xs
xsm
sm
md
lg

HUAWEI ชูไทยศูนย์กลางดิจิทัลอาเซียน พร้อมช่วยธุรกิจขยายสู่ตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ทางด้านดิจิทัลที่ชัดเจน การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครบถ้วน พร้อมกับการวางเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในดิจิทัลฮับของอาเซียน ทำให้หัวเว่ย (HUAWEI) เลือกใช้ไทยเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมประจำปีระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีไอซีที ที่มีการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 แล้ว โดยสิ่งที่พิเศษคือเป็นครั้งแรกที่เริ่มต้นการจัดงานนอกประเทศจีน พร้อมกับประเดิมใช้งานศูนย์สิริกิติ์ ในการรองรับผู้คนจากหลากหลายประเทศกว่า 10,000 คน

เป้าหมายสำคัญในการจัดงาน HUAWEI Cennect 2022 คือ การจัดแสดงเทคโนโลยีที่หัวเว่ยมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเข้าไปช่วยทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจในการปลดล็อกศักยภาพทางด้านดิจิทัล โดยเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการนำคลาวด์มาใช้งาน พร้อมไปกับการให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

โดยหลังจากที่เปิดงานประจำปีนี้ในประเทศไทย ทางหัวเว่ยมีกำหนดการที่จะเดินสายจัดงานทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่าง ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยุโรปที่ปารีส ฝรั่งเศส ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ก่อนกลับมาปิดท้ายงานปีนี้ที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านดิจิทัลของหัวเว่ยในภูมิภาคอาเซียน ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางด้านดิจิทัลอย่างแข็งแกร่งเรียบร้อยแล้ว

เคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะการที่ทุกภาคอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงสู่การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้งาน ภายใต้ความต้องการอย่างเร่งด่วน เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องนำดิจิทัลมาช่วยฟื้นธุรกิจให้กลับมาในยุคหลังการแพร่ระบาด

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางด้านดิจิทัลนั้นมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 15% เมื่อเทียบกับ GDP ที่เริ่มมีความไม่มั่นคง หลายองค์กรจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน ประกอบกับการที่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านบรอดแบนด์เน็ตเวิร์ก คลาวด์ และ AI มีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจแล้ว”


ปัจจุบันแอปพลิเคชันต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายตามแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งการขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) การควบคุมระยะไกล (Remote Controls) จนถึงการใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ และสำรวจ (AI Insection) ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง พลังงาน จนถึงด้านสาธารณสุขต่างๆ

แน่นอนว่าทุกประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัล และกำลังอยู่ระหว่างความท้าทายทั้งในแง่ของ 1.โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การปรับธุรกิจให้รองรับเทคโนโลยีคลาวด์ จนถึงการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีประมวลผลยุคใหม่ที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสำหรับองค์กรที่กำลังเริ่มต้น แต่ในกลุ่มองค์กรที่เริ่มเปลี่ยนผ่านแล้ว กำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญทางด้านการประมวลผล และปัญหาศักยภาพของโครงข่าย และความหน่วงในการเข้าถึงข้อมูล

ขณะเดียวกัน 2.การแนะนำเทคโนโลยี และโซลูชันให้แก่หลากหลายอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหัวเว่ยไม่ได้มีโซลูชันที่พร้อมรองรับกับทุกอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงขาดทรัพยากรบุคคลที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยให้ได้ประสิทธิผลที่ดีที่สุด


เคน หู ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าไปใช้ในการบริหารจัดการท่าเรือ ที่จะช่วยเพิ่มจัดวางตารางเดินเรือแบบอัตโนมัติ แต่ในขณะเดียวกัน พบว่า การลงทุนเพื่อเข้าไปติดตั้งระบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการวางโครงข่ายพื้นฐานเพื่อให้รองรับกับการทำงาน การวางระบบ และทีมที่มีประสบการณ์เพื่อเข้าไปพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน ทำให้เวลา และต้นทุน กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากๆ สำหรับองค์กรในการนำเทคโนโลยีไปใช้งาน

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายใน 3.การพัฒนาแอปพลิเคชัน อ้างอิงจากข้อมูลของไอดีซีที่ระบุว่าภายในปี 2024 จะมีจำนวนแอปพลิเคชันมากกว่า 500 ล้านรายการ นั่นคือมากกว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นกระบวนการพัฒนาแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการแล้ว สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญร่วมกัน

***ผลักดันอีโคซิสเต็มไอซีที


เพื่อให้การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของภาคธุรกิจผ่านความท้าทายได้เร็วขึ้น หัวเว่ย กำลังผลักดันให้เกิดอีโคซิสเต็มทางด้านไอซีที ที่ประกอบด้วย 1.การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 2.การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคลาวด์ และ 3.สร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่มีความแข็งแรง ร่วมกับพันธมิตรให้มาช่วยปลดล็อกอุปสรรคที่เกิดขึ้น

“หัวเว่ย กับพันธมิตรทางธุรกิจกำลังเร่งพัฒนา 5.5G ที่จะเป็นการเชื่อมต่อรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการในยุคดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มแบนด์วิดท์ในการเชื่อมต่อได้มากกว่าเดิม 10 เท่า ให้รองรับการใช้งานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ลดความหน่วงในการเชื่อมต่อลงให้เหลือในระดับมิลลิวินาที บนมาตรฐานความปลอดภัยแบบอุตสาหกรรม บนเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้นในระดับ 10 Gbps ในทุกที่ทุกเวลา”

ขณะเดียวกัน ความต้องการของกำลังประมวลผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการคาดการณ์พลังในการคำนวนผลทั่วไปที่เร็วขึ้น 10 เท่า ภายในปี 2030 และความต้องการกำลังการประมวลผลทางด้าน AI ที่มากกว่า 500 เท่า จึงกลายเป็นความท้าทายในการสร้างระบบนิเวศที่มีกำลังการประมวลผลขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยี Cloud และ Edge Computing

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะเป็นหนทางสู่อนาคต เพราะภายในปี 2025 จะมีองค์กรธุรกิจมากกว่า 85% ที่วางแผนว่าจะนำคลาวด์มาใช้งาน เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่จะใช้งานในด้านพื้นฐานเป็นหลัก ทางหัวเว่ยจึงต้องการสนับสนุนให้เกิดการนำคลาวด์โซลูชันเชิงลึกไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สุดท้ายในแง่ของการพัฒนาระบบนิเวศที่หัวเว่ยจะเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การพัฒนาด้วยการจัดตั้งกองทุนที่จะลงทุนกว่า 300 ล้านเหรียญทั่วโลกให้แก่พันธมิตร พร้อมกับบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาล และมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ โดยคาดว่าจะพัฒนาได้กว่า 5 แสนคนในปี 2026 รวมถึงเข้าไปช่วยเหลือ SMEs และสตาร์ทอัปให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีคลาวด์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

“ถ้าทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเราสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีจากการเป็นประเทศชั้นนำที่มีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ครอบคลุมและดีที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก มีศูนย์ข้อมูลของภาครัฐที่พร้อมสำหรับการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการคลาวด์ในการให้บริการแก่สาธารณะ”

***เปิดคลาวด์เชื่อมภูมิภาคสู่ทั่วโลก


จาง ผิงอัน ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย คลาวด์ ให้ข้อมูลถึงการลงทุนคลาวด์ระดับภูมิภาค (HUAWEI Cloud Regions) เพิ่มเติมในอินโดนีเซีย และไอร์แลนด์ ทำให้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ หัวเว่ย คลาวด์ จะมีศูนย์ข้อมูล (Avaliability Zone - AZ) 75 แห่ง ใน 29 ภูมิภาค ครอบคลุม 170 ประเทศทั่วโลก

“การให้บริการคลาวด์ของหัวเว่ย เกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 1,700 รายทั่วโลก ในการเชื่อมต่อโครงข่ายเข้าด้วยกัน และช่วยให้สามารถส่งผ่านข้อมูลภายใต้ความหน่วงต่ำกว่า 50 ms (มิลลิวินาที) จึงช่วยให้นอกจากธุรกิจสามารถให้บริการภายในประเทศแล้ว ยังสามารถขยายบริการไปยังตลาดทั่วโลกได้ด้วย”


พร้อมกันนี้ ซีอีโอหัวเว่ย คลาวด์ ยังเผยถึงกลยุทธ์ในการพัฒนาคลาวด์อีโคซิสเต็มภายใต้ ‘นวัตกรรมบริการรอบด้าน’ (Everything as a Service) ในการสร้างรากฐานคลาวด์สำหรับอนาคต ภายใต้ 4 เทคโนโลยีคลาวด์ที่สำคัญคือ การพัฒนา AI การบริหารจัดการข้อมูล (Data governance) การผลิตคอนเทนต์ดิจิทัล และการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยการเลือกใช้โซลูชันของหัวเว่ย คลาวด์

***หนุนการเติบโตดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก

ไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากรายงานของไอดีซีทุกๆ เม็ดเงินการลงทุนเพื่อการเติบโตทางไอซีที 1 เหรียญสหรัฐ จะสามารถทำให้ GDP เติบโตขึ้นได้ 13 เหรียญด้วยกัน นอกจากนี้ แนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนการลงทุนทางด้านไอซีทีได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แผนการลดคาร์บอนเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกยุคปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสารในโลกอัจฉริยะ ช่องว่างทางดิจิทัลก็ยังคงอยู่ ซึ่งเกิดผลกระทบทั้งในส่วนของผู้สูงอายุ และเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางดิจิทัล หรือการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงเป็นเหมือนแนวหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

“ภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลให้เร็วขึ้นถึง 7 ปีในทั่วโลก และเร็วขึ้นถึง 10 ปี ในเอเชียแปซิฟิก ทำให้หลายๆ ประเทศได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลขึ้น อย่างในไทยที่มีแผนเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะช่วยผลักดันให้ GDP เติบโตถึง 30% ภายในปี 2027 ทำให้อนาคตของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนแล้ว และเพื่อให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดได้เร็วขึ้นการทำงานร่วมกันจะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโต”


ทั้งนี้ หัวเว่ยได้นำโซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาจัดแสดงภายในงานครอบคลุมทั้งศูนย์ข้อมูลแบบต่างๆ โดยเฉพาะศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำนักงานอัจฉริยะ ดิจิทัลไซต์ เครือข่ายครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง (WAN) และธุรกิจพลังงานดิจิทัลเกี่ยวกับระบบจัดการพลังงานที่หลากหลายในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น