กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 30 ปี รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น หรือ PM’s Export Award เชิดชูเกียรติ 34 บริษัทที่พัฒนายกระดับธุรกิจอย่างต่อเนื่องและมีแผนการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่ พร้อมเปิดเวทีรับฟังไอเดียบริหารองค์กรจาก 12 บริษัทเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ธุรกิจส่งออกรายอื่นๆ ได้ต่อไป
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการเร่งผลักดันโดยสร้างความเชื่อมั่นภาคการส่งออก และยกระดับ SME และ Micro SME ด้วยเครื่องมือทางการตลาด สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้นำเข้าต่อสินค้าและบริการโดยผู้ส่งออกไทย โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านทูตพาณิชย์ เร่งรัดการส่งออกทั้งเชิงรุกและเชิงลึกเพื่อสร้างรายได้จากการส่งออกให้มากที่สุด เดินหน้าให้ได้ตัวเลขส่งออก 9 ล้านล้านบาท ผ่านการจัดคู่เจรจาธุรกิจ เร่งรัด Mini-FTA ส่งเสริมการค้าระบบออนไลน์ การนำซอฟต์เพาเวอร์ใส่ในสินค้าและบริการของไทย และรวมถึงการให้ความสำคัญด้าน BCG เพื่อสร้างภาพลักษณ์การค้าและการผลิตที่ยั่นยืน อีกทั้งกล่าวในการเปิดกิจกรรมเฉลิมฉลองรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (PM’s Export Award) เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี ว่า รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ถือเป็นรางวัลเกียรติยศของกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อผู้ส่งออกสินค้าและบริการที่มีผลงานดีเด่น มีการริเริ่มและพยายามบุกเบิกตลาดต่างประเทศ ภายใต้ชื่อทางการค้าของตนเอง และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยรางวัลในปีแรกคือ “Distinctive Development & Marketing of Thai Owned Brand Exports” และในปีต่อมาได้เพิ่มสาขารางวัล “Distinctive Development & Marketing of Thai Owned Design Exports” และรางวัล “Outstanding Performance as the Best Exporter” ตามลำดับ และจากการพัฒนารางวัลอย่างต่อเนื่อง รางวัล PM’s Export Award รางวัลนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรให้แก่ผู้ส่งออกไทยและเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าและบริการส่งออกของไทยในต่างประเทศ ก่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยตลอด 30 ปีมานี้กระทรวงพาณิชย์มองเห็นการขยายตัวมากขึ้นของธุรกิจส่งออกของผู้ที่ได้รับรางวัล ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ภายใต้โลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง และระบบเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อต้องการยกระดับการพัฒนาประเทศจากการเป็นประเทศ “รับจ้างผลิตสินค้า” เป็นประเทศที่มีความสามารถใน “การพัฒนานวัตกรรม” โดยใช้จุดแข็งของประเทศ เช่น ต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างขีดความสามารถของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับตัว โดยหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ เริ่มต้นจากการใช้กรอบความคิด หรือ Mindset ที่เหมาะสม ได้แก่ Entrepreneurial Mindset กรอบความคิดในเรื่องของการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้และศึกษาในปัญหาให้ถ่องแท้ Agile Mindset กรอบความคิดของการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้ทันสมัยและสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ใช้ทักษะการทำงานเป็นทีมเข้ามาร่วมด้วย Digital Mindset กรอบความคิดดิจิทัล ก้าวทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา Innovation Mindset กรอบความคิดเชิงนวัตกรรม ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่ดีมากยิ่งขึ้น เห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้สามารถเกิดขึ้นได้ จากการนำจินตนาการของตนเองมาทำการศึกษา เรียนรู้จนเข้าใจและลงมือทำ
“ผู้ประกอบการที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในวาระครบรอบ 30 ปีของรางวัล PM’s Export Award ครั้งนี้ เป็นต้นแบบของผู้มีกรอบความคิดที่ก้าวหน้า เป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นในฐานะเป็นผู้พัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง กระทรวงพาณิชย์หวังว่าความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจไทยผ่านรางวัลดังกล่าว จะเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจให้ทุกท่านรักษาคุณภาพ รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดโลก อันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืนสืบไป”
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นเป็นรางวัลสูงสุดของรัฐบาลที่มอบให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกของไทย เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจระดับประเทศ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในตลาดโลกถึงความสำเร็จและความทุ่มเทของผู้ประกอบการไทย โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 30 ปี (พ.ศ. 2535-2564) มีผู้ได้รับรางวัลแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 787 รางวัล 257 บริษัท ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนความภาคภูมิใจของคนไทยในการผลิตสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล และเพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของรางวัล PM’s Export Award กรมเห็นควรยกระดับรางวัลและปรับแนวทางการมอบรางวัลให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 13 วาระแห่งชาติ BCG Economy Model และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และยกระดับรางวัลให้ทันสมัย สำหรับรางวัลในปี 2566 ทั้ง 7 สาขา จะให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมและความยั่งยืนในหลักเกณฑ์ของทุกสาขารางวัล อีกทั้งได้เพิ่มรางวัลด้าน BCG และเพิ่มสาขาย่อยของรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) กลุ่มผลงานกราฟิกดีไซน์ ได้แก่ ประเภท Illustration /Character/ Digital Art เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล และสำหรับรางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม (Best OTOP) อาจขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่งออกรายย่อยยอดเยี่ยมด้วย (Best OTOP Plus Micro SME)
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของรางวัล กรมได้จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิด Proud Past - Inspired Future หรือธุรกิจไทยที่มีความมุ่งมั่นพัฒนา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งแบบสอบถามและสำรวจความก้าวหน้าของผู้ได้รับรางวัลทั้ง 257 บริษัท ปัจจุบันมีผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ 232 บริษัท และมีจำนวน 67 บริษัทที่ได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องได้ทำการคัดเลือก 34 บริษัท ที่มีการพัฒนายกระดับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่ เช่น การพัฒนาด้านการออกแบบ ด้านนวัตกรรม ด้านการสร้างแบรนด์ การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ Best of the Best จากหลากหลายอุตสาหกรรมและขนาดธุรกิจ แบ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (S) 8 บริษัท ขนาดกลาง (M) 8 บริษัท และขนาดใหญ่ (L) 18 บริษัท ซึ่งจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ไลฟ์สไตล์ สิ่งทอและแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งภาคธุรกิจบริการ
ร่วมด้วยการจัดกิจกรรมปาฐกถา หัวข้อ “เส้นทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน” (A Business Path Towards Sustainability)” จากผู้บริหาร 12 บริษัท เช่น “PlanToys” ผู้ส่งออกของเล่นที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2536 “Sonite” แบรนด์สินค้าโมเสกตกแต่งผนัง ของตกแต่งบ้านจากวัสดุ upcycle และ “Qualy” แบรนด์ที่ให้ความสำคัญต่อการผลิตและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและได้รับรางวัลต่อเนื่อง 4 ปี ใน 4 สาขารางวัล และ “ชาวเกาะ” “มาม่า” ผู้ส่งออกแบรนด์ไทยที่มีจำหน่ายไปทั่วโลก ซึ่งทั้ง 12 บริษัทนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น The Inspirers ตัวแทนผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติซึ่งเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ พร้อมทั้งจัดนิทรรศการแสดงผลสำเร็จและผลงานของผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเพื่อส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในด้านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วย