ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยพร้อมด้วย นางสาวชมพูนุช อนุศาสน์สิทธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและคลัสเตอร์นวัตกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และนางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. เข้าร่วมพิธีเปิดงานฉลองครบรอบ 13 ปี สมาคม Thai-BISPA หรือ สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทยในฐานะหน่วยงานร่วมก่อตั้งสมาคมและหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงร่วมแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการดีเด่นที่ได้รับรางวัล THE BEST INCUBATEE AWARD ที่มีทักษะความสามารถและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาสินค้า บริการที่แตกต่าง โดดเด่น สามารถตอบโจทย์ทั้งในและต่างประเทศ และมีผลประกอบการรวมถึงผลกระทบธุรกิจทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย นายกสมาคม Thai-BISPA กล่าวว่า สมาคมฯ จัดตั้งขึ้นในปี 2552 เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในการที่จะพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ ในระดับสากล ปัจจุบันมีสมาชิกองค์กรในประเทศรวมทั้งสิ้น 40 รายเป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน และยังมีความร่วมมือในระดับนานาชาติและองค์กรหรือสมาคมต่างๆ มากกว่า 40 แห่งทั่วโลก โดยหวังว่าอุทยานวิทยาศาสตร์ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสมัยใหม่ ให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้มากขึ้น หรือ ประเทศที่มีรายได้สูง
สำหรับในช่วงปีที่ผ่านมาสมาคม Thai-BISPA ได้ดำเนินการภายใต้กิจกรรมสนับสนุนความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การพัฒนากำลังคน ด้านบริหารจัดการนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งสมาคมได้ให้ความสำคัญในการจัดอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประชุมวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 60 กิจกรรม มีผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดปี 2564 มากกว่า 1,500 คน การพัฒนามาตรฐานเครื่องมือในการบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ในการประเมินศักยภาพความพร้อมของเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงความรู้ ข้อมูลข่าวสารเครือข่ายและความร่วมมือด้านบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภายในงานได้มีการประกาศผลรางวัลผู้ประกอบการดีเด่น THE BEST INCUBATEE AWARD ให้กับผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล 2 ราย โดยรายแรกเป็นผู้ประกอบการภายใต้การดูแลของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เทสเต็ด เบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็น ผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายแป้งและขนมปังไร้กลูเตน ไม่มีน้ำตาล และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ อาหารผู้ป่วยเบาหวาน รายที่สอง ได้แก่ บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันให้บริการระบบคิวออนไลน์ที่ใช้งานทั้งในร้านอาหาร ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และศูนย์บริการต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. (BIC)
นอกจากนี้ยังมีรางวัลในสาขาอื่นๆ ได้แก่ สาขา Potential technology transfer หรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจากการนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการถ่ายทอดมาต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ บริษัท อินโน กรีน เทค จำกัด ผู้พัฒนาระบบบำบัดวงจรไฟฟ้าชีวภาพ และรางวัลรองชนะเลิศได้แก่ บริษัท พาริช สกิน จำกัด ผู้พัฒนา ผลิตและจำหน่ายเวชสำอางบำรุงผิวหน้านวัตกรรมโพรไบโอติกสาขา Promising entrepreneurs หรือผู้ประกอบการที่พร้อมด้วยทัศนคติ ทักษะ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของการเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดย รางวัลชนะเลิศได้แก่ บริษัท ฟางไทย แฟคทอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาชนะบรรจุภัณฑ์เยื่อฟางข้าว ส่วน รางวัลรองชนะเลิศในสาขานี้ ได้แก่ บริษัท รีฟัน จำกัด ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ เปลี่ยนขยะรีไซเคิล เป็นเงินในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น บริษัท อินน็อกซ์เซลลา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ในอาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง ซึ่งช่วยลดการนำเข้าสารออกฤทธิ์จากต่างประเทศและสามารถลดต้นทุนได้ และ บริษัท พีชแอนด์ โค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ซึ่งทางบริษัทสามารถดูแลได้ครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่การให้คำปรึกษา การพัฒนาสูตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำวิจัยและพัฒนา การ Matching โรงงานผลิต รวมถึงการให้คำปรึกษาในการขอรับรองระบบมาตรฐานต่างๆ ของผลิตภัณฑ์อีกด้วย