หลายฝ่ายชี้ไม่น่ามีใครหยุดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งประวัติศาสตร์ที่คาดน่าจะชนะกัน 3 ต่อ 2 เสียงได้ ท่ามกลางสภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องให้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ในฐานะตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภค ต้องออกมาแสดงจุดยืนสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้วยการทำหน้าที่คุ้มครองและรักษาประโยชน์ผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง พร้อมเตรียมเปิด 14 มาตรการที่เป็นเงื่อนไขให้ควบรวมกิจการ
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาฯ ต้องการให้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภคออกมาสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเรื่องการควบรวมของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ด้วยการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มแข็งและรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค เหมือนจุดยืนของสภาฯ ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค เพราะการควบรวมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างน้อยทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้นโดยเฉลี่ยจากการคาดการณ์ 12% หรืออาจจะไปสูงสุดถึง 244%
เมื่อมีผลกระทบต่อผู้บริโภค สภาฯ ในฐานะตัวแทนต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากนี้สำนักงาน กสทช.มีการถูกตั้งคำถามว่ามีการว่าจ้างที่ปรึกษาคือ บริษัทฟินันซ่า ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาอิสระแต่กลับพบว่าผู้ถือหุ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการควบรวม รวมถึงเรื่องที่สำนักงาน กสทช.เคยออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง 5 ประการของการควบรวม แต่กลับถูกเผยแพร่ได้แค่วันเดียวก็หายไป
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังมีความพยายามตีความหนังสือของกฤษฎีกาว่าอำนาจควบรวมเป็นของสำนักงานไม่ใช่คณะกรรมการ กสทช. จึงทำให้ประชาชนสับสนและกังวลถึงความเป็นกลางของสำนักงาน จึงอยากให้ประธาน กสทช.พิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรที่จะทำให้เกิดความมั่นใจกับผู้บริโภคในฐานะที่ประธาน กสทช.เป็นตัวแทนของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม สภาฯ เชื่อว่าจะมีการอนุมัติให้ควบรวมเพราะได้ทราบมาว่ามีการออกมาตรการ 14 ข้อที่เป็นเงื่อนไขให้ควบรวมกิจการแล้ว ซึ่งในวันอังคารที่ 27 ก.ย.นี้ สภาฯ จะนำเสนอ 14 มาตรการอ่อนยวบในการคุ้มครองผู้บริโภคหลังจากอนุญาตให้ควบรวมต่อสาธารณชน ซึ่งสำนักงาน กสทช.เองต้องมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวด้วย
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีที่สภาฯ มองว่าประธาน กสทช.มาจากด้านคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ต้องชี้แจงว่าเมื่อท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานภารกิจในการทำงานจึงต้องดูในหลายเรื่อง ไม่ได้มีเวลามาโฟกัสแค่ด้านเดียว ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งให้ตนเองเป็นประธานอนุกรรมการด้านผู้บริโภคเพื่อดูแลเรื่องนี้แทน ส่วนมาตรการ 14 ข้อที่สภาฯ กล่าวว่าได้เห็นและพร้อมจะเปิดเผยในวันที่ 27 ก.ย.นั้น ไม่แน่ใจว่าเนื้อหาที่สภาฯ มีตรงกับที่สำนักงานมีหรือไม่
สำหรับมาตรการ 14 ข้อที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น มีมาตรการแรกที่เกี่ยวข้องกับการถือครองคลื่นความถี่ เป็นเพียงการกำชับแก่ผู้ขอรวมธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ซึ่งบังคับใช้อยู่แล้วโดยไม่ให้มีการใช้คลื่นความถี่รวมกัน และไม่มีการเรียกคืนคลื่นแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องเพดานการถือครองคลื่นความถี่ มีเพียงการกำหนดเฉพาะตอนประมูลคลื่นเท่านั้น สำนักงาน กสทช.อาจพิจารณาในอนาคตในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ผ่านการประมูลได้ผ่านกลไกต่างๆ เช่น set- aside คลื่นความถี่หรือการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ในอนาคตแทน
และมาตราที่ 11 การส่งเสริมการแข่งขันเพิ่มผู้ให้บริการ MNO โดยกำหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอรวมธุรกิจและจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่เป็นการเฉพาะ กำหนดให้มีการกระจายการ ถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และควรกำหนดรายละเอียดการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนรวมธุรกิจเพื่อจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่และดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างช้าภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่สามารถทำสัญญาโรมมิ่งกับผู้ขอรวมธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายเดิมได้จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ
ข้อกังวลคือ หากมีการกำหนดให้ผู้ขอควบรวมต้องควบคุมคุณภาพเรื่องโรลเอาตฺ เรื่องค่าบริการที่ต่ำลง ดังนั้นจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอในการให้บริการและอาจมีประเด็นทางกฎหมายเนื่องจากมีการชำระเงินประมูลและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ไปแล้ว และอาจไม่มีผู้สนใจเป็นผู้ให้บริการ MNO รายใหม่และทำให้ไม่เกิดประโยชน์จากคลื่นความถี่ ผู้ให้บริการรายใหม่อาจไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันนำไปสู่การขายกิจการให้ผู้ให้บริการรายเดิมในตลาด
ส่วนมาตรการที่เหลือเป็นเพียงมาตรการพื้นฐาน ได้แก่ มาตรการที่ 2 ในระยะเวลา 3 ปี ไม่มีการรวมธุรกิจกันและยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน มาตรการที่ 3 การสนับสนุน MVNO ทั้งทรูและดีแทคต้องแบ่งความจุของคลื่นให้ 20% จากเดิมที่กำหนด 10% มาตรการที่ 4 ควบคุมค่าบริการตามประกาศ กสทช. มาตรการที่ 5 ควบคุมคุณภาพบริการ มาตรการที่ 6 คงสัญญาบริการกับลูกค้าไว้เหมือนเดิม มาตรการที่ 7 กำหนดความครอบคลุมของโครงข่าย มาตรการที่ 8 เปิดให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้โครงข่ายร่วมกัน มาตรการที่ 9 ประชาสัมพันธ์เรื่องควบรวม มาตรการที่ 10 ให้รายงานการควบรวมรายไตรมาสช่วง 3 ปีแรก มาตรการที่ 12 กำหนดเงื่อนไขการตั้งคณะกรรมการบริษัทย่อย NEwCo มาตรการที่ 13 กำหนดให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมและมาตรการ 14 ให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ใช้บริการ
*** ส่อง 14 มาตรการ
มาตรการที่ 1 การถือครองคลื่นความถี่ ข้อเสนอของสำนักงานเห็นควรให้ทรู และดีแทค ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกันเพื่อให้บริการได้และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช.อย่างเคร่งครัด
ความเห็นของสำนักงานภายหลังประมวลความเห็นที่ได้รับสำนักงาน กสทช.เห็นควรให้เพียงมีการกำชับแก่ผู้ขอรวมธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ซึ่งบังคับใช้อยู่แล้วโดยไม่ให้มีการใช้คลื่นความถี่รวมกันและไม่มีการเรียกคืนคลื่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช.อาจพิจารณาในอนาคตในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ผ่านการประมูลได้ผ่านกลไกต่างๆ เช่น set- aside คลื่นความถี่ หรือการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่
มาตรการที่ 2 การคงทางเลือกของผู้บริโภคข้อเสนอของสำนักงาน กสทช.กำหนดให้ทรูและดีแทค ไม่มีการรวมธุรกิจกันและยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3 ปี
มาตรการที่ 3 การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยกำหนดให้ทรู และดีแทค ต้องจำหน่าย capacity ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ mvno โดยอาจกำหนดเป็น 20% ของความจุของโครงข่ายตนเอง ซึ่งมากกว่าเงื่อนไขปกติที่กำหนดที่ 10%
ความเห็นของสำนักงานอาจพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ 1.การเพิ่มจำนวนหรือคงจำนวน mvno ในตลาด เช่น การกำหนดให้ก่อนรวมธุรกิจหรือแหล่งรวมธุรกิจต้องทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการ mvno ที่ไม่ได้อยู่ในเครือของผู้รวมธุรกิจจำนวนอย่างน้อย 1-2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิด mvno และทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดมากขึ้นทันที อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิด mvno ที่ไม่มีความพร้อมในการให้บริการแต่เข้าสู่ตลาดด้วยสภาพบังคับของมาตรการซึ่งท้ายสุดไม่สามารถแข่งขันได้และต้องออกจากตลาดไปในที่สุด
2.การกำหนดให้การขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ประกอบกิจการ mvno ต้องคิดค่าตอบแทนตามปริมาณที่ใช้จริงเพื่อลดภาระและความเสี่ยงในการให้บริการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ซึ่งหาก mvno สามารถซื้อบริการในปริมาณที่สอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการของตนเองแล้วจะเป็นการลดต้นทุนและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ mvno สามารถแข่งขันและคงอยู่ในตลาดได้
มาตรการที่ 4 การกำหนดอัตราค่าบริการ ทรูและดีแทค ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช.อย่างเคร่งครัด
มาตรการที่ 5 คุณภาพในการให้บริการ 1.ทรูและดีแทค ต้องไม่ลดจำนวนเซลล์ไซส์ของทั้ง 2 บริษัทลงจากเดิมเพื่อรักษาคุณภาพ 2.กำหนดให้ทั้ง 2 บริษัทมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เช่น เจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการและพนักงานรับสาย รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการ
มาตรการที่ 6 สัญญาการให้บริการ เห็นควรให้ทรูและดีแทค ต้องคุมไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทของผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา
มาตรการที่ 7 ความครอบคลุมของโครงข่ายกำหนดความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G เช่นให้มีความครอบคลุมโครงข่าย 5G มากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรภายใน 5 ปี
มาตรการที่ 8 การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ให้ทรูและดีแทค เปิดให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองและจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของ กสทช.อย่างเคร่งครัด
มาตรการที่ 9 การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการภายหลังการควบรวมธุรกิจ
มาตรการที่ 10 การติดตามผลการดำเนินการและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นหลังควบรวมธุรกิจ กำหนดให้รายงานเป็นรายไตรมาสอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี
มาตรการที่ 11 การส่งเสริมการแข่งขันเพิ่มผู้ให้บริการ mno กำหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอร่วมธุรกิจและจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ mno รายใหม่เป็นการเฉพาะ กำหนดให้มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและควรกำหนดรายละเอียดการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนรวมธุรกิจเพื่อจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่และดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างช้าภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ mno รายใหม่สามารถทำสัญญาโรมมิ่งกับผู้ขอรวมธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายเดิมได้จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ
ข้อกังวลคือ หากมีการกำหนดให้ผู้ขอควบรวมต้องควบคุมคุณภาพเรื่อง roll out เรื่องค่าบริการที่ต่ำลง ดังนั้น จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอในการให้บริการและอาจมีประเด็นทางกฎหมายเนื่องจากมีการชำระเงินประมูลและใช้ประโยชน์ขึ้นความถี่ไปแล้ว นอกจากนี้อาจไม่มีผู้สนใจเป็นผู้ให้บริการ mno รายใหม่และทำให้ไม่เกิดประโยชน์จากคลื่นความถี่ผู้ให้บริการรายใหม่อาจไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันนำไปสู่การขายกิจการให้ผู้ให้บริการรายเดือนในตลาด
มาตรการที่ 12 การป้องกันการครอบงำกิจการเพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ทรู หรือดีแทค ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุม NewCoได้แต่เพียงฝ่ายเดียว 1.กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคณะกรรมการ NewCo อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นของทรูและดีแทค ต่างฝ่ายไม่สามารถเสนอชื่อกรรมการได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของรายชื่อกรรมการใน NewCo ในระยะเวลา 3 ปีแรกภายหลังการรวมธุรกิจ
2.เงื่อนไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo การแต่งตั้งผู้บริหารและกรรมการบริษัทย่อยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของ NewCo โดยคณะกรรมการชุดย่อยของ NewCo จะต้องได้รับการแต่งตั้งที่สอดคล้องกับลักษณะการแต่งตั้งคณะกรรมการของ NewCo
มาตรการที่ 13 การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการใหม่และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ กสทช. ควรมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้กำหนดให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการรายอื่นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้นต้องหาเทคโนโลยีที่ทัดเทียมเข้ามาด้วย
กสทช.ควรมีบทบาทหลักกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยี
มาตรการที่ 14 การรับเรื่องและกลไกการแก้ปัญหาแก่ผู้ใช้บริการกำหนดให้ผู้ขอรวมธุรกิจต้องกำหนดให้มีกลไกในการรับเรื่องและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการหลังการรวมธุรกิจ กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายต้องจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและเผยแพร่สถิติและปัญหาร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด