xs
xsm
sm
md
lg

Twitter เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปขนาดไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ปิดดีลซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) อย่างเป็นทางการ โดยสัญญาว่าจะลดการเซ็นเซอร์บนแพลตฟอร์มลง แนวทางนี้ทำให้เกิดคำถามว่าไอเดียของมักส์จะมีความหมายอย่างไรกับทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นเหมือนหนึ่งในไข่แดงกลางโลกดิจิทัลที่ทุกคนจับตามอง 

กลุ่มแรกที่ออกมาแสดงความกังวลในอนาคตของทวิตเตอร์คือ กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยมองว่าการเซ็นเซอร์ที่น้อยลงอาจนำไปสู่การขาดการกลั่นกรองจนทำให้คำพูดแสดงความเกลียดชังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนก็ตั้งคำถามว่า บัญชีที่ถูกระงับไปโดย "ทวิตเตอร์ยุคก่อน" จะได้รับอนุญาตให้กลับคืนมาหรือไม่? ซึ่งคำถามนี้ทำให้ไฟสปอตไลต์ส่องไปจับ "โดนัลด์ ทรัมป์" หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดซึ่งถูกระงับบัญชีไปก่อนหน้านี้

มัสก์ผู้เคยวิพากษ์วิจารณ์ทวิตเตอร์เกี่ยวกับการกลั่นกรองความเห็นต่างๆ บนทวิตเตอร์นั้นย้ำว่า ทวิตเตอร์ต้องเป็นพื้นที่ที่แท้จริงสำหรับการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ จึงต้องการเปิดเผยอัลกอริธึมที่รันบนทวิตเตอร์ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการอนุญาตให้ผู้ใช้เข้าดู และเสนอแนะการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย



ไม่เพียงสนับสนุนแนวทางในการไม่ควบคุมเนื้อหา แต่มัสก์ยังชูแนวทางการปรับเปลี่ยนทวิตเตอร์ ที่จะช่วยให้ชาวโลกใช้บริการได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นการเพิ่มปุ่มแก้ไขข้อความทวีต รวมถึงการลบที่อาจแก้ปัญหา "สแปมบอท" ที่ทวีตข้อความไม่พึงประสงค์จำนวนมากถึงผู้ใช้ได้

***ถึงยุค "ทวิตเตอร์เป็นพิษ"?

หลังจากมีการประกาศว่าคณะกรรมการบริหาร 11 คนของทวิตเตอร์ ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อข้อเสนอซื้อหุ้นมูลค่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญของมัสก์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชันแนล (Amnesty International) ได้ทวีตแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคำพูดแสดงความเกลียดชังที่อาจร้ายแรงขึ้นบนทวิตเตอร์ โดยมองว่าอำนาจที่มัสก์มี อาจจะทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นบริษัทที่บรรยายได้แค่ 2 คำคือ "toxic twitter"

ความเห็นนี้อาจมองในแง่ลบสุดขีด และไม่สนใจคำพูดของอีลอน มัสก์ ที่ตกลงซื้อทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพราะมองว่าเสรีภาพในการพูดเป็น "รากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง" โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่าองค์กรมีความกังวลในทุกขั้นตอนที่ทวิตเตอร์อาจทำลายการบังคับใช้นโยบาย และกลไกที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้ใช้ จนอาจจงใจเมินเฉยต่อคำพูดที่รุนแรงและไม่เหมาะสมต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง



นอกจากความเป็นพิษของทวิตเตอร์ บางความเห็นมองว่าการแบนบัญชีของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะถูกยกเลิก ที่ผ่านมา บัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกยุติอย่างถาวรเมื่อปี 2021 หลังจากการจลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่อาคารแคปิตอลในกรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ตาม แม้การแบนอาจจะถูกยกเลิก แต่ทรัมป์ก็ยืนยันว่าไม่ได้วางแผนที่จะกลับมาใช้งานทวิตเตอร์อีก โดยจะเลือกใช้แพลตฟอร์มทรูธโซเชียล (Truth Social) ของตัวเองต่อไป พร้อมแสดงความเห็นด้วยว่าทวิตเตอร์ต้องปรับปรุงขนานใหญ่

เบื้องต้น หมิง ชิเกา (Ming-Chi Kuo) นักวิเคราะห์เทคโนโลยีของบริษัทจัดการการลงทุน TF International Securities ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ว่า ทรัมป์อาจตัดสินใจกลับสู่ทวิตเตอร์ หากทรัมป์ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 และทวิตเตอร์เต็มใจที่จะกู้คืนบัญชีของทรัมป์ในเวลานั้น เนื่องจากทวิตเตอร์ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับการแสดงความคิดเห็น และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลมากกว่าทวิตเตอร์ ได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป

***คนจะโบกมือลา Twitter หรือไม่?

ในขณะที่มัสก์ย้ำถึงเสรีภาพในการแสดงออก แต่ผู้ใช้บางรายกลับขู่ว่าพร้อมจะออกจากทวิตเตอร์ ในขณะที่บางบัญชีประกาศเลิกใช้งานแล้ว หนึ่งในนั้นคือนักแสดงสาวชาวอังกฤษ จามีลา จามิล (Jameela Jamil) ดาวเด่นจากละครเรื่อง The Good Place มองว่าแพลตฟอร์มทวิตเตอร์จะกลายเป็น "พื้นที่ที่ไร้กฎหมาย" เต็มไปด้วยการแสดงความเกลียดชัง และเหยียดผู้หญิงมากขึ้นไปอีก พร้อมกับบอกผู้ติดตาม 1 ล้านคนว่านี่เป็นทวีตสุดท้ายของเธอ



หากกระแสต่อต้านแรงขึ้นจนทำให้ "บัญชีคุณภาพ" ที่มีผู้ติดตามหลายแสนคนออกจากทวิตเตอร์ไปมากขึ้น สังคมทวิตเตอร์อาจจะเข้าขั้นวิกฤต โดยแคโรไลน์ ออร์ บูเอโน (Caroline Orr Bueno) นักวิจัยหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าจะยังอยู่กับทวิตเตอร์ท่ามกลางผู้ติดตามมากกว่า 450,000 คนต่อไป แต่ยอมรับว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าภายใต้การนำของอีลอน มัสก์ ทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไร

ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงต้องใช้วิธีการรอดู ว่าทวิตเตอร์จะดึงดูดผู้ใช้ใหม่ได้มากขนาดไหน และจะหยุดการแปรเปลี่ยนใจจากแพลตฟอร์มได้เพียงใด ทั้งหมดยังเป็นความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า

ด้าน แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์นั้นให้ความเห็นแบบกลางสุดขีด โดยบอกว่าตัวเขามีความสุขที่แพลตฟอร์มจะยังคงให้บริการการสนทนาสาธารณะต่อไป และเชื่อมั่นว่า "ไม่ควรมีใครได้เป็นเจ้าของ หรือเรียกใช้ทวิตเตอร์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ก่อนจะย้ำว่า ทวิตเตอร์จะต้องเป็นสินค้าสาธารณะในระดับโปรโตคอล ไม่ใช่สินค้าของบริษัท

ในขณะที่ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ทิ้งท้ายว่า อีลอน มัสก์คือโซลูชันเดียวที่ไว้ใจได้สำหรับการแก้ปัญหาในการเป็นบริษัทของทวิตเตอร์ แต่ปารัค อากราวาล (Parag Agrawal) ผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ได้ส่งสารถึงพนักงานในที่ประชุม โดยยอมรับว่าอนาคตของบริษัทยังไม่แน่นอน ซึ่งรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ย้ำว่า บอร์ดบริหารเองยังไม่ทราบชัดว่าแพลตฟอร์มจะไปในทิศทางใด

ดังนั้น ทวิตเตอร์จะเปลี่ยนไปแน่นอนในวันที่เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ต้องรอดูคือเปลี่ยนน้อยหรือเปลี่ยนมากเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น