xs
xsm
sm
md
lg

‘อีลอน มัสก์’ ปิดดีลซื้อ ‘ทวิตเตอร์’ $4.4 หมื่นล้าน คุมสื่อสังคมออนไลน์ทรงอิทธิพลของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีลอน มัสก์ บรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการทวิตเตอร์ อิงค์ มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันจันทร์ (25 เม.ย.) การซื้อขายที่จะเปลี่ยนการควบคุมแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่มีผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลก สู่มือของบุรุษผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก

มันถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของบริษัทอายุ 16 ปีแห่งนี้ที่โผล่ขึ้นมาในฐานะหนึ่งในจัตุรัสสาธารณะทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก แต่เวลานี้กำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ

มัสก์ เคยวิพากษ์วิจารณ์ทวิตเตอร์เกี่ยวกับการกลั่นกรองความเห็นต่างๆ และบอกว่าต้องการเปิดเผยอัลกอริธึมที่รันบนทวิตเตอร์ หรือแม้แต่อนุญาตให้ผู้ใช้เข้าดู และเสนอแนะการเปลี่ยนแปลง

เขายังสนับสนุนแนวทางในการไม่ควบคุมเนื้อหา ซึ่งเป็นประเด็นร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลมีชื่อเสียง อย่างเช่นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกทวิตเตอร์แบนหลังเหตุกองเชียร์ทรัมป์บุกอาคารรัฐสภาเพื่อล้มล้างผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว

บรรดานักการเมืองหัวอนุรักษนิยมหวังว่าทวิตเตอร์ภายใต้การควบคุมของ มัสก์ จะกลั่นกรองความคิดเห็นน้อยลงและคืนสถานะบัญชีของบรรดาบุคคลที่ถูกแบน ในนั้นรวมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ มัสก์ เคยอธิบายการปรับเปลี่ยนที่ช่วยให้ใช้บริการได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นปุ่มแก้ไขและลบ "สแปมบอท" ที่ทวีตข้อความไม่พึงประสงค์จำนวนมากถึงผู้ใช้

หลังจากดูเหมือนยังไม่มีความแน่นอนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้เร่งพูดคุยหารือกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง มัสก์ โน้มน้าวบรรดาพวกผู้ถือหุ้นของทวิตเตอร์ด้วยรายละเอียดทางการเงินที่เขาเสนอไป

ทวิตเตอร์เริ่มต้นเจรจากับ มัสก์ ที่ยื่นขอซื้อบริษัท ด้วยข้อเสนอ 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น “เสรีภาพในการพูดเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และทวิตเตอร์ก็เป็นเหมือนจัตุรัสแห่งเมืองดิจิทัล ที่มีไว้ให้ผู้คนได้ถกเถียงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ” มัสก์ระบุในแถลงการณ์ซื้อกิจการ

หุ้นของทวิตเตอร์ปรับขึ้น 5.77% ในวันจันทร์ (25 เม.ย.) ปิดที่ 51.70 ดอลลาร์ แต่กระนั้นยังคงต่ำกว่าระดับ 70 ดอลลาร์ ที่ซื้อขายกันเมื่อปีที่แล้ว

ความเคลื่อนไหวของมัสก์ เป็นการสานต่อธรรมเนียมของบรรดาอภิมหาเศรษฐีทั้งหลายที่เข้าซื้อควบคุมแพลตฟอร์มทรงอิทธิพลต่างๆ ในนั้นรวมถึงการเข้าเทกโอเวอร์กิจการนิวยอร์กโพสต์ของรูเพิร์ต เมอร์ดอช ในปี 1976 และวอลล์สตรีท เจอร์นัล ในปี 2007 เช่นเดียวกับการเข้าซื้อวอชิงตันโพสต์ ของ เจฟฟ์ เบซอส ในปี 2013

มัสก์ ซึ่งจากข้อมูลของฟอร์บส์ระบุว่า มีทรัพย์สิน 268,000 ล้านดอลลาร์ ระบุว่าความกังวลหลักของเขาไม่ใช่ผลประกอบการของทวิตเตอร์ "การมีแพลตฟอร์มสาธารณะที่ไว้ใจได้สูงสุดและครอบคลุมอย่างกว้างขวาง มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของความศิวิไลซ์ ผมไม่แคร์เรื่องเงินๆ ทองๆ เลยแม้แต่นิดเดียว"

มัสก์ เป็นซีอีโอของทั้งเทสลา อิงค์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และสเปซ เอ็กซ์ บริษัทธุรกิจการขนส่งทางอวกาศ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาจะมีเวลาให้ทวิตเตอร์มากแค่ไหน ในขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ของเขา ซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 80 ล้านคน ถูกมองว่ามีความสำคัญ ในฐานะเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์แก่เทสลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เบื้องต้น ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้บริหารงานทวิตเตอร์

แม้ ทวิตเตอร์ มีขนาดแค่ 1 ใน 10 ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่กว่าอย่างเฟซบุ๊ก แต่ทวิตเตอร์มีความสำคัญเกินขนาดมาก มันถูกยกเครดิตในการช่วยโหมกระพือจลาจลลุกฮือ "อาหรับสปริง" และถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในเหตุจู่โจมอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021

หลัง ทวิตเตอร์ แบนบัญชีอย่างเป็นทางการของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในความกังวลเกี่ยวกับการปลุกปั่นความรุนแรง ตามหลังเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ โดยบรรดาผู้สนับสนุนของเขาเมื่อปีที่แล้ว มัสก์ ทวีตข้อความว่าผู้คนมากมายคงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากกับสื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้ ที่ทำตัวเป็นตุลาการโดยพฤตินัยของเสรีภาพการแสดงออก

ทรัมป์ ซึ่งกำลังสร้างสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า ทรัมป์ โซเชียล คู่แข่งของทวิตเตอร์ ระบุว่าเขาจะไม่กลับสู่ทวิตเตอร์อีกแล้ว

ทำเนียบขาวในวันจนทร์ (25 เม.ย.) ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงของมัสก์ แต่บอกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความกังวลมาช้านนานเกี่ยวกับอำนาจของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์

"ความกังวลของเราไม่ใช่เรื่องใหม่" เจน ซากิ โฆษกทำเนียบขาวระบุ พร้อมกล่าวว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบ "ท่านประธานาธิบดีพูดมานานเกี่ยวกับความกังวลของเขาต่ออำนาจของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ในนั้นรวมถึงทวิตเตอร์และอื่นๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน"

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น