เป็นสัญญาณบอกชัดว่าตลาดคอมพิวเตอร์พกพาในประเทศไทยช่วงครึ่งหลังปีนี้จะแข่งขันสนุกขึ้นอีก เพราะแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าแอลจี (LG) ได้ประกาศเข้าร่วมชิงชัยด้วยการวางจำหน่ายแล็ปท็อปจอยักษ์ไม่ต่ำกว่า 4 รุ่นในราคาเกิน 4 หมื่นบาท เหตุผลหลักที่แอลจีบอกถึงการวางเดิมพันขยายพอร์ตธุรกิจไอทีในรอบนี้ ว่าคือความมั่นใจในตลาดไทยที่มีแนวโน้มไปได้สวยในช่วงที่ผู้คนกลับมาเดินทางแต่แท้จริงแล้วยังมีอีกเหตุผลที่ซ่อนอยู่นั่นคือภาวะที่ความต้องการในตลาดอุปกรณ์อย่างจอมอนิเตอร์ และทีวีมีแนวโน้มลดลง
วันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา แม้แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ จะเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2023 ที่ 20.4 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5.22 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นรายรับประจำไตรมาสที่สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 เพราะยอดขายที่ดีขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ กลุ่มธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มธุรกิจโซลูชันสำหรับองค์กร แต่บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจหน้าจอของแอลจีอย่าง “แอลจีดิสเพลย์” (LG Display) กลับประกาศว่ารายได้ในไตรมาสแรกของปี 2023 ลดลง 40% คิดเป็น 4,411,000 ล้านวอน จาก 7,302,000 ล้านวอนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 โดยลดลง 32% จาก 6,471,000 ล้านวอนในไตรมาสแรกของปี 2022
ส่วนหนึ่งของความท้าทายที่ LG Display เผชิญอยู่ คือ การประสบปัญหาการจัดส่งแผงหน้าจอ การเป็นช่วงโลว์ซีซัน และความต้องการในอุตสาหกรรมทีวีและผลิตภัณฑ์ไอทีที่ลดลง รวมถึงความพยายามของแอลจีที่จะลดขนาดธุรกิจ TV LCD panel โดยหากแจงรายได้ไตรมาส 1 ปี 23 จะพบว่ารายได้จากแผงหน้าจอสำหรับทีวีคิดเป็น 19% แผงหน้าจอสำหรับอุปกรณ์ไอที (จอภาพ แล็ปท็อป และแท็บเล็ต) คิดเป็น 38% แผงหน้าจอสำหรับมือถือและอุปกรณ์อื่นคิดเป็น 32% และแผงหน้าจอสำหรับรถยนต์ 11%
ข้อมูลเหล่านี้อนุมานได้ว่า แอลจีตัดสินใจขยายพอร์ตธุรกิจไอทีให้มั่นคงขึ้นอีกเพื่อต่อสู้กับแนวโน้มที่ธุรกิจหน้าจอในพื้นที่อื่นอาจจะมีการเติบโตไม่มาก สำหรับการปักหมุดเปิดไลน์อัปแรกในประเทศไทย แอลจีตั้งเป้าจะขึ้นเป็นแบรนด์ใหญ่ระดับไอคอนนิคสำหรับผู้บริโภคไทย เพื่อตอบกลุ่มเป้าหมาย และเสริมภาพการเป็นพรีเทียมแล็ปท็อป
***ไทยเหมาะนำร่อง
จีรภา คงสว่างวงศา รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กรและไอที ภาคพื้นอินโดไชน่า บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจเริ่มทำตลาดแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ที่ประเทศไทยในปีนี้ เกิดขึ้นเพราะตัวเลขคาดการณ์ว่าไทยจะมีการใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนบริการไอทีที่มีแนวโน้มขยายตัว 10.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 5.5% ในช่วงแรก ทำให้ตลาดไทยถูกยกให้เป็นตลาดที่สำคัญมากในส่วนสินค้าไอที
“แอลจีเชื่อว่าบริษัทจะเติบโตในภาพรวม 10% โดยตัวที่ไดรฟ์ให้เกิดการเติบโตคือพีซี คาดว่าจะไอทีพอร์ตให้โตเป็น 70%”
หมัดเด็ดที่แอลจีเตรียมไว้คือ แอลจีแกรม (LG Gram) ซึ่งวางจำหน่ายเฉพาะที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในขณะนี้ โดยคอมพิวเตอร์พกพาที่แอลจีจะเริ่มเปิดตัว 4 ไลน์อัป ก่อนจะเพิ่มเป็น 5-6 ในช่วงปีนี้จะมีจุดเด่นเรื่องการทุบสถิติน้ำหนักเบาที่สุดในกลุ่มแล็ปท็อปหน้าจอ 16 นิ้ว (น้ำหนัก 1.19 กก.ใช้งานได้ 23 ชั่วโมง) และหน้าจอ 17 นิ้ว (น้ำหนัก 1.3 กก.ใช้งานได้ 20 ชั่วโมง) น้ำหนักของ LG Gram ถูกยกว่าเบากว่าปกติซึ่งรุ่น 16-17 นิ้วมักหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป ทำให้ LG Gram ถูกเคลมว่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่กลับมาเดินทาง และพกเอาแล็ปท็อปไปทำงานจากทุกที่ทุกเวลา
LG Gram ยังเด่นเรื่องความทนทานระดับทหาร ทั้งวัสดุแมกนีเซียมอัลลอยที่เป็นวัสดุผลิตเครื่องบินและผ่านการทดสอบความทนทานต่อกรดเกลือ ที่สำคัญ LG Gram มีจอสัดส่วน 16:10 ที่ช่วยให้การดูข้อมูลเก็บรายละเอียดได้ดีขึ้นพร้อมเด่นเรื่องความบันเทิง ให้อรรถรสการดูหนังฟังเพลงได้สมศักดิ์ศรีผู้ผลิตจอทีวีรายใหญ่ของโลก ที่สามารถผลิตแล็ปท็อปที่มีหน้าจอใหญ่แข็งแรงมากบนตัวเครื่องน้ำหนักเบา และไม่เหลือคราบดีไซน์เกมเมอร์ในแล็ปท็อปจอใหญ่ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบ
“ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว เราต้องการสร้างความมั่นใจ แอลจีไม่ได้มีแค่ไอที แต่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า เราเห็นการเติบโตสูง ผลตอบรับดีทุกช่องทางจำหน่าย ทั้งออนไลน์และดีลเลอร์อย่างคอมเซเว่น ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม เราศึกษาตลาด มองว่าตลาดไอทีไทยจะโต 5.5% แต่จริงๆ โตเกิน 10% จึงมั่นใจว่าแล็ปท็อปเราจะเติบโตไปพร้อมกับสินค้ากลุ่มมอนิเตอร์ที่กำลังดีเหมือนกัน”
***แล็ปท็อปพรีเมียม “ตลาดน่าเล่น”
จีรภา ย้ำว่า ตลาดสินค้าไอทีราคาสูงหรือพรีเมียมเซกเมนต์นั้นไม่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจผันผวน เบื้องต้นประเมินว่าสัดส่วนของเซกเมนต์นี้มีมากกว่า 17% ซึ่งจะไดรฟ์มูลค่าตลาดพรีเมียมเซกเมนต์ให้ทะลุ 200 กว่าล้านบาท สถิตินี้ทำให้ตลาดพรีเมียมเป็น “ตลาดที่น่าเข้า” ในสายตาของจีรภา และมีแนวโน้มเติบโตเป็นเลข 2 หลักในปีนี้
“ตลาดรวมแล็ปท็อปทั้งหมดลดลง แต่เซกเมนต์พรีเมียมไม่มีผลกระทบ และยังเติบโตต่อ เรามองว่าถ้าเข้ามาจะช่วยเรื่องสินค้าไอทีทั้งหมดของเรา โดยใน 17% ที่เป็นเซกเมนต์พรีเมียม เราจะทำให้ได้ 2-5% ปีนี้”
จีรภายอมรับว่าการจำหน่ายแล็ปท็อปในไทยเกิดขึ้นตามหลังในเกาหลีที่มีจำหน่ายหลายรุ่นราคามานานเกิน 10 ปี แต่สำหรับตลาดไทย แอลจีคัดเฉพาะรุ่นพรีเมียมที่เน้นดีไซน์และหน้าจอขนาดใหญ่ เนื่องจาก 1 ปีที่ได้ทดลองตลาดมา บริษัทพบว่าสินค้ากลุ่ม 15 นิ้ว ขายไม่ดีเท่ารุ่น 16 หรือ 17 นิ้ว
“จอใหญ่เป็นสิ่งที่ตลาดกำลังมองหา ต้องเป็น 17 นิ้วที่ไม่หนัก เราไม่ได้อยากขายแมส เพราะอยากทำให้ลูกค้ารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ หวังว่าจะขายได้ 1-2 หมื่นตัวปีนี้ พรีเมียมเป็นตลาดที่ดี เป็นบลูโอเชียน เราต้องการเป็นผู้นำในการเปิดเทรนด์ใหม่ของตลาด เทรนด์ของผู้ใช้วันนี้คือมือถืออย่างเดียวไม่พอ อยากมีอุปกรณ์ที่ใช้เฮฟวี่เวตมากขึ้น และต้องการใช้ได้ทุกที่”
ด้วยไลฟ์สไตล์คนไทยที่ชื่นชอบความเป็นเกาหลี จีรภา ระบุว่า ยอดจำหน่าย LG Gram ในช่วงทดลองขายปีแรกที่ยังไม่ได้ทำการตลาดนั้นอยู่ที่หลักต่ำกว่า 5 พันเครื่อง แต่ในช่วง 2 เดือนของปีนี้ที่เริ่มทำการตลาดมา ยอดจำหน่ายได้ก้าวกระโดดไปเกิน 5 พันเครื่องแล้ว โดยลูกค้าจะสามารถใช้บริการจากศูนย์ซ่อมของแอลจี บนเกณฑ์บริการหลังการขายระดับพรีเมียมด้วยการการันตีรับบริการไม่เกินข้ามวัน
“การเปิดธุรกิจแล็ปท็อปในไทยทำให้แอลจีปรับเพิ่มงบการตลาดมากขึ้น 30% ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท โดยจะทำการตลาดแบบ 360 องศา ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการใช้พื้นที่สื่อในเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นเมื่อขับรถไปท่องเที่ยว”