบใหม่ เพื่อนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสม และประเมินราคาในการปรับปรุงต่อไป
จากนั้น เวลา 10.00 น. รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจมลพิษรถสองแถว สาย 1538 บริเวณหมู่บ้านเอื้ออาทรเสรีไทย (หลังสำนักงานเขตบึงกุ่ม) เส้นทางเดินรถวิ่งระหว่างเขตบึงกุ่ม-ถนนเสรีไท 41-43 วิ่งลักษณะเป็นวงเวียน มีจำนวนรถทั้งหมด 17 คัน ซึ่งมีหน่วยงานร่วมตรวจ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตบึงกุ่ม ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดและอุปกรณ์ ร่วมตรวจวัดโดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำและเครื่องตรวจวัดระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ จากสถิติข้อมูลการตรวจวัดมลพิษ (ควันดำ) จากปลายท่อไอเสียรถสองแถว ณ อู่หรือท่าปล่อยรถในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามแผนปฏิบัติงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-เดือนสิงหาคม 2565 มีรถสองแถวได้รับการตรวจวัดมลพิษ (ควันดำ) จำนวน 41 สาย ดำเนินการตรวจวัดมลพิษ จำนวน 500 คัน ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 1 คัน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำต้องไม่เกินร้อยละ 30 ด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสง และต้องไม่เกินร้อยละ 40 ด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรอง ส่วนค่ามาตรฐานเสียง ระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ ไม่เกิน 100 เดซิเบล
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณจุดตรวจวัดบริเวณสวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม จากสถิติการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2563-2565 พบว่า ปี 2563 ค่าสูงสุด 57 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 25 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 1 วัน ปี 2564 ค่าสูงสุด 77 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 21 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 17 วัน ปี 2565 ค่าสูงสุด 75 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 24 มคก./ลบ.ม. จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 8 วัน (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล ปี 2564 กับปี 2565 ค่าสูงสุดลดลง 3% ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13% จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานลดลง 53% (ข้อมูลถึงวันที่ 25 ส.ค.65) ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั้ง 50 เขต และ 20 สวนสาธารณะ รวมทั้งหมด 79 สถานี ทั้งแบบเสาเหล็ก 46 จุด เครื่องตรวจวัด PM2.5 ในสวนสาธารณะ 20 แห่ง และบริเวณอื่น ๆ 4 แห่ง นอกจากนี้ยังมีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียง 1 คัน รถตรวจวัดคุณภาพอากาศ 4 คัน (Mobile) และแบบตู้คอนเทนเนอร์ 4 สถานี โดยเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศกับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานี ในปี 2565 บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัด PM10 PM2.5 PM1 และอุตุนิยมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 452 จุด แบ่งเป็นหน่วยงานกรุงเทพมหานคร 170 จุด เช่น โรงเรียน สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศพระโขนงและราชเทวี และหน่วยงานอื่น ๆ 282 จุด และมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน RGuard