xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสยันภาครัฐต้องการดาวเทียมใช้งาน เตรียมส่งหนังสือแจ้งความจุที่ต้องใช้ต่อ กสทช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอสยันต้องการดาวเทียมรับลูกค้าดวงเก่า และความต้องการรัฐ ทั้งบรอดแคสและบรอดแบนด์ หลังดูเงื่อนไขการประมูลแล้วสัดส่วนแบ่งให้รัฐไม่เพียงพอต่อความต้องการ จ่อส่งหนังสือแจ้ง กสทช.ถึงความต้องการใช้งาน ชี้ กสทช.ต้องประมูลก่อนสิ้นปีก่อนดาวเทียมตกปี 2566 หวั่นการเมืองมีผลกระทบทำล่าช้า มั่นใจ NT บริหารได้ ยันการควบรวมกันเป็นเรื่องดี หากทำตามแผนที่ว่าจ้างที่ปรึกษา แต่องค์กรกลับไม่เดินไปไหน

น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสอยู่ระหว่างทำหนังสือแจ้งความจำเป็นใช้งานดาวเทียมของภาครัฐ ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคง ตามมติของคณะกรรมการกิจการอวกาศ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

หลังจากที่ กสทช.ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพกเกจ) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) วันที่ 30 ส.ค.2565 และปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา และ กสทช.มีกำหนดการเปิดประมูลในปลายปีนี้

ดังนั้น คณะทำงาน และกระทรวงดีอีเอสต้องส่งหนังสือแสดงความต้องการเพื่อร่วมประมูล วงโคจรดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการประมูลเอง และการร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะการประมูลให้ชัดเจน ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ให้เป็นผู้บริหารกิจการดาวเทียมของชาติ ซึ่งขณะนี้วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก หรือไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ที่ได้รับทรัพย์สินหลังจากหมดสัญญาสัมปทานมาจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) อายุทางวิศวกรรมจะใช้ได้ถึงปี 2566 โดยอาจจะยืดอายุเวลาออกไปได้ 3 ปี ได้เพื่อรอการสร้างดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทนดวงเดิม และไม่ต้องการให้เลื่อนอีกเพราะหากดาวเทียมตกจะสร้างความเสียหายกับผู้ใช้งาน และหากเลื่อนไปอีกเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะส่งผลต่อการประมูล

ทั้งนี้ ในร่างประกาศประมูลดาวเทียมดังกล่าว ข้อ 30 ระบุว่าให้ผู้ชนะการประมูลแบ่ง 1 ช่องสัญญาณ (ทรานสปอนเดอร์) ให้ภาครัฐใช้เพื่อความมั่นคงและประโยชน์สาธารณะ และหากเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ต้องแบ่งความจุให้รัฐ 1% หากดาวเทียมมีขนาด 100 GB แบ่งมา 1% ให้รัฐใช้ 1 GB แต่ไทยคม 4 มี 45 GB หากแบ่ง 1% จะได้เพียง 0.45 GB ไม่เพียงพอ เพราะรัฐใช้งานอยู่ที่ 0.80 GB

ต่อข้อถามที่ว่า ศักยภาพของ NT จะสามารถบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติได้หรือไม่นั้น น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ถ้าเป็น กสท โทรคมนาคม เดิม เชื่อว่าทำได้ แต่เมื่อมีการควบรวมกิจการกัน และกลับไม่ได้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาทำงานก่อนหน้านั้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้หลายคนมองว่าไม่ควรมีการควบรวมกันนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะทุกวันนี้เราได้เห็นความพยายามในการควบรวมของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และการซื้อกิจการของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กับบริษัท ทริปเปิล ทรี บรอดแบนด์ จำกัด หรือ 3BB นั่นแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีถูกดิสรัปชันมากจนทำให้เอกชนต้องหาแนวทางการอยู่รอดทางธุรกิจเพื่อให้บริษัทตัวเองสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้

แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือการควบรวมทีโอที และกสท โทรคมนาคม มาเป็น NT กลับไม่สามารถดำเนินธุรกิจใดๆ ได้เลยโดยเฉพาะในธุรกิจ 5G ซึ่ง กสท โทรคมนาคม ในขณะนั้น ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ทีโอทีประมูลได้คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ก็ยังไม่สามารถหาผลประโยชน์หรือทำตลาดหาลูกค้าใดๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ดีอีเอสออกแรงเข็นเต็มที่จนไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไรแล้ว

"เรายืนยันเสมอว่าแนวทางการควบรวมธุรกิจโดยเฉพาะทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เป็นสิ่งที่ตัดสินใจถูกต้องแล้ว แต่ความผิดเรื่องนี้ต้องโทษว่าเป็นที่คนของ 2 องค์กรเองที่ยังไม่ยอมผลักดันหรือเอาจริงใดๆ บอกได้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย"


กำลังโหลดความคิดเห็น