xs
xsm
sm
md
lg

AIS พา 5G สู่ระดับโลก ผนึก ZTE ตั้งศูนย์นวัตกรรม 5G ในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


AAU ที่ถูกพัฒนาขึ้นรองรับคลื่น mmWave 1200 MHz และ AAU 2600 MHz รุ่นใหม่
ในยุคที่การให้บริการทางด้านดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย รวมถึงสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันไปสู่ตลาดโลกนั้น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลโดยเฉพาะ 5G และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงจึงกลายเป็นรูปแบบการเชื่อมต่อที่จะช่วยยกระดับศักยภาพให้เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา การพัฒนานวัตกรรม 5G ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายในไทย ร่วมกับฝ่ายของสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนต่างๆ ที่สนใจนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งาน จนถึงการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้งานเพื่อรับกับความต้องการของแต่ละภาคอุตสาหกรรม

แต่จากความร่วมมือล่าสุดในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม 5G ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กับทางแซตทีอี คอร์ปอเรชั่น หรือ ZTE ได้ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นไปอีกขั้น จากการทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของผู้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก และทีมงานวิศวกรของ AIS ในไทย

โดย ‘ศูนย์นวัตกรรม 5G A-Z Center’ เกิดขึ้นจากการลงทุนร่วมกันระหว่าง ZTE และ AIS ที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้รองรับการใช้งานในประเทศไทย ทั้งในส่วนของ 1.การพัฒนาสถานีฐาน 5G รุ่นใหม่ 2.การนำ Use Cases จากพันธมิตรทั่วโลกมาเชื่อมโยงกับภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทย และ 3.การนำดีไวซ์คุณภาพสูงที่รองรับ 5G เข้ามาทำตลาด

ปัจจุบัน ZTE นับเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการอุปกรณ์โทรคมนาคมแก่ AIS โดยเฉพาะการดูแลติดตั้งสถานีฐานเครือข่าย 4G-5G ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีขนาดกว้างขวางมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้ต้องมีการปรับปรุงสถานีฐานให้รับกับรูปแบบภูมิประเทศ และพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยอย่างต่อเนื่อง


ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า การร่วมมือระหว่าง AIS และ ZTE คือการสร้างโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการลงทุนดิจิทัลทั้งไร้สาย 5G และการลากสายไฟเบอร์บรอดแบนด์ไปทั่วประเทศไทย

“ด้วยการที่โครงข่าย 5G ของ AIS ปัจจุบันครอบคลุม 80% ของพื้นที่ประชากร โดยมีจำนวนลูกค้าใช้งาน 5G อยู่ราว 4 ล้านราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขยับขึ้นมาเป็น 5 ล้านราย จากจำนวนทั้งตลาดราว 8 ล้านราย”

ปรัธนา ระบุต่อว่า ในวันที่ประเทศไทยออกจากสถานการณ์โควิด-19 และรับรู้ถึงความสำคัญของการมีเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือการทรานส์ฟอร์มไปสู่อนาคต ไม่ได้มีแค่โครงข่ายเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรม ผลักดันให้เกิดการนำโซลูชันไปใช้งานเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้ศักยภาพมากกว่าแค่ความเร็วของเครือข่าย แต่เป็นเรื่องของการตอบสนองทันที (realtime) และการควบคุมอัจฉริยะ (Intelegence Control)

ไม่ใช่แค่ในมุมของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ เพราะในมุมของผู้บริโภคทั่วไปการนำอุปกรณ์ลูกข่าย 5G ยุคใหม่เข้ามาให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ของการสื่อสารในมิติของอนาคตก็นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญจากความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากนั้น A-Z Center จะกลายเป็นพื้นที่ให้พันธมิตรทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมสัมผัสเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัป ในการเข้ามาทดสอบใช้งานเครือข่ายในทุกย่านความถี่ที่ให้บริการในประเทศไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานให้เหมาะสม

***ร่วมพัฒนาอุปกรณ์เครือข่ายประสิทธิภาพสูง

จาง ว่านชุน รองประธานอาวุโส ZTE และประธานฝ่ายเครือข่ายไร้สาย กล่าวเสริมในมุมของ ZTE ว่า ในฝั่งของการเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย จะเปรียบเหมือนการสร้างถนนเส้นสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปยังเศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วขึ้น

รถ AGV ที่สามารถใส่ซิม 5G ใช้งานได้
ขณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ดิจิทัลได้อย่างมั่นคง ทาง ZTE จึงได้เข้ามาทำงานร่วมกับ AIS อย่างใกล้ชิดในการพัฒนาอุปกรณ์เครือข่ายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับกับรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการสร้างประสบการณ์ใช้งานที่หลากหลายแก่ลูกค้า

หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาสถานีฐานแบบ AAU (Active Antenna Unit) ที่รองรับการทำงานบนคลื่นความถี่ย่านสูง (mmWave) ที่ AIS ถือครองคลื่น 26 GHz แบนด์วิดท์ 1200 MHz เป็นครั้งแรกของโลก เพื่อให้สามารถดึงประสิทธิภาพและการทำงานของ 5G ออกมาได้อย่างเต็มที่

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS ให้ข้อมูลว่า AIS มีแผนที่จะเปิดให้บริการ 5G mmWave ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจากการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อสูง ความหน่วงต่ำ เพื่อให้สามารถควบคุมอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำมากที่สุด

รวมถึงมีแผนก่อนหน้านี้ ที่ต้องการขยาย 5G ไปให้บริการ Fixed Wireless Broadband ในอนาคต จากขีดความสามารถของแบนด์วิดท์ปริมาณสูงที่เพียงพอรับกับการใช้งานของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ยังร่วมกันพัฒนา RIS หรือ Reconfigurable Intelligent Surface หรืออุปกรณ์ที่ช่วยสะท้อนสัญญาณ 5G mmWave ที่แต่เดิมมีข้อจำกัดในการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ระยะใกล้และไม่สามารถทะลุทะลวงผ่านสิ่งกีดขวางได้ให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของสถานีฐาน 5G บนคลื่น 2600 MHz ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่แล้วในปัจจุบัน ด้วย AAU รุ่นใหม่ ที่หันมาใช้ชิปเซ็ตบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตร ทำให้ลดการใช้พลังงานลง 50% แต่สามารถรองรับปริมาณการเชื่อมต่อได้เพิ่มขึ้นถึง 50% ซึ่งทาง AIS จะทยอยอัปเกรดเข้ากับสถานีฐานที่ติดตั้งแล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

***สร้างแพลตฟอร์ม 5G เพื่อภาคอุตสาหกรรม


อีกจุดที่น่าสนใจคือ การเปิดตัว AIS 5G NextGen Platform ที่มาในลักษณะของแพลตฟอร์มที่เป็นมาร์เก็ตเพลสในการรวบรวม Use Case และโซลูชันที่น่าสนใจของแต่ละอุตสาหกรรมมานำเสนอ ภายใต้จุดแข็งของเครือข่าย 5G ที่มีความหน่วงต่ำ (Low Latency)

โดยจากความสามารถของแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยใน 3 ส่วนหลักๆ คือ ลดระยะเวลาในการติดตั้ง (Agile) จากก่อนหน้านี้ที่ต้องใช้เวลา 4-6 เดือน เหลือเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible) และเปิดโอกาสให้สามารถขยายการใช้งานเพิ่มเติม (Scalable) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยคุมต้นทุนในการลงทุนช่วงแรกได้ต่ำลง 20-50%


จุดเด่นหลักของแพลตฟอร์มนี้ คือ การนำความสามารถของ Edge Computing เข้ามาผสมผสานกับการเชื่อมต่อ 5G และ Cloud Computing ด้วยการรวมเข้ามาเป็นโซลูชันเดียวในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งการนำเครือข่าย 5G มาใช้งาน เชื่อมต่อกับ Edge Compute ที่อยู่ใกล้กับสถานที่ใช้งาน เพื่อให้ได้การประมวลผลที่รวดเร็ว และสามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว ในระดับ 10ms จนถึงการเชื่อมต่อไปยังมัลติคลาวด์ เพื่อการประมวลผลเชิงลึกที่สมารถขยายขนาดการประมวลผลเพิ่มเติมได้

“เมื่อมีความสามารถเหล่านี้ จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมได้แอปพลิเคชันที่ทำงานได้รวดเร็ว ตอบสนองการใช้งานได้เร็วขึ้น อย่างการนำ 5G ไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรม อย่างรถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่สามารถใส่ซิม 5G เข้าไป เพื่อรับคำสั่งในการทำงานได้ทันที”


ยังมีในส่วนของ Machine Vision ในการนำ AI มาช่วยประมวลผลวิดีโอให้มีความใกล้เคียงกับการทำงานของมนุษย์ ทั้งการตรวจจับวัตถุ ตำแหน่ง วัดขนาด จนถึงการตรวจจับการเคลื่อนไหว ก่อนส่งข้อมูลมาแจ้งเตือนได้ทันที

ต่อยอดไปจนถึงการนำ XR (Extended Reality) ที่ผสมผสานโลกของจริงเข้ากับวัตถุ สภาพแวดล้อมดิจิทัลต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานที่หลากหลาย อย่างการทำเทรนนิ่งในภาคการผลิตระยะไกล จนถึงการซ่อมบำรุงต่างๆ และ Holographic ที่นำการแสดงภาพสามมิติมาปรับใช้กับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งศักยภาพของเครือข่าย 5G ในปัจจุบันรองรับการใช้งานแล้ว

***ZTE กลับมาบุกตลาดสมาร์ทโฟน

สำหรับในฝั่งของผู้บริโภค ทาง ZTE ได้มีการประกาศถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้ามาลงทุนทุ่มงบประมาณในการทำตลาดสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เชื่อมต่อเน็ตเวิร์กในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ และการขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติมจากที่ทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในปัจจุบัน

เนื่องจากรูปแบบการทำตลาดสมาร์ทโฟนของ ZTE ในปัจจุบันคือการทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ ในลักษณะของการผลิตเครื่อง OEM จนทำให้ ZTE มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 30% แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ ZTE เตรียมกลับมาทำตลาดภายใต้แบรนด์ตัวเองอีกครั้ง

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS ให้ข้อมูลเพิ่มว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ZTE จะเริ่มนำสมาร์ทโฟนในกลุ่มของ Blade A72 เข้ามาทำแบรนด์ร่วมกับ AIS 5G ในการเป็นสมาร์ทโฟน 5G ราคาคุ้มค่ามากที่สุดในตลาด โดยจุดเด่นของสมาร์ทโฟน ZTE คือเรื่องของคุณภาพระดับพรีเมียม ในระดับราคาที่จับต้องได้ ซึ่งนอกจากในตระกูล Blade แล้ว ยังมีในซีรีส์ที่น่าสนใจอย่าง Axon สมาร์ทโฟนที่ฝังกล้องหน้าไว้ใต้จอรุ่นแรกของโลก หรือแม้แต่ Redmagic ที่พัฒนาออกมาจับตลาดเกมเมอร์โดยเฉพาะ


นอกจากนี้ ยังมีการนำอุปกรณ์เชื่อมต่อ 5G เสริมอย่าง Pocket WiFi และเราเตอร์ โมเด็ม 5G ที่มีความพิเศษคือสามารถเลือกจับสัญญาณทั้งแบบ NSA (Non Stand Alone) หรือเชื่อมต่อทั้ง 4G และ 5G พร้อมกัน กับ SA (Stand Alone) เพื่อจับสัญญาณเฉพาะ 5G


กำลังโหลดความคิดเห็น