xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยเขย่าตลาดห้องเรียนอัจฉริยะ จับมือ มศว โชว์ระบบช่วยครูโฟกัสเรียนออนไลน์-ออนไซต์ได้พร้อมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวเว่ย (Huawei) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จับมือกันเปิดตัวเดโมไซต์ หรือพื้นที่ต้นแบบ เพื่อโชว์เทคโนโลยีด้านการศึกษาระดับโลกในประเทศไทย มั่นใจโครงการความร่วมมือกับหัวเว่ยจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในฐานะ “มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม” ย้ำนักศึกษาไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่มเพราะเป็นการลงทุนของมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับการเรียนการสอน ชี้เฟสใหม่พร้อมลงลึกถึงคณะ คู่กับการทรานส์ฟอร์มผู้สอนให้สามารถโฟกัสนักเรียนที่เรียนออนไลน์และออฟไลน์ได้ในเวลาเดียวกัน

นายแอรอน หวัง รองประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ มศว ในการธำรงไว้ซึ่งการเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค โดยจุดประสงค์ของการสร้างห้องเรียนอัจฉริยะนั้นมี 2 ด้าน คือ ด้านของนักศึกษาที่จะทำสามารถเรียนแบบไฮบริดจากไหนก็ได้ และด้านของอาจารย์ผู้สอนที่จะต้องยกระดับการตอบโต้

“ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เราได้สร้างพื้นที่สาธิตอันล้ำสมัยที่มุ่งสนับสนุนด้านการศึกษา ที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายในระยะยาว”

(จากซ้ายไปขวา) รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพล ธาราธีรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายแอรอน หวัง รองประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก นายวินเซนต์ หลิว ประธานฝ่ายการตลาดเน็ตเวิร์กเอ็นเตอร์ไพรส์และจัดจำหน่ายโซลูชันระดับโลกของหัวเว่ย
ประโยชน์ของหัวเว่ยคือโอกาสขยายตลาดให้โซลูชัน Intelligent Multi-Service Network สำหรับภาคการศึกษา โดยหัวเว่ยย้ำว่านี่คือโซลูชันที่เหมาะกับการสร้างเน็ตเวิร์กด้านการศึกษาและการวิจัยสำหรับอนาคตของมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒเป็นอย่างยิ่ง เน็ตเวิร์กรุ่นใหม่นี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการเครือข่ายที่ซับซ้อนของ มศว ได้เป็นอย่างดี สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย สามารถผนวกรวมเครือข่ายแบบมัลติเน็ตเวิร์กเข้าด้วยกัน และมีความเร็วสูงในการเชื่อมโยงกันระหว่างเครือข่าย ทำให้ มศว ได้ประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการแชร์ข้อมูล ระบบบริการเสมือน และการควบคุมการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถจัดหาบริการข้อมูลคุณภาพสูงให้แก่คณาจารย์และนิสิตได้ดี

การเปิดตัวพื้นที่ต้นแบบระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทยที่ มศว นี้เป็นผลจากการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว เป็นโครงการความร่วมมือที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านการศึกษา และ "มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม" ของ มศว ตลอดจนเพื่อสร้างเกณฑ์มาตรฐานด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศและภูมิภาค

สำหรับพื้นที่ต้นแบบด้านการศึกษาที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นนี้ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดแสดงประสบการณ์ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการพลิกโฉมระบบการศึกษาด้วยโซลูชัน Campus Network อัจฉริยะของหัวเว่ย ที่จัดหาเทคโนโลยี Wi-Fi 6 กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วทั้งวิทยาเขต การเข้าถึงเครือข่ายแบบไร้สาย "ทุกที่ ทุกเวลา" พร้อมด้วยดาต้าเซ็นเตอร์ สตอเรจ และระบบคลาวด์ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน

หัวเว่ยยอมรับว่าโครงการนี้ติดตั้งเฉพาะฮาร์ดแวร์ และโครงการยังไม่มีเป้าหมายขยายผลไปถึงซอฟต์แวร์โซลูชัน ที่ผ่านมาได้ติดตั้งทรัพยากรคุณภาพสูงเพื่อรองรับการทำงานที่มั่นคงของพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเพื่อช่วยมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล

พื้นที่สาธิตแห่งนี้ประกอบไปด้วยห้องประชุม ดาต้าเซ็นเตอร์ ศูนย์ O&M และห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) และพัฒนาขึ้นเพื่อเชิญชวนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือ สถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ การสาธิตการให้บริการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมธุรกิจ ณ พื้นที่ต้นแบบนี้


ตามประวัติ ความร่วมมือระหว่างหัวเว่ย ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการใช้แอปพลิเคชันด้านการศึกษาในศูนย์การเรียนทั้งสองแห่ง ซึ่งได้แก่ ประสานมิตรและองครักษ์ ทั้งนี้ โซลูชัน Huawei Cloud Campus Network และ iMaster NCE Campus ที่ติดตั้งแล้วเสร็จและทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ได้ช่วยให้นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสามารถใช้ Wi-Fi ได้ทุกที่ทุกเวลาภายในวิทยาเขตทั้ง 2 แห่ง รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (VR) อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบิ๊กดาต้า

***มหาวิทยาลัยไทยพร้อม


รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า คณะผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่างมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับพื้นที่สาธิตระดับโลกของหัวเว่ย ณ วิทยาเขตประสานมิตร ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม' ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย โดยการทำงานร่วมกับหัวเว่ยนั้นช่วยให้นิสิตและคณาจารย์ของ มศว สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ และได้รับประโยชน์จากวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่สำหรับประสบการณ์การศึกษาที่ล้ำสมัย

"แม้อาจารย์จะมีสื่อการสอนอย่างเพาเวอร์พอยนต์ แต่ยังคงต้องการเขียนกระดาน ขณะเดียวกัน การเรียนการสอนช่วงโควิด-19 แสดงว่าการสลับระบบเขียนมาเป็นระบบถ่ายทอดนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ตรงนี้หัวเว่ยสามารถมอบไวท์บอร์ดที่ใช้งานได้ตอบโจทย์ ให้นักศึกษาใช้คิวอาร์โค้ดไปโหลดหน้ากระดานที่เขียนไว้ได้เลย สะดวกและง่ายมาก"


หัวเว่ย ระบุว่า ตั้งเป้าที่จะช่วยเร่งกระบวนการก้าวสู่ดิจิทัลของภาคการศึกษาให้รวดเร็วขึ้น โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาผ่านแนวทางและทรัพยากรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการผนวกรวมการเรียนการสอนกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างล้ำลึก ทั้งนี้ การยกระดับอุตสาหกรรมการศึกษาสู่ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบุคลากรเปี่ยมความสามารถเพื่อระบบนิเวศดิจิทัลที่ก้าวหน้าทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค

***ออนไลน์-ออนไซต์ โฟกัสได้ในเวลาเดียวกัน

สำหรับระบบไอทีของหัวเว่ยในห้องเรียนอัจฉริยะที่ติดตั้งแล้วที่ มศว มีจุดเด่นที่อาจารย์จะสามารถใช้วิธีการสอนดั้งเดิม โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนออนไลน์และออนไซต์ (การเรียนออนไลน์และการเรียนในห้อง) ซึ่งที่ผ่านมา การเขียนบนจอภาพนั้นทำไม่ได้ และการเขียนบนกระดานไวท์บอร์ดกลับทำให้นักศึกษาในออนไลน์มองไม่เห็นเนื้อหาบนกระดาน หัวเว่ยจึงพัฒนากระดานไวท์บอร์ดที่กดปุ่มเดียว ลายมือของอาจารย์ที่ปรากฏบนไวท์บอร์ดจะแสดงบนจอภาพทันที

ในกรณีที่อาจารย์ต้องการโชว์สื่อการสอนอื่น ไวท์บอร์ดนี้จะติดตั้งระบบกล้องแนบมา เพื่อให้สามารถถ่ายภาพขึ้นจอ โดยภาพที่ได้จะสามารถพลิกหรือแก้ไขได้ง่าย ขณะเดียวกัน หัวเว่ยมีการทำระบบเพื่อรองรับการอภิปรายกลุ่ม ทำให้นักเรียนในห้องซึ่งนั่งอยู่ไกลจากจอหลักหน้าห้อง จะสามารถมองเห็นจอย่อย ขณะที่หน้าจอย่อยจะถ่ายทอดบนหน้าจอหลักได้ ทำให้นักเรียนออนไลน์เห็นกิจกรรมที่ทำในห้องได้ครบ

ทั้งหมดนี้ อาจารย์สามารถสร้างแผนการสอน ทั้งสื่อการสอน แบบฝึกหัด และแบบทดสอบ โดยสามารถติดตามผลการประเมินได้รายวิชาจากหน้าจอเดียว นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ระบบสุ่มเรียกนักศึกษาตอบคำถาม และมีระบบรหัสลงชื่อเข้าเรียนออนไลน์ที่สรุปจำนวนคนและเวลาการเข้าเรียนได้ พร้อมกับมีระบบสแกนใบหน้า ที่สามารถจับความผิดปกติได้

นอกจากวิทยาเขตประสานมิตร มศว ได้วางแผนพัฒนาวิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยมีแผนในเฟส 3 ที่จะอัปเกรดจากมหาวิทยาลัยแอะนาล็อก มาเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ โดยจะมีการใช้โซลูชันตรวจจับใบหน้า ระบบตรวจจับรถที่เข้ามาในวิทยาเขต ทั้งหมดเป็นเพียงแผนงานที่ยังไม่ติดตั้ง



เบื้องต้น หัวเว่ย และ มศว ย้ำว่าจะยังต้องหารือต่อเพื่อศึกษาวิธีการเก็บข้อมูลนักศึกษา เช่นเดียวกับการใช้งานห้องเรียนสมาร์ทคลาสที่ยังอยู่ระหว่างการหารือในด้านซอฟต์แวร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษา และการปรับตัวของอาจารย์ผู้สอนและเจ้าหน้าที่ทุกคน

ในมุมของ มศว ความท้าทายในการผลักดันมหาวิทยาลัยนวัตกรรมคือการเปลี่ยนรูปแบบการสอนของเหล่าคณาจารย์ โดยจะต้องพยายามปรับทัศนคติผู้สอนเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้เรียนได้ในยุคเทคโนโลยี ที่ผ่านมา การสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยเป็นแนวโน้มใหญ่ขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำการเรียนการสอนแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่งในห้องเรียน โดยต้องทำบนออนไลน์ ซึ่งการมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ดี ย่อมจะทำให้โอกาสการทำกิจกรรมบนออนไลน์มีศักยภาพดีตามไปด้วย 

สำหรับความท้าทายของหัวเว่ยในการผลักดันมหาวิทยาลัยไทย คือ นโยบายของสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่แค่ซื้อสินค้าจากหัวเว่ย แต่จะต้องมีการปรับโปรแกรมให้เข้ากับแต่ละคน ทำให้หัวเว่ยต้องปรับการจัดอบรมและการให้ความรู้ที่เหมาะสม ในส่วนเหตุผลที่ทำให้โครงการนี้ต้องเป็น มศว ผู้บริหารหัวเว่ยย้ำว่าการเป็นมหาวิทยาลัยสำคัญที่ให้การอบรมครูในประเทศไทย ทำให้หัวเว่ยต้องการร่วมมือ มศว เพื่อให้มีสะพานไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น

งบประมาณหลักที่ มศว จะใช้พัฒนาระบบไอทีในวิทยาเขตนั้นผสมผสานระหว่างงบสนับสนุนจากรัฐ และงบจากมหาวิทยาลัยเอง จุดนี้นักศึกษาจะจ่ายชำระเงินค่าเล่าเรียนในอัตราเท่าเดิม เพราะทุกโครงการเป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะไม่มีผลใดๆ ต่อนักศึกษา แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนได้ชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น