กองทุนบัวหลวงเชื่อ JASIF เปลี่ยนสปอนเซอร์เป็นผลดีต่อผู้ถือหน่วยระยะยาว ปันผล-ราคามีโอกาสเพิ่ม เงื่อนไขเลิกการันตีรายได้ และอีก 2 ข้อยอมรับได้ นักลงทุนได้กลับมามากกว่า
นายพรชลิต พลอยกระจ่าง Deputy Managing Director Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าการที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ADVANC จะเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (“TTTBB”) นั้นเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยกองทุน JASIF มากกว่าการอยู่ภายใต้เจ้าของสินทรัพย์เดิม
ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวโน้มหลังจากมีการควบรวมแล้วจะทำให้โอกาสทางธุรกิจของกองทุนเปิดกว้างมากขึ้นเนื่องจาก AIS จะมีส่วนแบ่งการตลาดของอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายใยแก้วเพิ่มขึ้นเป็น 35-36% เทียบเท่ากับผู้นำตลาดอย่างทรู และยังมีโอกาสที่ลูกค้าเครือข่ายมือถือของ AIS จะเข้ามาใช้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในอนาคตกองทุนยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจาก AIS ยังมีสินทรัพย์ที่สามารถนำเข้ามาลงทุนเพิ่มได้มากกว่าของเจ้าของเดิม
“การที่นักลงทุนบางส่วนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนเจ้าของสินทรัพย์ใหม่ทั้งๆ ที่เดิมก็มีรายได้และกำไรดีแล้วต้องบอกว่าเป็นการเข้าใจผิด ซึ่งเรามาวิเคราะห์แล้วพบว่าแนวโน้มการประกอบธุรกิจของ 3BB นั้นมีต้นทุนสูงกว่าค่ายอื่น และในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการจ่ายค่าเช่าได้ โดยถ้าดูงบการเงินดีๆ จะเห็นว่าเมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วรายได้ที่เข้ามาก็แทบจะพอๆ กัน การเปลี่ยนสปอนเซอร์ในครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนในระยะยาวมากกว่า”
ส่วนที่นักลงทุนมีความกังวลว่าจะมีการแก้เงื่อนไขสัญญาเดิมของกองทุนเรื่อง 1.1 ขอยกเลิกข้อห้ามแข่งขัน 1.2 การยกเลิกสัญญาการประกันรายได้ค่าเช่าและการลดค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสง (OFCs) ที่อยู่ในวาระที่ 1.3 การยกเลิกสัญญาบัญชีธนาคารนั้น จากการพูดคุยเบื้องต้นมองว่าการแก้ไขเรื่องการยกเลิกการแข่งขันนั้นเนื่องจาก AIS จำเป็นจะต้องขยายเครือข่ายมือถือ และถ้ามองในเรื่องต้นทุนในการวางระบบใยแก้วใหม่ที่สูงแล้วเชื่อว่า AIS คงไม่ทำถึงแม้จะมีศักยภาพที่จะทำได้ภายใน 2 ปีก็ตาม
ส่วน 2 เรื่องที่เหลือนั้น การยกเลิกสัญญาประกันรายได้ค่าเช่า และสิทธิในการต่อสัญญา 10 ปีนั้น ในส่วนของรายได้จะถูกทดแทนด้วยการต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 5 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วผู้ถือหน่วยจะได้ผลตอบแทนดีขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนสิทธิการต่อสัญญานั้นก็เป็นไปได้ยากด้วยเช่นกันเนื่องจากรายได้ยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
“ถ้าดูรายได้ตอนนี้ 1.8 หมื่นล้านจะไปให้ถึง 4 หมื่นล้านตามออปชันคงต้องโตปีละ 10% แต่ตอนนี้มันโตแค่ 2-3% ทำให้การเติบโตค่อนข้างยาก และรายได้ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังเป็นไปได้ ส่วนผลตอบแทนตอนนี้ DPU จะได้สูงกว่า ซึ่งก่อนจะมีดีลนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.5% ซึ่งตอนนี้ถ้าดูแล้ว 0.79 สตางค์ที่ราคา 8 บาท ผลตอบแทนมันก็เกือบ 10%”
นอกจากนี้ การที่ AIS จ่ายเงินให้อีกปีละ 1 พันล้านบาทที่น่าจะนำมาเป็นเงินจ่ายลงทุน รวมถึงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของกองทุนจากการเปลี่ยนเจ้าของเป็น AIS อีก 50 สตางค์ และขยายเวลาชำระหนี้อีก 2 ปีจะทำให้กองทุนมีภาระลดลงก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกองทุนและผู้ถือหน่วยมากกว่า
การที่นักลงทุนกังวลว่าหากมีการเปลี่ยนสัญญาจะทำให้ราคาหน่วยลงทุนปรับลดลงไปอีกนั้น มองว่าที่ผ่านมาการที่ราคาลงไปส่วนหนึ่งมาจากภาวะตลาดซึ่งนักลงทุนวิตกกังวลแต่สุดท้ายแล้วถึงแม้ราคาดีลนี้จะต่ำกว่าตลาดที่ 8.5 บาทนั้น หลังจบดีล
ราคาอาจขยับขึ้นไปได้เช่นกัน ถ้าดีลนี้ทำให้ได้รับปันผลตามที่นำเสนอเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของหุ้นอื่นในตลาด