ทวิตเตอร์ดิ้นสุดฤทธิ์ขวางไม่ให้อีลอน มัสก์ เข้าถึงหุ้นที่เหลืออยู่ สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอนาคตที่เจ้าพ่อเทสลาอาจนำพาไปมากกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับ
โรเจอร์ เคย์ นักวิเคราะห์ของเอนด์พอยต์ เทคโนโลยีส์ ชี้ว่า ฝ่ายบริหารและคณะกรรมการทวิตเตอร์ต่างรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล
เขายังบอกว่า โดยเนื้อแท้แล้วมัสก์เป็นพวกเผด็จการ ขณะที่รูปแบบอิสรนิยม (libertarianism) ที่เขาแสดงออกก็มีร่องรอยของการเมืองฝ่ายขวาจัด
ต้นเดือนนี้ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก และผู้ใช้ทวิตเตอร์ขาประจำที่มักจุดประเด็นก่อให้เกิดการโต้แย้ง เสนอซื้อทวิตเตอร์แบบไม่มีใครเชื้อเชิญด้วยวงเงิน 43 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่า ต้องการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ราคาดังกล่าวที่มัสก์ระบุว่า เป็นข้อเสนอสุดท้าย ตีมูลค่าทวิตเตอร์ไว้ที่หุ้นละ 54.20 ดอลลาร์ สูงกว่าราคาปิดก่อนการเสนอซื้อ แต่ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ทำไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วที่ 77.06 ดอลลาร์
ทว่า คณะกรรมการบริหารทวิตเตอร์เลือกตอบโต้โดยประกาศจะใช้มาตรการกลืน “ยาพิษ” ซึ่งหมายถึงว่า ถ้ามีใครกว้านซื้อหุ้นบริษัทเกินกว่า 15% โดยไม่ได้รับการยินยอมจากบอร์ดบริหารแล้ว ก็จะเจอตอบโต้ด้วยแผนการออกหุ้นใหม่จำนวนมาก เพื่อให้การพยายามกว้านซื้อหุ้นทำได้ยากขึ้น
สำหรับในตอนนี้ มัสก์ยังมีหุ้นในทวิตเตอร์กว่า 9% กระนั้นก็มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด
มหาเศรษฐีผู้นี้ที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทรถไฟฟ้าเทสลา ทวีตว่า “เลิฟ มี เท็นเดอร์” ซึ่งเป็นชื่อเพลงของเอลวิส เพรสลีย์ แต่มีบางคนตีความว่า มัสก์กำลังชั่งใจว่า จะหาทางเลี่ยงบอร์ด และเสนอซื้อหุ้นโดยตรงจากผู้ถือหุ้น (tender offer)
มัสก์เคยบอกว่า ต้องการเปิดเผยอัลกอริธึมที่รันบนทวิตเตอร์ หรือแม้แต่อนุญาตให้ผู้ใช้เข้าดูและเสนอแนะการเปลี่ยนแปลง
เขายังสนับสนุนแนวทางในการไม่ควบคุมเนื้อหา ซึ่งเป็นประเด็นร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลมีชื่อเสียงอย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกทวิตเตอร์แบนหลังเหตุกองเชียร์ทรัมป์บุกอาคารรัฐสภาเพื่อล้มล้างผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว
ร็อบ เอนเดอร์ลี จากเอนเดอร์ลี กรุ๊ป กล่าวว่า มัสก์บอกว่า ต้องการเปลี่ยนทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไม่ต้องมีการกลั่นกรองเนื้อหา ซึ่งอันที่จริงแล้วมีแพลตฟอร์มแบบนั้นมากอยู่แล้วและไม่ได้ผล เพราะกลายเป็นการผลักไสผู้ใช้ให้ตีจากเพราะการที่เกรียนคีย์บอร์ดเข้ายึดแพลตฟอร์ม
เขาสำทับว่า ความพยายามทำให้ทวิตเตอร์เป็น “แพลตฟอร์มปีกขวา” ไม่ได้รับการสนับสนุน โดยเขายกตัวอย่างจากเว็บไซต์เครือข่ายสังคมซึ่งทรัมป์พยายามผลักดัน ภายหลังถูกแบนจากทวิตเตอร์ และปรากฏว่าไปได้ไม่ถึงไหน
มัสก์ยังบอกอีกว่า เขาเกลียดการแบนผู้ใช้ไม่ให้เข้าถึงทวิตเตอร์เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่ดี คำพูดนี้ทำให้หลายคนเชื่อว่า ถ้าเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์สำเร็จ เขาจะอนุญาตให้ทรัมป์กลับมาใช้แพลตฟอร์มได้ใหม่
แต่เอนเดอร์ลี แย้งว่า มัสก์ไม่ได้สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นเสรีจริงอย่างปากว่า โดยอ้างอิงการที่เขาเยาะเย้ยพวกที่พยายามเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในเทสลา หรืออย่างในกรณีที่เขาตอบโต้เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ชี้ข้อบกพร่องของไอเดียของตนเรื่องการช่วยทีมหมูป่าที่ติดถ้ำในไทยเมื่อหลายปีก่อน โดยให้ร้ายว่า เป็นพวกใคร่เด็ก
นอกจากนั้น บอร์ดทวิตเตอร์ยังกังวลว่า การที่มัสก์เข้าฮุบกิจการ อาจเพิ่มความกดดันต่อความพยายามของบริษัทในการจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ในโซเชียลมีเดีย
แคโรไลนา มิลาเนซี นักวิเคราะห์ของครีเอทีฟ สเตรทเทอจีส์ มองว่า ทวิตเตอร์อาจกำลังคิดว่า หน่วยงานคุมกฎจะทำอะไรกับบริษัทถ้ามัสก์เข้าฮุบกิจการ เพราะลำพังตอนนี้บริษัทก็ถูกทางการตรวจสอบมากพอแล้ว
ทั้งนี้ มูดี้ส์ประเมินว่า มัสก์ต้องจ่าย 39,000 ล้านดอลลาร์ถ้าต้องการซื้อหุ้นทวิตเตอร์ที่เหลือทั้งหมด และมีโอกาสสูงที่เขาจะต้องชำระหนี้ หรือรีไฟแนนซ์หนี้หลายพันล้านดอลลาร์ที่ค้างอยู่ของเทสลา ทำให้มีข่าวลือหนาหูว่า มัสก์กำลังหาพันธมิตรกระเป๋าหนักมาช่วยปิดดีลทวิตเตอร์
ขณะเดียวกัน ใช่ว่านักวิเคราะห์ทุกคนมองแง่ลบไปหมด เช่น ริชาร์ด สมิธ ประธานบริหารริสก์สมิธ ที่บอกว่า มัสก์อาจเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ไปในทางที่ดีก็ได้
(ที่มา : เอเอฟพี)