xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยเลือกไทยจัดงาน ‘HUAWEI CONNECT 2022’ ประเทศแรกนอกจีน คาดเงินสะพัดกว่าพันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ” ปลื้มหัวเว่ยเลือกประเทศไทย เปิดงานมหกรรมเทคโนโลยีไอซีที ‘HUAWEI CONNECT 2022’ เป็นประเทศแรก และเป็นครั้งแรกที่จัดนอกประเทศจีน คาดเงินสะพัดกว่าพันล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานมหกรรมเทคโนโลยีไอซีที ‘HUAWEI CONNECT 2022’ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่ไทยเเลนด์ 4.0 มีการพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อต้องการที่จะส่งเสริม เศรษฐกิจด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าว่า ศักยภาพด้านดิจิทัลจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโต 30% ในปี 2570 ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องเตรียมส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของประเทศเพื่อรองรับตลาดแรงงาน และบริษัทต่างประเทศที่เตรียมมาลงทุนในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของจีดีพีทั่วโลกไม่คงที่ มีเพียงเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้นที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับโลก หรือมากกว่า 15% ในปี พ.ศ.2564 หลายองค์กรจึงพลิกโฉมการดำเนินงาน และการให้บริการด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย

“จากข้อมูลของดีอีเอส พบว่ามีผู้ปฏิบัติงานด้านไอซีทีในประเทศไทยมากกว่า 430,000 ราย โดยความสำคัญของผู้มีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจของทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัล 1 คน มีค่าเทียบเท่ากับคนทั่วไปถึง 10 คน ดังนั้น ไทยมีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกอบรมกำลังคนมากกว่า 500,000 คน ภายใน 5 ปี ฝต่อจากนี้ เพื่อให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล”

ในปี 2564 อัตราการเติบโตรายปีของเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ จะสูงแตะ 44% และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะขยายตัวมากถึง 26% รวมถึงอุตสาหกรรม Big Data จะขยายตัวได้ 4% ขณะเดียวกัน มีหลายแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เช่น 1.การเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ ซึ่งการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นหลักประกันว่าจะสามารถฟื้นตัวและพัฒนาต่อไปในด้านของเศรษฐกิจได้ 2.แนวคิดหรือนโยบาย 4.0 รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 จะกลับกลายมาเป็นศูนย์กลางของโลกในด้านอุตสาหกรรมและดิจิทัลอัจฉริยะ รวมถึงการใช้นวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ที่จะสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย และ 3.ไทยได้กำหนดพันธกรณีคือไทยต้องการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเศรษฐกิจรวบรวมอุตสาหกรรมที่ใช้คาร์บอนต่ำ รวมถึงแนวคิดบีซีจีของไทยก็จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าต่อไป

ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ ประเทศไทยได้มีการทำมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลผ่านโครงการที่ริเริ่มด้านนโยบาย โดยกระทรวงดีอีเอสได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หรือดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งจะเป็นเสาหลักในการที่จะบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ จะเป็นการกระตุ้นการลงทุนและขับเคลื่อนความเติบโตเศรษฐกิจด้วย

รัฐได้เสริมความแข็งแกร่งเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน และการพัฒนาที่มีความมั่งคั่ง เช่น กระทรวงได้จัดตั้ง Data center และบริการคลาวด์ที่จะสนับสนุนนวัตกรรมและทำให้รัฐสามารถมอบบริการสาธารณะที่มีความเท่าเทียมได้ นอกจากนี้ สามารถดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมได้ด้วยเช่นกัน เป็นต้น ด้วยพื้นฐานระดับสูงที่มีอยู่ในวันนี้และการใช้เทคโนโลยีประมวลผลต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และทำให้อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล เช่น ยุคสมัยของเว็บ 3.0 ธุรกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจดิจิทัลคอนเทนต์แบงก์เสมือนจริง เมตาเวิร์ส เป็นต้น จะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไทยมีความยินดีที่จะเห็นว่าการดำเนินการเหล่านี้ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย จึงมีเป้าหมายจะบรรลุการให้บริการอินเทอร์เน็ตไฮสปีดที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมด้วยราคาสมเหตุสมผล ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่จะไม่ทำให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำหรับงาน HUAWEI CONNECT 2022 คืองานประชุมใหญ่ประจำปีของหัวเว่ยที่จัดขึ้นเพื่ออุตสาหกรรมไอซีทีทั่วโลก มี 192 ประเทศเข้าร่วม จำนวน 4,000 คน จัดตั้งเเต่ วันที่ 19-21 ก.ย.2565 คาดว่าจะมีเงินเข้าสู่ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,000 ล้านบาท โดยเปิดฉากที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และจัดต่อเนื่องที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปิดท้ายที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำหน้าที่เป็นเวทีแห่งการเปิดกว้างและการประสานความร่วมมือ ซึ่งเชิญชวนบรรดาผู้นำทางความคิด ผู้นำภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค บริษัทผู้บุกเบิก พันธมิตรในระบบนิเวศ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน และนักพัฒนา มารวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมอีโคซิสเต็มที่เปิดกว้างและแข็งแกร่งเพื่อความสำเร็จร่วมกัน

นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลัก’ (Digital First Economy) โดยให้ข้อมูลเชิงลึกในข้อเสนอแนะด้านนโยบายการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือผู้นำของภูมิทัศน์ดิจิทัลทั่วโลก หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก และพร้อมผลักดันการเข้าเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนและร่วมสร้างอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น