xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์ หนุนโครงการ "นวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม" ฟื้นเศรษฐกิจช่วยชุมชน พร้อมจ้างนักศึกษาจบใหม่เป็น "นักพัฒนาโครงการ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยออยล์ร่วมกับกลุ่มปตท.สนับสนุนโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม (Smart Farming) ดูแลพื้นที่ 3 โครงการเป้าหมาย เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วยเหลือชุมชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย “เกษตรอัจฉริยะ” พร้อมจ้างงานนักศึกษาจบใหม่มาเป็นนักพัฒนาผ่านโครงการ Restart Thailand

นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม (Smart Farming) ว่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2564 โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและการเพาะปลูก พร้อมทั้งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรวิถีใหม่

นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม มี 3 โครงการเป้าหมาย ได้แก่ “โครงการปลูกผักสวนครัว” ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จำนวน 2 โรงเรือน รวม 6 แปลงปลูก “โครงการปลูกผักสวนครัวและผักที่มีมูลค่าสูง” ณ เรือนจำกลางชลบุรี ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีพื้นที่เพาะปลูก 4 โรงเรือน เน้นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างโอกาสให้กับผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะอาชีพด้านการเกษตร เพื่อให้ผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษชั้นดีใกล้จะได้รับการพ้นโทษออกจากเรือนจำสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพต่อได้

ส่วน “โครงการศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเพาะปลูกใบบัวบกอินทรีย์” อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) เป็นโรงเรือนแบบเปิด 1 หลัง 6 โต๊ะ เน้นให้การสนับสนุนเกษตรกรในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีตลาดรองรับ และมีการบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในอนาคตได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมต่อไป


“ทั้ง 3 โครงการเน้นการนำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและพลังงานของกลุ่มไทยออยล์มาช่วยเหลือและพัฒนาโครงการฯ โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ครอบคลุมการออกแบบและการวิเคราะห์ปัจจัยทางการเกษตรตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สำหรับรูปแบบในการดำเนินการ จะเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนเพาะปลูก พร้อมเทคโนโลยี เช่น การใช้ระบบ IOT บริหารจัดการน้ำ ที่ประกอบด้วย sensor รดน้ำอัตโนมัติ Timer ตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำ sensor วัดอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน บันทึกข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกร และ Tailor-made fertilizer เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังช่วยเหลือด้านการตลาดด้วยการจำหน่ายผลผลิตที่ได้ให้กับพนักงาน ผ่านการตลาดออนไลน์

นายวิโรจน์ กล่าวเสริมว่า “ทั้ง 3 พื้นที่ จะจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ซึ่งในอนาคตเกษตรกรจะเป็นผู้สอน เป็นโค้ชชิ่ง ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กลุ่มต่อไปที่ต้องการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเพื่ออาชีพเสริมหรืออาชีพหลักก็ถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งยังสนับสนุนการจ้างงานผ่านโครงการ Restart Thailand โดยจ้างนักศึกษาจบใหม่เข้ามาเป็นนักพัฒนาโครงการด้วย”


ผศ.ดร.รัตนากร กฤษณชาญดี หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ (มทร.) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า มทร.ได้สนับสนุนพื้นที่ 5 ไร่ ที่ ต.บางพระ เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกับไทยออยล์ โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไทยราชมงคลฟาร์มมิ่ง เป็นกลุ่มเกษตรกรหลักดูแลพื้นที่ โดยพืชเป้าหมาย คือ ผักสลัดและผักสวนครัว อาทิ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เคล คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง เป็นต้น ส่วนที่เรือนจำกลางมีพืชเป้าหมาย คือ ผักสลัด ผักสวนครัว เช่น เคล กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค โขมเขียว โขมแดง ผักชี ต้นหอม โหระพาและเมล่อน โดย มทร.ทำหน้าที่ให้องค์ความรู้ และเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเพาะปลูก ไปจนถึงวิธีการจัดเก็บผลผลิตเพื่อออกสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม (Smart Farming) จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ไม่เฉพาะเกษตรกร แต่ยังรวมไปถึงนักศึกษาจบใหม่ในโครงการ Restart Thailand ให้สามารถสร้างรายได้ในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยอาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆก่อนแล้วขยายต่อไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น แต่เกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ซึ่งสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ยังสามารถเข้าร่วมได้ โครงการฯ จึงนับเป็น “แหล่งเรียนรู้ต้นแบบ เกษตรอัจฉริยะ” ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัย และเหมาะสมในการทำการเกษตร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป