xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลจับมือเอกชน มอบดีป้าจับคู่ธุรกิจสร้าง 5G สู่เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลจับมือเอกชนสร้างเครือข่าย 5G ปั้นสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ มอบหมายดีป้า เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ใช้ ค่ายมือถือ และเวนเดอร์ 5G ประเดิมด้วยการเปิดงาน Thailand 5G Summit 2022 คาดเงินสะพัด 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเกิดการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์จริง 10 ยูสเคสภายในสิ้นปีนี้ มั่นใจภายใน 5 ปี ภาคธุรกิจมีการใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดงาน Thailand 5G Summit 2022 ภายใต้แนวคิด The 5G Leader in the Region ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่อง 5G มากว่า 5 ปีแล้วเพื่อผลักดัน 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของประเทศ โดยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการลงทุนเพื่อการประยุกต์ใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) มุ่งเน้นการแสดงศักยภาพและความพร้อมในแต่ละภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งการขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์ (Use Case) รวมถึงการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกภาคส่วนพร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจของกลุ่มเทคโนโลยี 5G ของไทย และผลักดันให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G (Thailand 5G Alliance) เพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศในอนาคต

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจแกละสังคม (ดีอีเอส) วางกรอบนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ของประเทศ เพื่อบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่รองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ บนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้ประชาชน และต่อยอดการใช้งาน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น


ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการใช้งาน 5G ยังไม่ได้ใช้งานทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันสร้างเครือข่ายพันธมิตร 5G ขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคการผลิต สาธารณสุข และสมาร์ท ซิตีนำเทคโนโลยี 5G ต่อยอด ซึ่งการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลนับเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ โดยแนวโน้มพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะถูกนำไปใช้พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต


ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า งาน Thailand 5G Summit 2022 จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งความร่วมมือสร้างเครือข่ายพันธมิตร 5G ครั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลโดยดีป้าจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ 3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) และผู้พัฒนาบริการโครงข่าย 5G มาพบกันเพื่อให้เกิดยูสเคสในเชิงพาณิชย์ มีการใช้งานจริงในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มการเกษตร สาธารณสุข ท่องเที่ยว และภาคการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาการนำเทคโนโลยีมาใช้งานยังเป็นเพียงการทดลองใช้งานในกลุ่มจำกัดเท่านั้น เป็นเพียงโชว์เคสเท่านั้น สำหรับกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมเครือข่ายดังกล่าวมีประมาณ 260 มีโซลูชันอีกว่า 800 โซลูชัน คาดว่าจะเกิดยูสเคสประมาณ 20 โครงการ และจะสามารถนำโครงการประมาณ 10 โครงการมาแสดงในงานประชุมเอเปก มั่นใจว่าภายใน 5 ปี เทคโนโลยี 5G จะถูกใช้งานแพร่หลายในเชิงพาณิชย์

ขณะที่นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ความคืบหน้าของการขยับขยายเทคโนโลยี 5G ในระดับโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งบรรดาผู้บุกเบิกด้าน 5G ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ก้าวผ่านอัตราส่วน 16% และมุ่งเข้าสู่ยุคทองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างกระบวนการแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เทคโนโลยี 5G ได้กลายเป็นตัวผลักดันหลักในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้คน

เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งยังขยายขอบเขตของภาคเศรษฐกิจไปพร้อมกัน นอกจากเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นกุญแจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยเช่นกัน

“หัวเว่ย มองว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดสำคัญของเรามาโดยตลอด และเรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ ซึ่งโครงข่ายการเชื่อมต่อบนเทคโนโลยี 5G ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้เราเดินไปถึงเป้าหมายเรื่องนี้ได้ ในฐานะที่ประเทศไทยผันตัวมาเป็นผู้นำด้าน 5G ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว หัวเว่ย จะมุ่งสนับสนุนความเร็วของ 5G ในประเทศไทยต่อไปผ่าน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G ชั้นนำ การผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรม และการสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงทักษะด้าน 5G” นายหลิน กล่าว

เอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ย โดยให้บริการการเชื่อมต่อสำหรับผู้คนกว่า 90 ล้านครัวเรือน และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่ง หัวเว่ย มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สนับสนุนหลักของวิสัยทัศน์เชิงดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การเชื่อมต่อและเทคโนโลยีอัจฉริยะ การพัฒนาด้านการลดการใช้คาร์บอนอย่างยั่งยืน และการเข้าถึงระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียม

โดย 5G ถือเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อดิจิทัลอันเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคและในประเทศไทย ในฐานะที่ หัวเว่ย เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีและผู้พลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัลจะเดินหน้าผลักดันนวัตกรรมอัจฉริยะ 5G ผ่านการทำงานกับลูกค้า พันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ เพื่อนำความอัจฉริยะมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร และสร้างประเทศไทยดิจิทัลที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์ มีความอัจฉริยะ และยั่งยืนไปพร้อมกัน

ด้าน นายจูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก GSMA APAC 5G Industry Community กล่าวว่า ความร่วมมือการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทย และยังเป็นการจัดตั้งพันธมิตรเพื่อเป้าหมายด้านการพัฒนาระบบนิเวศของเทคโนโลยี 5G เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย GSMA APAC 5G Industry Community มีความยินดีที่จะร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีระดับโลกอย่าง หัวเว่ย เพื่อผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทยให้เกิดศักยภาพสูงสุด


พร้อมกันนี้ ภายในงานยังมีเวทีสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กิจกรรมบรรยายและเสวนาเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5G ที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ออกเป็น 3 โซน 

ประกอบด้วย โซนที่ 1 การประยุกต์ใช้ 5G ในภาคการผลิตและการขนส่งอัจฉริยะ (5G Smart Manufacturing & Logistics) ครอบคลุมโซลูชันรถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติในโรงงานผ่าน 5G โดรนลาดตระเวนและตรวจสอบ รวมถึงแขนกลยกสินค้าอัจฉริยะ โซนที่ 2 การประยุกต์ใช้ 5G ในภาคสาธารณสุขอัจฉริยะ (5G Smart Medical) ครอบคลุมโซลูชันรถคลินิกเคลื่อนที่ผ่าน 5G กล่องตรวจสุขภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียง และรถพยาบาลอัจฉริยะ 5G โซนที่ 3 เมืองอัจฉริยะ 5G (5G Smart City) ครอบคลุมเรื่องจุดคัดกรองและเสาไฟอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้วยระบบกล้อง AI และศูนย์ดำเนินการอัจฉริยะที่ทำหน้าที่เป็นสมองและระบบประสาทส่วนกลางในเมืองอัจฉริยะ

สำหรับงานสัมมนาและนิทรรศการ Thailand 5G Summit 2022 : “The 5G Leader in the Region” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายนนี้ ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยผู้สนใจสามารถเข้าฟังเสวนา และรับชมเทคโนโลยีโชว์เคส 5G ภายในงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น