“ดร.เสรี วงษ์มณฑา” มั่นใจ กสทช.เดินหน้าตามกฤษฎีกาชี้ทางออกประเด็นควบรวมทรู-ดีแทค อิงประกาศปี 61 เร่งออกเงื่อนไข สอดคล้องผลศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หาก กสทช.ดึงช้าหวั่นทุกภาคส่วนเสียประโยชน์ ให้กำลังใจเลขาธิการ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อไป
วันนี้ (23 ก.ย. 65) รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาด เปิดเผยว่า ณ เวลานี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบกลับ กสทช.ตามที่ได้ขอให้ศึกษาประเด็นการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค โดยมีความเห็นว่าการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับกรณีการรวมธุรกิจ ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ และมีข้อกำหนดว่าจะต้องจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. ทั้งนี้ สามารถทำได้ทั้งล่วงหน้าและหลังการควบรวม และให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นการขออนุญาตไปในตัวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ควบรวมธุรกิจ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาสอดคล้องและตรงกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช.มอบหมายให้ทำการศึกษาประเด็นการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค
"ส่วนตัวมองว่าการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทคยืดเยื้อมานานแล้ว เมื่อมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวก็จะได้มีทางออกเสียที เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กรุณาพิจารณาชี้แนะทางออกตามที่ กสทช.ร้องขอ เรามั่นใจว่า กสทช.จะให้เกียรติและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะไม่เดินตามเกมกดดันของกลุ่มต่างๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะเลขาธิการ กสทช. ผู้มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กรรมการ กสทช.ที่ผ่านมา ท่านได้รับความกดดันจากหลายฝ่าย เราขอให้กำลังใจท่านในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปอย่างเต็มที่ เราเชื่อว่าคนดีย่อมทำสิ่งที่ดี ที่เหมาะที่ควร และคนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้"
นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรียังเชื่อมั่นว่าการควบรวมมีประโยชน์ต่ หลายฝ่ายมากกว่าจะเป็นโทษใดๆ สำหรับผู้บริโภค พวกเขาจะได้บริการที่ดีขึ้น และจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มว่าจะเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม สำหรับผู้ประกอบการ พวกเขาจะมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกาภิวัตน์ที่ดีขึ้น เพราะเป็นการควบรวมระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทของยุโรป ทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันความรู้ และภูมิปัญญา ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน สามารถลดต้นทุนในการแสวงหานวัตกรรมเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าให้แก่ผู้บริโภค เป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทที่มีคนไทยเป็นเจ้าของในเวทีโลก และที่แน่นอนที่สุดคือประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากการที่บริษัทสัญชาติไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันในเวทีโลก
"เราควรจะวิเคราะห์การควบรวมครั้งนี้ด้วยการพิจารณาที่มองบริบทครบมิติ ไม่ใช่การมโนภาพเชิงลบเอาเองโดยไม่มีความจริงเชิงประจักษ์รองรับ สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจก็คือ กสทช.มีอำนาจตามประกาศฉบับปี 2561 ในการออกมาตรการหรือเงื่อนไขเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ สำหรับเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาท่านก็ระบุไว้ชัดเจนอีกด้วยว่าในการใช้อำนาจของ กสทช.ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคม"
สำหรับข้อกังวลเรื่องราคานั้น ดร.เสรีย้ำว่าอย่าไปคิดเองว่าราคาจะแพงขึ้น โดยไม่พิจารณาบริบท ประการแรก ในการแข่งขันนั้น ถ้าหากผู้ให้บริการรายใดไม่สามารถสร้างความแตกต่างด้านเทคโนโลยีและการบริการได้ การขึ้นราคาไม่ใช่ยุทธศาสตร์การตลาดที่ดีแน่ๆ การที่ผู้บริการรายใดจะคิดราคาแพงกว่าผู้บริการรายอื่นนั้น เขาจะต้องสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนจนผู้บริโภคมองเห็นความคุ้มค่าที่จะยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้น ถ้าเทคโนโลยีไม่มีความแตกต่างกันก็ต้องสู้ด้วยราคา ถ้าหากบริการไม่แตกต่างกันก็ต้องสู้ด้วยราคา เวลานี้ธุรกิจโทรคมนาคมยังมีเทคโนโลยีและการบริการที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ให้บริการคงไม่คิดจะทำลายธุรกิจของตัวเองด้วยการขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอให้ผู้บริโภคยินดีจ่ายราคาที่สูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่น
ประการที่สอง หากสามารถสร้างความแตกต่างได้ จะขึ้นราคาไปเท่าใด ก็มีปัจจัยควบคุมราคาอยู่ 2 เรื่อง คือ 1) กสทช. มีหน้าที่กำกับและกำหนดเพดานของราคาค่าบริการโทรคมนาคมอยู่แล้ว จะขึ้นตามอำเภอใจไม่ได้ และ 2) ต้องดูด้วยว่าผู้บริโภคเห็นความคุ้มค่าที่ยินดีจะจ่ายแพงขึ้นหรือไม่ ในเมื่อผู้บริโภคมีทางเลือก หากผู้บริการรายใดขึ้นราคาไปอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคมองไม่เห็นความคุ้มค่าที่จะจ่ายเพิ่ม การขึ้นราคานั้น แทนที่จะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ ก็จะกลายเป็นผลเสีย คนทำธุรกิจที่เข้าใจหลักการของตลาดที่จะต้องให้ความสำคัญต่ ผู้บริโภค เขาไม่ทำอะไรตามใจตนโดยไม่พิจารณาการรับรู้ของผู้บริโภค
อีกบริบทหนึ่งที่เราไม่ควรจะมองข้ามก็คือ เรื่องการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล ในยุคนี้กระบวนการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคมีความเข้มแข็งมาก ผู้บริโภคจะสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น ไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่สนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น พวกเขายังพร้อมที่จะพากันประณามผู้ประกอบการรายนั้นบนพื้นที่ Social Media ในลักษณะที่เราเรียกกันว่า Drama ถึงเวลานั้น ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผู้ประกอบการจะเสียหาย ดังนั้นผู้ประกอบการที่เข้าใจกระแสความคิดของผู้บริโภคยุค 4.0 คงไม่คิดที่จะทำธุรกิจโดยไม่มีธรรมาภิบาล อย่างเช่นขึ้นราคาสินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรม
ดร.เสรีสรุปทิ้งท้ายว่า การควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และประเทศชาติ ขอให้กำลังใจคณะกรรมการ กสทช. ในการมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ การตัดสินใจที่ล่าช้าสามารถสร้างความเสียหายได้มหาศาล ดังนั้นบัดนี้ทุกอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งความคิดเห็นของกฤษฎีกาในการตีความกฎหมาย และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เราจึงหวังว่าการตัดสินใจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามหลักการของการแข่งขันยุค 5.0 ที่ให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว และการทำงานที่ยึดหลักความคล่องตัว