กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นับเป็นกระทรวงที่ใช้ปลัดเปลืองพอๆ กับตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ผ่านมาก่อนที่ “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” มานั่งเป็นปลัดจนครบวาระ 4 ปี และได้รับการต่ออายุอีก 1 ปี จนครบเกษียณอายุนั้น ไม่เคยมีปลัดคนไหนนั่งอยู่ในตำแหน่งครบวาระเลย และเธอยังเป็นปลัดที่มาจากคนนอกกระทรวง มาจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อมาปลุกปั้นกระทรวงดีอีเอสตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรฐกิจและสังคม 5 ปี (ปี 2561-2565) ได้ครบตามแผนพอดี
“สิ่งที่ภูมิใจสำหรับการทำงานปลัดคือการอยู่จนครบวาระ เพราะหลังจากมีการรัฐประหาร เมื่อ พ.ค.2557 มาถึง ต.ค.2560 ในเวลาเพียง 3 ปีกว่าๆ มีการเปลี่ยนปลัดกระทรวงถึง 5 คน การที่เราอยู่มา 5 ปี ทำให้ได้เดินตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีได้สำเร็จ มีหลายเรื่องที่เราเริ่มต้น นึกว่าจะจบแต่ก็ไม่จบ การเริ่มต้นทำให้ต้องทำต่อเนื่องในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ปลัดคนใหม่ก็ต้องสานต่อสิ่งนี้ต่อไป” อัจฉรินทร์ กล่าว
เธอเล่าต่อว่า ช่วง 2 ปีแรกหมดไปกับการผลักดันนโยบายของรัฐบาล คือ “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ Digital Economy ตามแผนพัฒนาดิจิทัล ด้วยการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ที่ต้องเสร็จ ภายใน 18 เดือน และโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เกตเวย์) สู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน และต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้สู่คนในพื้นที่ สร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้งานให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ ยังออกกฎหมายดิจิทัลต่างๆ รวมถึงการตั้งสำนักงานใหม่ตามกฎหมายใหม่ที่ตั้งขึ้น ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 รวมถึง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2562 ต้องมีการปรับใหม่หลายเรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จใน 2 ปี เช่นกัน แต่ยังต้องมีการออกกฎหมายลูกตามมาอีกหลายฉบับ
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การควบรวมกิจการของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT อันเป็นความต้องการของพนักงานเองที่ต้องอยู่รอดหากในปี 2658 คลื่นความถี่หมด ซึ่งในช่วงปี 2561-2562 มีปัญหาเรื่องปรับโครงสร้างของทั้ง 2 บริษัท ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จนสามารถนำเรื่องเข้า ครม. และมีมติในควบรวมเมื่อ ม.ค.2563 หากถามว่าตอนนี้มีคนบอกว่าไม่ควรควบรวมเลย ตนไม่ขอรับคำนี้ เพราะหลังจากที่ NT เกิด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ก็ต้องการรวมธุรกิจกัน เพราะเห็นทิศทางว่าอาจไม่รอดหากยังอยู่แบบเดิม นอกจากนี้ ยังเห็นการซื้อกิจการของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กับบริษัท ทริปเปิล ทรี บรอดแบนด์ จำกัด หรือ 3BB
“อัจฉรินทร์” กล่าวว่า อีกเรื่องที่ต้องทำตามหน้าที่คือ การแก้ปัญหาเรื่อง “ดาวเทียมไทยคม” ที่ต้องทำตามมติ ครม.ให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 อยู่ในระบบสัมปทาน จนทำให้เกิดข้อพิพาทกับเอกชน ร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ และยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ถือเป็นการทำงานที่เร็ว รวมถึงการเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ทำให้ดาวเทียมไทยคม 5 หมดอายุทางวิศวกรรมก่อนกำหนด และเรื่องที่ปลัดคนใหม่ต้องทำต่อคือการดำเนินนโยบายดาวเทียมแห่งชาติซึ่งจะมีการประมูลในช่วงสิ้นปีนี้
ส่วนเรื่องที่หนักใจและต้องเร่งแก้ปัญหาให้ปลัดคนต่อไป “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง 1 ต.ค.นี้ สานต่อคือ ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งทางรัฐบาล และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส คนปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะสร้างความเสียหายให้ประชาชนอย่างมาก อย่างที่เป็นข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งหากมีกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล บังคับใช้ เชื่อว่าปัญหาจะลดลง ใครก็ตามที่เป็นแพลตฟอร์มไม่ได้จดทะเบียนในไทยแต่ให้บริการในประเทศไทยต้องมาจดแจ้งเพื่อยืนยันตัวตน