ย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อน ข่าวลือหนาหูบอกว่ามีพนักงานแซดทีอีประเทศไทย (ZTE Thailand) จำนวนหนึ่งถูกเชิญออกจากบริษัทในช่วงปลายปี 2016 จนทำให้เกิดความกังวลว่า ZTE จะยังทำธุรกิจในประเทศไทยต่อไปหรือไม่ เวลานั้น ZTE มีธุรกิจในด้านเครือข่ายอยู่หลากหลาย บริษัทจึงพยายามเรียกความมั่นใจว่าจะยังไม่ออกจากตลาดไทยและมีการแก้ข่าวว่าเป็นข่าวลือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภายในเพื่อให้ ZTE ยังดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคมได้ต่อไป
จนเมษายน 2018 บริษัท ZTE ถูกโทษแบนตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ห้ามบริษัทอเมริกันจำหน่ายสินค้าให้ ZTE ด้วยข้อหาว่า ZTE ผิดข้อตกลงกับสหรัฐฯ ลักลอบขายสินค้าให้ประเทศอิหร่าน คำสั่งนี้มีผลกระทบโดยตรงกับ ZTE อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้จะมีฐานะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่รายหนึ่งของโลกแต่ ZTE จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา เช่น ควอลคอมม์ (Qualcomm) และอินเทล (Intel) เพราะต้องสั่งซื้อส่วนประกอบมาติดตั้งในสินค้า ZTE เวลานั้นมีรายงานว่า ZTE มียอดจ่ายเงินกว่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่บริษัทอเมริกันผู้ส่งออกสินค้า 211 รายในปี 2017 และการประเมินของบริษัทวิจัยไอเอชเอส (IHS Markit) พบว่า ZTE จัดส่งโทรศัพท์ประมาณ 46.4 ล้านเครื่องในปี 2017 ปีเดียว
ด้วยฐานะลูกค้ารายใหญ่ และภาวะที่หุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไอทีอเมริกันหลายรายต้องผจญกับราคาหุ้นลดลงเมื่อถูกห้ามส่งออกสินค้าให้ ZTE สหรัฐฯ ยอมโอนอ่อนยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ZTE ลงส่วนหนึ่ง ในอีกด้าน ZTE ยังคงเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G รุ่นใหม่เพื่อขายในตลาดบ้านเกิดโดยยังคงสานสัมพันธ์กับโอเปอเรเตอร์ที่เป็นพันธมิตรกันในหลายตลาดของโลก รวมถึงไทยที่มีการทำตลาดเครือข่าย 5G อย่างต่อเนื่องไม่มีหยุดพัก
กระทั่ง มีนาคมปีที่แล้ว ZTE ประกาศกลับมาบุกตลาดสมาร์ทโฟนไทยอีกครั้ง ผ่านสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับโอเปอเรเตอร์ทั้งเอไอเอสและทรู เพื่อเร่งขยายตลาดในไทย โดยจับมือ 2 ดิสทริบิวเตอร์ใหญ่คือ VSTECS และ YAS (เครือเบญจจินดา) เพื่อเป็นแขนขากระจายสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ “มายโอเอส” (MyOS) สู่ผู้บริโภค ซึ่งมีเทรนด์แรงเรื่องการเปลี่ยนไปใช้งานเครือข่าย 5G
ชอว์น เผย์ ผู้จัดการทั่วไป โทรศัพท์มือถือประจำประเทศไทย แซดทีอี คอร์ปอเรชัน กล่าวในเวลานั้นว่า การกลับเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจาก ZTE เห็นถึงเทรนด์การใช้งานสมาร์ทโฟน และสินค้าในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่เติบโตขึ้น และไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศหลักในภูมิภาคนี้ที่มีทั้งโอกาส และศักยภาพในการเติบโต นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทยยังได้เร่งขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้สมาร์ทโฟน 5G กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และมีความจำเป็นในการใช้งาน โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นที่ปัจจุบันในตลาดยังขาดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
แผนกลยุทธ์นี้ถูกนำมาตอกย้ำอีกครั้งในปี 2023 เพราะ ZTE จะเดินหน้าจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ไม่ต่ำกว่า 5 รุ่นในไทยช่วงปีนี้ ซึ่งแม้รายละเอียดกลยุทธ์ พันธมิตร และจำนวนรุ่นจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระดับราคาเครื่อง ZTE นั้นเห็นชัดว่าเปลี่ยนจากที่เคยเริ่มต้น 2,599-31,990 บาทในปีที่แล้ว โดยปีนี้ราคาลดลงและมีช่วงกว้างขึ้นเป็น 1,990-46,900 บาท
***การบ้าน 3 ข้อ ZTE ต้องทำต่อ
แม้จะไม่ยอมตอบคำถามตรงๆ ว่า “ZTE จริงจังแค่ไหน?” กับการกลับมาสู่ตลาดไทยในรอบนี้ แต่ ชอว์น เผย์ ย้ำว่านโยบายสำคัญ 3 อันดับแรกของ ZTE ในตลาดไทยคือ 1.สร้างการรับรู้ของแบรนด์เพิ่มขึ้นด้วยการสื่อสารแบรนด์แบบ Offline และผ่านโซเชียล มีเดีย 2.ขยายร้านรายย่อยที่เป็นแกนหลัก รวมทั้งบริการหลังการขาย ทั้งในช่องทาง Online และ Offline ให้ได้ 4,000 ร้านภายในปี 2567 และ 3.สร้าง ZTE Space และ Store ให้ได้ 500 จุดภายในปี 2568
“ด้านการขยายตลาด ZTE ดีไวซ์ ตั้งเป้า 1% ส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้ 1.5% ในปี 2567 และ 3% ส่วนแบ่งการตลาดในปี 2568 โดยในปีนี้ มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดทั้งปี โดยในไตรมาสแรกได้เปิดตัว Red Magic 8 Pro และจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในวันนี้ รวมถึงจะมีทั้งสมาร์ทโฟนซีรีส์ใหม่และสมาร์ทโฟนที่เป็นซีรีส์สำหรับเกมเมอร์”
การประกาศแผนลงทุนในตลาดไทยรอบนี้ถือเป็นการตอกย้ำความพร้อมในการท้าชนกับคู่แข่งร่วมชาติอย่างหัวเว่ย (Huawei) ที่ยังหมั่นทำตลาดอย่างขันแข็ง ในขณะที่ ZTE จะดูเหมือนว่าหายไปบ้างในบางครั้งทั้งธุรกิจอุปกรณ์และเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ZTE ตั้งเป้าให้ 3 ปีจากนี้ บริษัทจะมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอุปกรณ์ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้เป็น 3% โดยในปีนี้จะเติบโต 100% จากปีที่ผ่านมา
***สยายปีกทั่วอาเซียน
จัสติน ลี ซีอีโอกลุ่มธุรกิจโมบาย ดีไวเซส ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลว่าธุรกิจของ ZTE ในส่วนที่เป็น Consumer Business หรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 นั้นเติบโตเพิ่มขึ้น 9.9% สร้างรายได้มากถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์ ZTE ที่เป็น 5G ยังคงครองอันดับหนึ่งของการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลก และปริมาณการขนส่งสมาร์ทโฟน 5G ของ ZTE ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นถึง 75%
“ปัจจุบัน ZTE มีอยู่ในทั่วโลกกว่า 160 ประเทศ มีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 100 ล้านคน มีพันธมิตรมากกว่า 3,000 ราย และมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เป็นพันธมิตรทางกลยุทธ์มากถึง 50 ราย”
สำหรับในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน ZTE มีธุรกิจอยู่ใน 8 ประเทศคือ ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยมีพันธมิตรที่จับมือทำงานร่วมกันด้านดีไวซ์ใน 6 ประเทศ สำหรับในประเทศไทย ZTE มี AIS, TRUE, YAS และ VSTECS ร่วมเป็นพันธมิตรเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ZTE คือจะจัดจำหน่ายซีรีส์ต่างๆ ในช่องทางที่ต่างกัน โดยปัจจุบัน ZTE มีสมาร์ทโฟนภายใต้ 4 แบรนด์ในเครือ เพื่อตอบความต้องการตลาดที่หลากหลายให้ครบทุกตลาด ได้แก่ AXON, Blade, Nubia และ REDMAGIC โดยสินค้ากลุ่ม REDMAGIC และ Nubia จะจัดจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์ ขณะที่ Blade A และ V Series เตรียมจัดจำหน่ายทางหน้าร้าน รวมถึงมือถือสมาร์ทโฟน 4G/5G ที่จะจำหน่ายทาง Operator
***อาณาจักร ZTE แข็งแกร่ง
ในภาพรวม ZTE สามารถครองส่วนแบ่งตลาดบรอดแบรนด์มือถือ (MBB) และอินเทอร์เน็ตไร้สาย (FWA) อันดับ 1 ของโลกในปีนี้ และคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะสามารถเติบโตต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า
หลัว เหว่ย รองประธานแซดทีอี คอร์ปอเรชั่น เผยว่าการคาดการณ์นี้สัมพันธ์กับตัวเลขแนวโน้มผู้ใช้งาน 5G ในตลาด ที่มีสัญญาณเติบโตมากขึ้น โดยอินเทอร์เน็ตไร้สายจะมีผู้ใช้งานเกิน 34.59 ล้านรายในปี 2570 และอินเทอร์เน็ตไร้สาย 5G จะมีอัตราการเติบโตต่อปีคิดเป็น 22% จากปี 2566-2570
“ZTE เป็นผู้นำด้านบรอดแบรนด์มือถือ และอินเทอร์เน็ตไร้สายของโลก ก่อตั้งมาเป็นเวลา 17 ปี แล้ว ขยายไปมากกว่า 100 ประเทศ จำหน่ายสินค้าไปแล้ว 3 ล้านชิ้น ในปี 2565 ที่ผ่านมา ZTE สามารถเพิ่มรายได้ หรือ operating revenue และกำไรได้เป็นเท่าตัว คือมีรายได้ถึง 17.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำไร 1.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ” หลัว เหว่ย กล่าว “Consumer business ของ ZTE จะเป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ตอบโจทย์ครบวงจรในระบบนิเวศ ที่เรียกว่า Full-scenario Ecosystem 2.0 ในการใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านหรือนอกบ้าน โดยจะมีระบบ MyOS เป็นตัวกลางที่จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้”
นอกจาก MyOS ที่ใช้แทนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) หลัว เหว่ย ทิ้งท้ายว่า ZTE จะยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมสมาร์ทโฟนในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ประสบการณ์ Full Screen และการพัฒนาสมาร์ทโฟนเพื่อเป็นที่หนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนอีสปอร์ต โดย ZTE สามารถเป็นรายแรกในโลกที่ออกผลิตภัณฑ์แท็บเล็ต 3D Pad ด้วย AI แบบไม่ต้องใส่แว่นตา 3D ได้สำเร็จ
ที่เตรียมมาทั้งหมดนี้จะเรียกว่า จริงจังไม่จิงโจ้ก็ย่อมได้