ชาร์ป (Sharp) เป็นบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นที่เผชิญกับวิกฤตสำคัญหลายครั้ง หนึ่งในช่วงเวลาท้าทายความอยู่รอดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อบริษัทประสบกับปัญหาทางการเงินรุนแรง และมีหนี้สินสะสมมหาศาล ในเวลานั้น Sharp ต้องผจญพิษยอดขายลดฮวบบนการแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้บริษัทต้องขอความช่วยเหลือจากทุนต่างชาติ
เพื่อก้าวข้ามวิกฤต Sharp ตัดสินใจใช้ยาแรงทั้งการปรับโครงสร้าง ซึ่งรวมตั้งแต่การลดต้นทุน การลดพนักงาน และการขายสินทรัพย์ แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกลุ่มผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน เมื่อรวมความพยายามเหล่านี้กับการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับ สถานการณ์ของ Sharp จึงมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ล้มละลาย และมีโอกาสปรับตัวรับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อีก โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการอยากได้โทรทัศน์แบบเดิมมาเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ และการเกิดขึ้นของคู่แข่งสุดโหดจากเกาหลี-จีน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Sharp เริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวและการเติบโต บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่ด้านต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เครื่องใช้ภายในบ้าน และเครื่องฟอกอากาศ นอกจากนี้ ยังร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัทพันธมิตรเพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการเข้าถึงตลาดให้รับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเทเงินลงทุนวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมาได้
ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่ Sharp ใช้เป็นอาวุธคือ ทีวี ‘อะควอส เอ็กซ์แอลอีดี โฟร์เค ทีวี’ (AQUOS XLED 4K TV) สุดล้ำสมัยซึ่งถูกตั้งความหวังว่าจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมความบันเทิงภายในบ้าน และเครื่องฟอกอากาศพลาสมาคลัสเตอร์ตระกูล ‘เพียวฟิต’ (Purefit Plasmacluster) ที่จะเขย่าตลาดอุปกรณ์ปรับคุณภาพอากาศ เพราะความสามารถกำจัดทั้งเชื้อราในอากาศ ไวรัส แบคทีเรีย และสารก่อภูมิแพ้
***ทีวี-เครื่องฟอกอากาศ ความหวังสำคัญ
Sharp เพิ่งประกาศพร้อมวางจำหน่ายทีวี AQUOS XLED และเครื่องฟอกอากาศ Purefit รุ่นใหม่ในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยมีกำหนดวางตลาดไทยและอีกหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2023 การเปิดตัวครั้งนี้สะท้อนว่า Sharp ต้องการ ไฮไลต์ความสามารถด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการตลาดมิดโลว์เอนด์ขึ้นไป โดยปักธงขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศญี่ปุ่น ด้วยการเน้นเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเดินค่อนข้างช้ากว่าคู่แข่งไปราว 1-2 ปี
ในส่วนของทีวี ด้วยขนาดตั้งแต่ 65 ถึง 75 นิ้ว ทีวี 4K รุ่นใหม่มีเทคโนโลยี Xtreme mini-LED ของ Sharp ที่ให้ความสว่าง คอนทราสต์ และขอบเขตสีที่กว้างเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันมีโซนลดแสงสูงสุดด้วยแบล็กไลท์ 2,000 โซนให้ความสว่างมากกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 6 เท่า มีระบบ ARSS+ Speaker Surround System ซึ่งประกอบด้วยลำโพง 11 ตัว เอาต์พุตเสียงสูงสุด 85W ขณะเดียวกัน ขับเคลื่อนโดย Google TV มีแอปพิเศษสำหรับการดูและจัดการภาพ เพิ่มตัวเลือกการปรับแต่งและความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้ รองรับเทคโนโลยี Dolby Atmos และ Dolby Vision IQ เป็นการรับประกันประสบการณ์การรับชมที่น่าดึงดูดและสมจริงในทุกสภาพแสงของห้อง
คำโฆษณานี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Sharp ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีจอแสดงผล LCD ของโลก เห็นได้ชัดในช่วงก่อนที่ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) จะเข้าครอบครอง Sharp ในปี 2559 เวลานั้นทางการญี่ปุ่นต้องพิจารณาอย่างละเอียดถึงข้อดีข้อเสียในการปล่อยให้หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่าง Sharp (บริษัทอายุ 111 ปี ก่อตั้ง พ.ศ.2455) ต้องไปอยู่ภายใต้การครอบครองของต่างชาติ นอกจากนี้ ข้อตกลงกับ Foxconn ยังถือเป็นการเทกโอเวอร์บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่นในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งแม้ว่าโชคชะตาของ Sharp จะตกต่ำในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น แต่ Sharp ยังคงเป็นแถวหน้าที่มีเทคโนโลยีหน้าจอที่โดดเด่น ซึ่งเป็นทรัพย์สินหลักที่ Foxconn ได้ไปครอบครอง
ระหว่างงานเปิดตัวทีวีรุ่นใหม่ ‘ฮิโรฟูมิ โอกะโมโต’ (Hirofumi Okamoto) ประธานหน่วยธุรกิจระบบโทรทัศน์ของ Sharp Corporation แสดงความเชื่อมั่นว่ายอดขายทีวีของบริษัทจะเติบโตในระดับเลข 2 หลักทั่วภูมิภาคอาเซียนช่วงปีนี้ จุดนี้ ‘โคอิช เคียวมูระ’ (Koich Kyomura) ผู้อำนวยการบริหารของห้างยามาดะเดงกิ (Yamada Denki) ซึ่งเป็นพันธมิตรค้าปลีกของ Sharp ยอมรับว่าแม้คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นจะกำลังเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ทางเลือกเพื่อรับชมเช่นเดียวกับผู้คนในประเทศอื่น จนทำให้ความต้องการทีวีลดลง แต่ยังมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาเลือกทีวีเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบและค้นหารุ่นที่ชอบในราคาที่สมเหตุสมผล เบื้องต้นไม่มีการวางขายแบรนด์เกาหลีใต้ในร้าน เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้รับความนิยม
ไม่เพียง AQUOS XLED TV รุ่น 65 นิ้ว ที่จะวางจำหน่ายในไทยด้วยราคาเริ่มต้น 79,999 บาท Sharp ยังเปิดตัวเครื่องฟอกอากาศ Purefit Plasmacluster ซึ่งจะวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เครื่องฟอกอากาศนี้สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี Plasmacluster ที่โด่งดังของ Sharp ช่วยขจัดมลพิษในอากาศ รวมถึงเชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ และอื่นๆ ได้อีกมาก แต่ยังไม่มีการประกาศราคาจำหน่ายในขณะนี้
นอกจากความสามารถในการทำให้อากาศบริสุทธิ์แล้ว เครื่องฟอกอากาศ Purefit Plasmacluster ยังปรับไฟฟ้าสถิตให้เป็นกลาง ช่วยในการกำจัดอนุภาคที่เป็นอันตรายเช่น ละอองเกสรดอกไม้ และฝุ่นละอองออกจากอากาศ ทำให้มั่นใจได้ว่าสภาพแวดล้อมจะสะอาดและดีต่อสุขภาพมากขึ้น จุดนี้ Sharp ย้ำว่า Plasmacluster Ion ที่ปล่อยออกมาจะแนบกับผิวหนังของผู้ใช้ สร้างชั้นปกป้องที่รักษาความชุ่มชื้น เพิ่มความยืดหยุ่น และปรับปรุงพื้นผิวโดยรวมด้วย
ในส่วนของธุรกิจ Plasmacluster การศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมทำให้ Sharp วางแผนขยายการประยุกต์ใช้ Plasmacluster ในตลาดที่มากกว่าสินค้าที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วอย่างเครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า โดยจะเน้นให้ Plasmacluster อยู่ใกล้ตัวมนุษย์และสัตว์มากขึ้น เนื่องจากงานวิจัยจำนวนมากพบว่า Plasmacluster นั้นส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งการลดความเครียด การเพิ่มสมาธิ และการเพิ่มสมรรถภาพทางกีฬา เช่น สามารถช่วยให้นักกีฬาอีสปอร์ตมีผลการแข่งที่ดีขึ้น
ด้วยนวัตกรรมเหล่านี้ Sharp ต้องการตอกย้ำฐานะผู้บุกเบิกในการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สร้างนิยามใหม่ให้ความบันเทิงภายในบ้านและมาตรฐานคุณภาพอากาศ เรียกว่าลูกค้า Sharp สามารถดูทีวี AQUOS XLED ไปพร้อมกับสูดอากาศที่สะอาดและดีต่อสุขภาพด้วยเครื่องฟอกอากาศ Purefit ไปพร้อมกัน
***ชาร์ปไทยตั้งเป้าโต 20%
ชูเฮย์ อาไร่ (Shuhei Arai) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด เปิดเผยว่า เป้าหมายของ ‘Sharp ไทย’ ในปีนี้คือการรักษารายได้ให้ไม่ต่ำไปกว่าที่เคยทำได้ในปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงตุลาคมเป็นต้นไป Sharp จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสินค้าใหม่ที่จะวางจำหน่ายเพิ่มจากสินค้าเดิม ซึ่งไม่เพียงสินค้ากลุ่มความบันเทิง แต่บริษัทจะมีการเปิดตัวเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าและอีกมากมาย คาดว่าจะนำไปสู่การเติบโตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10-20%
อาไร่ ยอมรับว่า ตลาดรวมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนของไทยนั้นเติบโตเฉพาะในมุมจำนวนเครื่อง แต่ในแง่มูลค่านั้นหดตัว ตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก ภาวะตลาดหลังช่วงพีกจากการระบาดใหญ่คาดว่าจะมีการหดตัวลง 3-5% นอกจากนี้ แนวโน้มของตลาดที่เห็นชัดคือการเปลี่ยนแปลงของช่องทางการขาย ทั้งค้าปลีกโมเดิร์นเทรด และไฮเปอร์มาร์เกต ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่รวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เกตนั้นอยู่ในช่วงของการลดพื้นที่จัดแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลง สวนทางกับการขายออนไลน์ที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยยอมรับว่าผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมเรียนรู้สินค้าที่ร้านหลังจากนั้นจึงไปซื้อออนไลน์ จึงเป็นเทรนด์ที่ทำให้สัดส่วนยอดขายจากไฮเปอร์มาร์เกตลดลงชัดเจน
ในภาพรวม เอ็มดี Sharp ไทยเชื่อว่ากำลังซื้อในตลาดไทยมีแนวโน้มเป็นบวก เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวซึ่งจะทำให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น อีกส่วนที่เห็นชัดคือพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากเดิม โดยจะไม่เน้นการเป็นเจ้าของเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นการขายแบบเช่าซื้อจึงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น รวมถึงการทำงานแบบ work from home ที่ทำให้พนักงานไม่ต้องเข้าสำนักงาน หรือสามารถย้ายสถานที่ทำงานระหว่างท่องเที่ยว ทั้งหมดมีส่วนทำให้รูปแบบการขายทีวีจอใหญ่ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับการเปิดตัว AQUOS XLED 4K TV ที่ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 เดือนที่ Sharp ไทยได้ตัว MD คนใหม่ แผนธุรกิจที่ MD ของ Sharp ไทยเตรียมไว้สำหรับทำตลาด LCD TV นับจากนี้คือการขยายธุรกิจ B2B ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางทั้งในไทยและทั่วอาเซียน เบื้องต้นวางแผนจะจับมือกับผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือกลุ่มผู้สร้างคอนโดมิเนียมใหม่ ขณะเดียวกัน จะขยายช่องทางจำหน่ายออนไลน์ หรือ e- commerce ให้ใหญ่ขึ้น พร้อมกับเดินหน้าพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง
***XLED มาแรงแซง LCD และ OLED TV?
ในอีกด้าน การเปิดตัว AQUOS XLED 4K TV ยังมีภาพการสื่อสารว่า XLED จะเป็นอนาคตใหม่ที่จะเป็นทางเลือกนอกจาก LCD และ OLED TV โดยในร้านค้าปลีกญี่ปุ่นที่มีการจัดแสดง XLED ไว้กึ่งกลาง และมี LCD และ OLED TV ขนาบข้าง พร้อมกับเปิดเนื้อหาวิดีโอเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเปรียบเทียบโทนภาพที่ชอบได้ตามต้องการ ในราคาที่แตกต่างกัน
‘ไดสุเกะ ฮิราซาวะ’ (Daisuke Hirasawa) ผู้จัดการแผนก ฝ่ายการวางแผนผลิตภัณฑ์ทั่วโลก กล่าวว่า การจัดวางทีวีเทคโนโลยี XLED ไว้ตรงกลางติดกับ LCD และ OLED TV นั้นมีทั้งการเทียบกับจอแบรนด์ตัวเองและการเรียงเทียบคนละแบรนด์ เบื้องต้นคาดหวังให้ผู้ค้าปลีกไทยและทั่วอาเซียนจัดวางทีวีแบบเทียบ 3 เทคโนโลยีเหมือนในญี่ปุ่นที่มีการจัดเรียงลักษณะนี้แทบทั้งหมด เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่า XLED เป็นเทคโนโลยีที่รวมเอาส่วนที่ดีที่สุดของ LCD และ OLED TV เข้าไว้ด้วยกัน
‘ยู โฮริโกชิ’ (Yu Horikoshi) ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายงานขายสินค้า แห่งร้านบิ๊กคาเมร่า (Bic Camera) ระบุว่า การจัดเรียงทีวีเทคโนโลยี XLED ไว้ตรงกลางติดกับ LCD และ OLED TV นั้นสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคราว 60-70% ที่มาศึกษาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม โดย Bic Camera ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภครายใหญ่ของญี่ปุ่นนั้นมีการนำทีวีจากแอลจีแบรนด์เกาหลีแบรนด์เดียวมาจัดแสดงเปรียบเทียบด้วยคอนเทนต์เดียวกัน
ที่สุดแล้ว การเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่จะเป็นโอกาสให้ Sharp จำหน่ายทีวีได้มากขึ้น โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา Sharp ระบุว่ามียอดขาย LCD TV สูงเกินหลัก 141 ล้านเครื่องไปเมื่อมกราคม 2566 ในจำนวนนี้ภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วน 43% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2565 คาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 45% และ 47% ในปีนี้และปีหน้า
ภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลุ่ม Smart Appliances & solution หรือ SAS ของ Sharp ด้วย ธุรกิจนี้ประกอบด้วยหมวดย่อย ได้แก่ หมวดเครื่องปรับอากาศ หมวดเครื่องใช้ในครัว เช่น ตู้เย็น เตาอบ หมวดสุขภาพ หมวด Plasmacluster Ion เช่น เครื่องฟอกอากาศ และหมวดซักล้างและทำความสะอาด ซึ่งรวมเครื่องดูดฝุ่น และเครื่องซักฝ้า สถิติปีการเงิน 2565 พบว่าสินค้ากลุ่ม SAS ของ Sharp ทำยอดขายกว่า 48% ในญี่ปุ่น ที่เหลืออีก 52% เป็นพื้นที่อื่น โดยเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาทำยอดขายเกิน 70% ของยอดขายรวมที่ Sharp จำหน่ายได้นอกญี่ปุ่น
ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่า Sharp พร้อมมากเรื่องความพยายามอย่างต่อเนื่องในการคิดค้น ปรับปรุงการดำเนินงาน และรักษาจุดยืนการตลาดที่แข็งแกร่ง แต่ Sharp จะรอด ฟื้นตัว และเติบโตในระยะยาวได้หรือไม่ เรายังต้องรอลุ้นความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองต่อแนวโน้มของตลาดต่อไป