เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ แถลงการณ์สนับสนุนการประกาศเสรีกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เปิดโอกาสประชาชนเข้าถึงใช้ดูแลสุขภาพอนามัยและรักษาผู้ป่วย รวมทั้งผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามย้ำต้องมีกฎหมายกำกับดูแลการใช้เชิงสันทนาการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันประกาศพร้อมขายทุกชิ้นส่วนจากต้นกัญชา ทั้งช่อดอกกิโลกรัม 35,000 บาท และต้นกล้าสายพันธุ์ “แม่โจ้03” ที่ผ่านการวิจัยพัฒนามาแล้วอย่างดีต้นละ 30 บาท ตั้งเป้าจัดสรรให้ได้ 1 ล้านต้น ตอบสนองความต้องการประชาชนทั่วไปให้ตรงถึงมือ รับประกันของแท้ ตัดปัญหามักถูกแอบอ้างชื่อนำไปใช้
วันนี้(10 มิ.ย.) ที่โรงปลูกกัญชาอินทรีย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้,ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันประกาศแถลงการณ์มหาวิทยาลัยแม่โจ้กรณีที่กัญชา กัญชง ได้ถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาโดยเฉพาะการปลูก เสพ สูบ สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำได้เสรี 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังคงมีอยู่ และมีพฤติกรรมการใช้ในบางเรื่องที่จำเป็นจะต้องได้รับการควบคุม
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศเสรีกัญชาในวันที่ 9 มิ.ย.65 มหาวิทยาลัยแม่โจ้โดยคณะผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยมีคความเห็นร่วมกันดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขอสนับสนุนในนโยบายของรัฐบาลเรื่องกัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ,2.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขอสนับสนุนนโยบายกัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงของประชาชนทางด้านสุขภาพอนามัย และการรักษาตนเองสำหรับผู้ป่วย ,3.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขอสนับสนุนให้มีกฎหมายกำกับดูแลการใช้กัญชาเชิงสันทนาการอย่างเข้มงวด สำหรับเด็กและเยาวชน,4.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขอสนับสนุนและส่งเสริมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยตัวใหม่ โดยกระบวนการผลิตจะต้องถูกสุขอนามัยและปลอดสารพิษ และ 5.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ขอปวารณาตัวในการเป็นแหล่งความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องกัญชา เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ด้านกัญชาสู่สังคม
ขณะเดียวกันอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์แบบครบวงจรด้วยการปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ไม่มีสารเคมี และสารปรุงแต่งใดๆ มาโดยตลอด ซึ่งในส่วนของดอกกัญชาจะจัดส่งให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลิตยาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่เหลือ เช่น ใบ,ราก หรือต้น ได้เปิดจำหน่ายให้ประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตามจากการที่ได้มีการประกาศเสรีกัญชา ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 แล้ว เวลานี้ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้เปิดจำหน่ายกล้าพันธุ์กัญชาสายพันธุ์แม่โจ้ 03 ให้กับประชาชนทั่วไปด้วย ในราคาต้นละ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและดูแลสุขภาพ
ทั้งนี้ต้นกล้าที่มีการจำหน่ายนั้น จะเป็นต้นกล้าอายุประมาณ15-20วัน ยังไม่ทราบเพศ ตั้งเป้าหมายเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย 1 ล้านต้น พร้อมกันนี้ยังเปิดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์แม่โจ้ 03 ด้วยในราคาเมล็ดละ 20 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการนำไปเพาะขยายพันธุ์และปลูกด้วยตัวเอง นอกจากนี้ในส่วนของดอกกัญชาที่เดิมจะจัดส่งให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลิตยาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น จากนี้ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเปิดจำหน่ายให้ประชาชนด้วยโดยเบื้องต้นตั้งราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 35,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อซื้อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมายเลขโทรศัพท์ 053-873730,084-4888305 และLine ID:@kancha
ด้านนายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า กัญชาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นสายพันธุ์กัญชาที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีโดยทั่วกันทั้งด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีผู้ที่แอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกัญชาอยู่ตลอด
ดังนั้นเมื่อมีการประกาศเสรีกัญชาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกล้าพันธุ์กัญชาและชิ้นส่วนกัญชาคุณภาพดีที่เป็นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จริงๆ ได้ง่ายขึ้น โดยสามารถติดต่อสอบถามและซื้อได้โดยตรงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการประกาศเสรีกัญชา แต่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ย้ำจุดยืนว่าสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์,ส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน และส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่การนำไปใช้ในเชิงสันทนาการนั้น สนับสนุนให้มีกฎหมายกำกับดูแลการใช้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน