xs
xsm
sm
md
lg

โอกาส-ความท้าทาย "AIS Fibre" บนเป้าหมายขึ้นสู่เบอร์ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การก้าวขึ้นมาเป็นที่ 3 ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านของเอไอเอส ไฟเบอร์ (AIS Fibre) ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญที่จะขึ้นไปเขย่าความเป็นผู้นำตลาดเน็ตบ้านของคู่แข่งหลักที่ขับเคี่ยวกันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

โดยปัจจุบันพื้นที่ให้บริการของ AIS Fibre นั้นครอบคลุมเพียง 50% เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ดังนั้น การที่วางเป้าหมายไว้สิ้นปีที่ 2.2 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งราว 19-20% นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป แต่ความท้าทายของ AIS Fibre จะอยู่ที่การไล่ตามทั้งในแง่ของพื้นที่ให้บริการที่ต้องเร่งให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับการเพิ่มคุณภาพในแง่ของการให้บริการหลังการขายด้วย

ธนิตย์ ชัยยะบุญธนิตย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวถึงภาพรวมตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาคนไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านราว 58.5% จาก 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

ขณะที่ในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งตลาดจะอยู่ที่ราว 13.76 ล้านครัวเรือน ซึ่งอัตราการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของตลาดจะอยู่ที่ราว 8-13% ในขณะที่ AIS Fibre สามารถเติบโตราว 30% นับเป็นการเติบโตที่เหนือตลาด จนทำให้ล่าสุดแซงหน้า NT Broadband ขึ้นมาเป็นเบอร์ 3 ในตลาด

ข้อมูลในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 พบว่า AIS Fibre มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 1.97 ล้านราย ในขณะที่ True Online ยังคงเป็นผู้นำด้วยฐานลูกค้าราว 4.8 ล้านราย ในขณะที่ 3BB มีลูกค้าราว 3.71 ล้านราย ส่วนข้อมูลจาก NT ล่าสุดจะใกล้เคียงกับ AIS Fibre ที่ 1.97 ล้านรายเช่นเดียวกัน

“สำหรับรูปแบบ และพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของคนไทยนั้น ยังพบว่าช่วงเวลากลางวันยังมีรูปแบบการใช้งานทั้งจากที่บ้าน และที่ทำงาน ไม่ได้มีปริมาณลดลงเหมือนในช่วงก่อนสถานการณ์แพร่ระบาด แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับรูปแบบการใช้งานแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการประชุมออนไลน์ รวมถึงเกี่ยวกับความบันเทิงยังมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ต่อเนื่องถึงปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดราว 30% เช่นเดียวกับไลฟ์สไตล์ในการใช้งานที่มีแนวโน้มใช้งานการอัปโหลดจากการทำไลฟ์สตรีมมิ่งมากขึ้น อย่างการไลฟ์ขายสินค้า หรือแม้แต่การสตรีมเกมต่างๆ

เมื่อเห็นถึงรูปแบบการใช้งานดังกล่าว สิ่งที่ AIS Fibre เร่งลงมือทำคือการขยายพื้นที่ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดอย่างการ ‘คิดนำ ทำก่อน’ ที่ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอความแปลกใหม่ในการให้บริการที่เป็นเจ้าแรกในตลาดที่ให้บริการไฟเบอร์บรอดแบนด์ 100% จนถึงการเพิ่มความเร็วในการใช้งานให้สูงถึง 2 Gbps และการันตีความพร้อมในการดูแลลูกค้าแบบ 24 ชั่วโมง

***แข่งขันสูงในพื้นที่ให้บริการใหม่

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของ AIS Fibre ในเวลานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของคุณภาพ และการให้บริการ แต่สืบเนื่องมาจากการที่เข้าสู่ตลาดทีหลัง ทำให้พื้นที่ในการให้บริการยังไม่ครอบคลุมทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทย แม้ว่าล่าสุดจะสามารถให้บริการได้ครอบคลุม 77 จังหวัดแล้วก็ตาม


ธนิตย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดเน็ตบ้านที่มีมูลค่าในแต่ละปีกว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ พื้นที่ในเมืองจะเน้นไปที่คุณภาพ และการให้บริการที่ต้องการความเสถียร และต่อเนื่องในการใช้งาน ซึ่งในจุดนี้ด้วยมาตรฐานของ AIS ทำให้มีความเข้าใจเป็นอย่างดี

ที่ผ่านมา จุดแข็งของ AIS Fibre คือการที่ AIS มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม อย่างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ลงทุนเพิ่มเพื่อให้บริการ 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยการอัปเกรดเครือข่ายใยแก้วความเร็วสูงจากเดิมที่รองรับ 10 Gbps สู่ 100 Gbps ทำให้ AIS Fibre ได้อานิสงส์ในการนำโครงข่ายดังกล่าวมาให้บริการแก่ลูกค้า ส่งผลให้สามารถให้บริการแพกเกจ 2 Gbps ที่มากับเราเตอร์ที่รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน LAN ผสมผสานกับความบันเทิงจาก AIS PLAY และพันธมิตรบริการสตรีมมิ่ง มาเสริมในระดับราคา 1,399 บาท ซึ่งปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 26 จังหวัด และมีแผนที่จะขยายเพิ่มต่อไป

กลับกันในพื้นที่ต่างจังหวัด หรือในพื้นที่ที่เพิ่งขยายไปให้บริการจะมีการแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะการทำโปรโมชันส่วนลดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมของคู่แข่ง ทำให้ต้องมีการทำโปรโมชันในลักษณะของส่วนลดลูกค้าย้ายค่ายออกมา

“การแข่งขันในส่วนของสินค้าคือความเร็วของอินเทอร์เน็ต และการแข่งขันในเรื่องของราคายังไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในเวลานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าบริการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนลดลงราว 6-7% ต่อปี ทำให้ราคาเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ราว 400 กว่าบาท โดยก่อนหน้านี้ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ราว 299 บาท แต่ในปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาเป็น 399 บาท”

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ให้บริการจึงเริ่มนำกลยุทธ์อย่างการผูกบริการเข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการมอบข้อเสนอส่วนลดค่าบริการสตรีมมิ่ง หรือคอนเทนต์ให้ลูกค้าได้รับชมเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจสมัครใช้งาน

โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของ AIS Fibre จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือเริ่มต้นสำหรับลูกค้าย้ายค่าย และลูกค้าที่ต้องการความประหยัดในการใช้งาน ตามด้วยกลุ่มหลักที่ได้อินเทอร์เน็ตความเร็ว 1 Gbps 599 บาท ก่อนขยับขึ้นเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ใช้งานแพกเกจแบบ 799 บาทขึ้นไป ขณะเดียวกัน ด้วยการที่ AIS มีฐานลูกค้าใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 45.5 ล้านราย ทำให้ในจุดนี้ AIS Fibre ยังมีโอกาสที่จะขยายการให้บริการไปยังลูกค้าในกลุ่มนี้เพิ่มเติม แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนของผู้ใช้งาน AIS Fibre ราว 80-90% จะใช้งานร่วมกับเบอร์โทรศัพท์ AIS แล้วก็ตาม

***ดีล 3BB ปลดข้อจำกัดพื้นที่ให้บริการ

แม้ว่าปัจจุบันดีลการซื้อกิจการระหว่าง AIS และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (3BB) พร้อมลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน JASIF มูลค่า 19,500 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากทาง กสทช. แต่คาดว่าถ้ามีการอนุมัติจะสามารถปิดดีลได้ภายในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566

ธนิตย์ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสกรณีที่ดีลนี้จบคือ AIS Fibre จะเข้าถึงพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีก 50% ที่เหลือ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ใช้งาน AIS กว่า 45.5 ล้านราย สามารถใช้งานเน็ตบ้านของ AIS Fibre ได้เพิ่มมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในอนาคตจะมีการรวมฐานลูกค้าของ AIS Fibre กับ 3BB เข้าด้วยกัน ก็ยังไม่ได้ส่งให้ AIS Fibre ขึ้นสู่การเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเน็ตบ้าน เนื่องจากเมื่อดูถึงยอดผู้ใช้งาน AIS Fibre ที่ 1.97 ล้านราย และลูกค้าของ 3BB ที่สร้างรายได้จะอยู่ราว 2.41 ล้านรายเท่านั้น ทำให้เมื่อรวมกันแล้วจะอยู่ที่ 4.38 ล้านราย ในขณะที่ True Online มีฐานลูกค้าอยู่ราว 4.8 ล้านราย ทำให้อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ในการแซงขึ้นไปเป็นผู้นำในตลาดนี้

***มุ่งสู่ Cognitive Telco ดูแลก่อนลูกค้ารู้ว่ามีปัญหา


สำหรับเป้าหมายในอนาคตอันใกล้ของ AIS Fibre คือการยกระดับบริการด้วยการลงทุนเทคโนโลยีที่จะมาช่วยคอยสอดส่องดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้งาน

ธนิตย์ เสริมข้อมูลถึงการก้าวเป็น Cognative Telco ของ AIS Fibre เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์หลักของ AIS ที่จะคอยดูแล และแก้ไขปัญหาก่อนที่ลูกค้าจะรู้ว่ามีปัญหาให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยบริการนี้จะเข้ามาช่วยเสริมบริการดูแลลูกค้าแบบ 24 ชั่วโมง

“การเข้าไปดูแลลูกค้าของ AIS Fibre ทั้งเรื่องของการติดตั้ง และการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันจะเสมือนลูกค้าได้ทั้งทีม AIS Fibre เข้าไปดูแล ทั้งพนักงาน ทีมงานขาย พนักงาน Call Center พนักงานหน้าร้าน ทีมงานติดตั้ง ทีมงาน support รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ที่เราพร้อมดูแลลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง”

ส่วนในอนาคตจะยกระดับขึ้นมาจากการนำความสามารถของ AI มาช่วยในการตรวจจับสัญญาณการใช้งาน เมื่อพบว่าในพื้นที่ใด หรือลงลึกไปในระดับแต่ละครัวเรือนว่ามีจุดที่สัญญาณผิดปกติ จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายในการให้บริการของ AIS Fibre ที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ‘เร็วกว่า ดีกว่า ง่ายกว่า’


กำลังโหลดความคิดเห็น