กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มองถึงอนาคตของภาคการศึกษาที่กำลังเปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่สูงขึ้น และความสามารถในการปรับตัวของภาคการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของศักยภาพในการเตรียมความพร้อมกำลังคนในประเทศไทย โครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) เดินหน้ามากว่า 2 ปี โดย ปี 2564 ถึง 2566 ถือเป็นการนำร่องพลิกโฉมฯ สร้างความเข้าใจในบทบาทการดำเนินงานในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และพร้อมก้าวสู่การปฏิรูปแบบเต็มรูปแบบในปี 2567 ในอนาคต พร้อมทลายข้อจำกัดของการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา พร้อมพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัยไทย ให้ขยับเข้าสู่เวทีวิชาการโลก ตอบสนองทิศทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนยุคสมัยใหม่
โดยนับตั้งแต่โครงการ พลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา ได้เริ่มต้นแบ่งกลุ่มความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4.กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และ 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ ตามกฎกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ก้าวแรกของการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี เหล่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยเริ่มมีความเข้าใจถึงแนวทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยของตนเองมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ยังมีความสับสนระหว่างทุนวิจัยแบบเดิม ๆ ที่ต่างคนต่างทำ ทำให้หลาย ๆ โครงการไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งความแตกต่างของโครงการทั่วไปกับโครงการพลิกโฉม อยู่ที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีเป้าหมายในการเป็นดาวที่โดดเด่นไว้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นจึงเขียนแผนเข้ามาเสนอเพื่อให้โครงการสนับสนุน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินบนเส้นทางที่ตนเองวางไว้ ทำให้รูปแบบของโครงการเป็นเสมือนพี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยที่เติมเต็มช่องว่างและแก้ไขอุปสรรคให้มหาวิทยาลัยสามารถก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จ และพร้อมสู่ก้าวแรกที่มั่นคงของการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา
“เป้าหมายของโครงการมีความชัดเจนในการพุ่งเป้าไปที่ 1.การพัฒนากำลังคนขั้นสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป และ 2.การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสร้างความเป็นเลิศ ตามการแบ่งกลุ่มของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะสามารถทำได้เพียงอย่างเดียว สามารถทำควบคู่หลายทักษะร่วมกันได้ แต่ในความชัดเจนของชื่อเสียงมหาวิทยาลัย ความโดดเด่นที่บุคคลภายนอกจะรับรู้ควรจะต้องแหลมขึ้นไปเป็นยอดเขาที่สวยงาม
และแม้ว่าการเริ่มต้นของโครงการจะยังต้องใช้เงินกองทุนจากภายนอกอยู่ แต่ศักยภาพและแนวความคิดของการพลิกโฉมก็เกิดผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน โดยนับตั้งแต่ปีแรกที่โครงการฯ ได้งบประมาณ 1,423 ล้านบาท เพื่อเริ่มต้นปรับโฉมมหาวิทยาลัย และสามารถผลักดันให้มหาวิทยาลัยเริ่มมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ ดังจะเห็นได้จากการประกาศรายชื่อ The Impact Ranking 2022 ที่เป็นการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกที่สะท้อนแนวคิดของ UN's SDGs ซึ่งมีรายชื่อมหาวิทยาลัยจากไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 52 มหาวิทยาลัย จากเดิมในปี 2021 ที่มีอยู่เพียงแค่ 25 มหาวิทยาลัยเท่านั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่าแต่เดิมมหาวิทยาลัยของไทยก็มีอยู่แล้วแต่ยังไม่เคยถูกยกระดับสู่สายตาของเวทีโลกก็เท่านั้น”
ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ขณะที่แนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยช่วงแรกแม้ว่าจะยังมีกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมอยู่เพียงแค่ 3 กลุ่มแรกเท่านั้น (1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น) โดยได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการจาก 17 มหาวิทยาลัย 15โครงการ เนื่องจากบางโครงการเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั้งภูมิภาคในการผสานความร่วมมือกันทำภายใต้โครงการเดียว ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนากำลังคนทางด้านวิชาการให้สามารถบูรณาการ การเรียนการสอนร่วมกันได้อย่างไม่จำกัดพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาหากแบ่งเป็นความสำเร็จแบบรายมหาวิทยาลัยนั้น เราจะเห็น มรภ.มหาสารคาม ที่โดดเด่นในด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สามารถเริ่มจัดตั้ง “หมู่บ้านราชภัฏ” ได้กว่า 17 ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตลอดจนมีการบูรณาการภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน ทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างคล่องตัว เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง
ส่วนของภาคเหนือ โครงการฯ สามารถส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เดินหน้าสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก และเกิดความร่วมมือกับเครือข่ายการวิจัยในระดับนานาชาติ โดยมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ระดับโลกหลายรายการจากความสำเร็จของโครงการฯ อาทิโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเชื้อรา และศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ก็สามารถช่วยยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกิดหลักสูตรการพัฒนากำลังคนและผลักดันทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมช่องทางการจัดจำหน่ายภายใต้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศทางด้านวิชาการเกษตรร่วมกัน
ด้านโครงการของมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้นั้น มีมหาวิทยาลัยรวมกลุ่มกันอยู่ 5 สถาบันภายใต้โครงการเดียวกัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มความเป็นเลิศด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น ก็สามารถจัดตั้งศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ตามความเชี่ยวชาญของพื้นที่ตั้งศูนย์ที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต และตอบโจทย์จุดแข็งของแต่ละพื้นที่ได้อย่างรู้ลึก รู้จริง อาทิ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอันดามัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มสินค้าฮาลาลในไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่เสนอโครงการเข้ามาอยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ที่มีการปรับโครงสร้างการเรียนการสอนให้สอดรับกับดิจิทัลมากยิ่งขึ้น รองรับระบบการทำงานร่วมกันของหลากหลายกลุ่มคนเพื่อยกระดับความเป็นสากลมากขึ้น อีกทั้งยังมีการยกระดับหลักสูตรสู่การรับรองระดับนานาชาติ และพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อเรียนร่วมกับนักศึกษาต่างชาติภายใต้หลักสูตรร่วมเดียวกันของ 2 มหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรเหล่านี้จะสามารถรับปริญญาได้จากทั้ง 2 มหาวิทยาลัยจากการเรียนเพียงหลักสูตรเดียว
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กล่าวว่า โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ได้รับเงินทุนเริ่มต้น 1,423 ล้านบาทในปี 2564 และปี 2565 ได้รับเงินสนับสนุน 600 ล้านบาท และปี 2566 มีการปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังไม่มีกองทุนของตนเอง ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีข้อจำกัดหลายส่วน แต่คาดว่าอนาคตการจัดตั้งกองทุนของโครงการในปีงบประมาณ 2567 หลังจากที่มติ ครม. เห็นชอบให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” นับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเงินตั้งต้นของกองทุนระยะแรกประมาณ 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มปีละ 5,000 ล้านบาท จากทั้งงบประมาณตามมาตรา 45(3) ซึ่งเป็นงบพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และงบประมาณจากมาตรา 45(4) งบเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และยังเปิดช่องให้สามารถรับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยร่วมกันได้อีกด้วย
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมโครงการกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา จากมหาวิทยาลัยด้านศาสนาของไทย 2 แห่ง มีการเน้นด้านการใช้จิตวิญญาณของศาสนาเข้ามาพัฒนาศักยภาพกำลังคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำโครงการได้ในปีงบประมาณ 2566 หรือ 2567 ต่อไป ขณะที่ส่วนของกลุ่มผลิตและพัฒนาบุคคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ เริ่มมีการเสนอโครงการเข้ามาหลายแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาบุคคลากรแบบเฉพาะทาง คาดว่าจะเห็นการดำเนินโครงการได้ราวปีงบประมาณ 2566 - 2567 ในปีงบประมาณ 2565 มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) จำนวน 61 แห่ง โดยแบ่งเป็น กลุ่ม 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก จำนวน 12 แห่ง 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จำนวน 19 แห่ง และ 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น จำนวน 30 แห่ง ซึ่งทั้งหมดได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยระยะเวลาการดำเนินโครงการ 12 เดือน
ศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระทรวง อว. มีแนวคิดในการพัฒนามหาวิทยาลัยในประเทศไทยทัดเทียมระดับสากล ครั้งนี้ โครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) มุ่งให้มหาวิทยาลัยในประเทศเดินหน้าตอบโจทย์ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น เป้าหมายสูงสุดคือการร่วมพลิกโฉมประเทศ ไม่ใช่พลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ถ้าเราอยากจะพลิกโฉมมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น แล้วเรายังยึดในงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียวจะยากในการพลิกโฉม จึงไม่ควรมองแค่ทำโครงการปีต่อปี แต่ควรสร้างทิศทางของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน “ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่เอาแผนของมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง” เราต้องปรับแนวทางมุมมองของบุคลากรให้ไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้มีการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เปิดมุมมองแนวคิด วิธีการ ให้ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย เข้ากับทางมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกับการแบ่ง 5 กลุ่ม เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่จึงมีความเข้าใจต่างกันและต้องคุยในระดับผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัย
“สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความคล่องตัวมากขึ้น นอกเหนือจากความเป็นเลิศที่ โครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) จะเข้ามาช่วยยกระดับสถาบันการศึกษาให้มีชื่อเสียงในระดับสากลแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านรูปแบบและวิธีการพัฒนากำลังคนทั้งบุคคลากรภายในมหาวิทยาลัยเองที่จะได้เข้าร่วมเครือข่ายวิชาการนานาชาติ นักศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้จากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของวงการอุดมศึกษาของประเทศไทยอย่างชัดเจน” ศาสตราจารย์พีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย.