xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย ม.แม่โจ้จับมือปางช้างแม่สาผลิตปุ๋ยขี้ช้างอัดเม็ดผสมเชื้อเห็ด เพาะได้จริงทั้งกิน-ขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับปางช้างแม่สา พัฒนาต่อยอดปุ๋ยอินทรีย์จากขี้ช้าง ทำปุ๋ยอัดเม็ดผสมเชื้อเห็ดสามารถเพาะได้จริงทั้งเพื่อบริโภคและขาย เป็นทางเลือกลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ โดยเห็ดถอบกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ที่โรงปุ๋ยปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา, ดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมคณะ ร่วมกันสาธิตและให้ความรู้การทำปุ๋ยสูตรต่างๆ โดยเฉพาะการเพาะเห็ดป่า เห็ดสวน เห็ดเพาะ ที่เพาะขายทั่วไป โดยการนำเชื้อเห็ดผสมกับปุ๋ยมูลช้างอัดเม็ด และปุ๋ยมูลช้างชนิดผง เพื่อต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มของมูลช้าง และยังช่วยส่งเสริมรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ ที่นำกระถางแปรรูปจากใบไม้ โดยนำกระถางที่ทำจากมูลช้าง และกระถางใบไม้นำมาเป็นกระถางเพาะเห็ดจากมูลช้างด้วย

ทั้งนี้ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา บอกว่า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลช้าง ปางช้างแม่สา ดำเนินการมานานถึง 3 ปี เพื่อให้คุณภาพของปุ๋ยมูลช้างเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด และเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรอินทรีย์ และชุมชนเมือง โดยความร่วมมือ และการต่อยอดพัฒนาทำต้นแบบปุ๋ยมูลช้าง จนกลายมาเป็น คชาภัณฑ์ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งผลิตขึ้นที่ปางช้างแม่สา จึงนับเป็นอีกทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ให้กับพืชผลทางการเกษตรที่สามารถจับต้องได้ สามารถลดรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยในการปลูกพืชผลทางการเกษตร 

วันนี้ได้รับเกียรติจากทางศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ ได้มาแนะนำต่อยอดเพื่อพัฒนาดินปลูกพลังช้างแบบดินพร้อมปลูก พัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มพลังดิน แบบผง / แบบเม็ด ปุ๋ยอินทรีย์แบบมีเชื้อเห็ดผสมผสาน พร้อมทั้งปรับสูตรดิน ปลูกสำหรับกระถางปลูกกึ่งสำเร็จรูปสมาร์ทคัพ เพื่อต่อยอด และ หารายได้เพิ่มมาดูแลช้างไทยที่ปางช้างแม่สาแห่งนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักจริงๆ ก็เพื่อให้ผลผลิตที่ได้จากช้าง กลับมาดูแลช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย


ดร.สุมิตร อธิพรหม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ บอกว่า วันนี้ได้นำตัวอย่างปุ๋ยแต่ละชนิด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต้นแบบต่างๆ จากมูลช้างมาสาธิต พร้อมให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจร ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะมีบทบาทในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลช้าง และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งวันนี้นำตัวอย่างปุ๋ยแต่ละชนิด พร้อมผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยนำดินปลูกพลังช้าง แบบดินพร้อมปลูก แบบผง และแบบเม็ด ผสมกับเชื้อเห็ดมาสาธิตวิธีทำ และปรับสูตรดินปลูกสำหรับกระถางปลูกกึ่งสำเร็จรูปแบบสมาร์ทคัพอีกด้วย

ขณะที่ ดร.สุมิตรบอกด้วยว่า การเพาะเห็ดป่า เช่น เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ รวมไปถึงเห็ดใบแขนงต่างๆ มีทั้งชนิดเห็ดป่า ชนิดเห็ดสวน และเห็ดที่เพาะได้ทั่วไป ขั้นตอนคือ การนำเชื้อเห็ดมาหมักเป็นหัวเชื้อแล้วนำไปผสมกับปุ๋ยมูลช้าง เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมี แล้วนำไปอัดเม็ด ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ในการบำรุงแปลงปลูกผัก และพืชผลตามกระถางดอกไม้ โดยมีเชื้อเห็ดผสมในกระถางอยู่ด้วย เห็ดสามารถเจริญเติบโตตามแปลงเพาะปลูกในสวนผัก และในกระถาง หรือในต้นไม้ที่เราต้องการเพาะเห็ด เราก็จะได้มีเห็ดไว้รับประทานได้ตามต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ปางช้างแม่สาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้พัฒนามูลค่าเพิ่มจากมูลช้าง ที่นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แล้วยังสร้างอาหาร คือเห็ดชนิดต่างๆ ไว้รับประทานได้ในช่วงฤดูที่เห็ดออกมาในปีนี้จำนวนมากที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย


สำหรับสูตรการเพาะเห็ดผสมดินปุ๋ยมูลช้างของปางช้างแม่สา กับอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้นั้น อัตราส่วน นำเชื้อเห็ด โดยเลือกเห็ดดอกแก่ๆ จำนวนอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ส่วน จากนั้นนำเชื้อเห็ดผสมน้ำหมักไว้ 1 คืนขึ้นไป ต่อมานำน้ำเชื้อเห็ดไปผสมกับดินปุ๋ยมูลช้างแล้วอัดเม็ด จะได้ดินปุ๋ยมูลช้างมีเชื้อเห็ด เพื่อนำไปเพาะในแปลงปลูกพืชผักสวนครัว หรือในกระถางต้นไม้ รดน้ำผักตามปกติก็ได้เห็ดจากการเพาะปลูกออกดอกให้รับประทาน พร้อมพืชผักสวนครัวได้ ซึ่งเห็ดบางชนิด สามารถดูดซึมปุ๋ยมาให้พืชได้อีกด้วย ส่วนปุ๋ยมูลช้างนั้น ช่วยทำให้สปอร์เห็ดเกาะตัวที่มูลช้างจะช่วยให้เห็ดขยายเชื้อ และออกดอกได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากดินปุ๋ยมูลช้างอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งต่อไปในอนาคตจะสามารถนำรายได้มาเลี้ยงช้างในปางช้างแม่สาจำนวน 68 เชือก และยังเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในการลดภาระการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาที่สูงขึ้น ให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้างในการดูแลพืชผลทางการเกษตรในระยะสั้น ที่สำคัญช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งผู้สนใจดินปุ๋ยมูลช้างสามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 06-3489-3594 คุณรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการปางช้างแม่สา หรือ 08-9838-4242 ได้ทุกวัน






กำลังโหลดความคิดเห็น