“อีลอน มัสก์” ถึงแม้กลายเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน “ทวิตเตอร์” แต่ก็กลับลำไม่ขอนั่งในบอร์ดบริษัทโซเชียลมีเดียแห่งนี้ กูรูชี้เป็นไปได้ “เจ้าพ่อเทสลา” เล็งเข้าเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์เสียเลย นอกจากนั้น การถอนตัวไม่ร่วมในบอร์ดอย่างกะทันหันยังอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมัสก์กับทวิตเตอร์มีความขุ่นหมองมากขึ้น และอาจถึงขั้นที่มัสก์จะหาทางปลดและเปลี่ยนสมาชิกในบอร์ด
ปารัก อักราวัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทวิตเตอร์ เป็นผู้เปิดเผยข่าวเรื่องมัสก์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมบอร์ดของบริษัทแล้ว หลังจากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มัสก์ทวิตทำนองว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทวิตเตอร์ ซึ่งรวมถึงการทำให้ไซต์แห่งนี้ปลอดโฆษณา แม้รายได้เกือบ 90% ของทวิตเตอร์เมื่อปีที่แล้วมาจากโฆษณาก็ตาม
อักราวัลแจงในโน้ตที่ส่งถึงพนักงานของทวิตเตอร์ว่า การแต่งตั้งมัสก์เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารนั้นมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 9 แต่เช้าวันเดียวกันนั้นเอง มัสก์กลับทวิตว่า จะไม่เข้าร่วมบอร์ดแล้ว
แม้ไม่ได้ให้คำอธิบายการตัดสินใจของมัสก์ แต่อักราวัล ระบุว่า บอร์ดเข้าใจดีถึงความเสี่ยงหากมัสก์เข้ามาเป็นสมาชิก
ทั้งนี้ มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทรถไฟฟ้าเทสลา กลายเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เข้าซื้อหุ้นในทวิตเตอร์รวมแล้วมากกว่า 9% โดยอภิมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดโลกคนล่าสุดผู้นี้ เริ่มเก็บหุ้นทวิตเตอร์เกือบทุกวันมาตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.
จากนั้นทวิตเตอร์ก็เสนอที่นั่งในบอร์ดให้มัสก์อย่างรวดเร็วภายใต้เงื่อนไขว่า เขาจะไม่ถือหุ้นที่ชำระเงินแล้วของบริษัทเป็นจำนวนเกินกว่า 14.9%
แฮร์รี เครเมอร์ ศาสตราจารย์ของคณะบริหารธุรกิจเคลล็อก แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการและซีอีโอแบ็กซ์เตอร์ อินเตอร์เนชันแนล ให้ความเห็นว่า ถ้าต้องการเทกโอเวอร์บริษัท การไม่นั่งในบอร์ดจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากสมาชิกบอร์ดมีความรับผิดชอบในการนำเสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องรับประกันว่า จะไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ในการยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี) มัสก์ระบุว่า เขาไม่มีแผนหรือเจตนาจะใช้อิทธิพลของตัวเองกับทวิตเตอร์อย่างไร แต่อาจหารือกับบอร์ดและฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการผสมผสานศักยภาพทางธุรกิจ กลยุทธ์ และอื่นๆ รวมทั้งอาจแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางอื่นๆ
ด้าน เชสเตอร์ สแปตต์ ศาสตราจารย์ด้านการเงินของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอสอีซี ก็มีความเห็นว่า การนั่งในบอร์ดจะขัดขวางทำให้มัสก์ไม่สามารถท้าทายสถานะเดิมหรือท้าทายกฎมากเกินไป
ถึงแม้ว่ามัสก์เป็นหนึ่งในคนที่วิจารณ์ทวิตเตอร์มากที่สุดมาแต่ไหนแต่ไร ทว่าการถอนตัวจากบอร์ดกะทันหันซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ (9) ก็ยังอาจถูกตีความว่า เป็นส่งสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมัสก์กับทวิตเตอร์มีความขุ่นหมองกันมากขึ้น และสแปตต์ ชี้ว่า เมื่อถึงบางจุด มัสก์อาจปลดและเปลี่ยนสมาชิกในบอร์ด
มัสก์นั้นมีจำนวนผู้ติดตาม 81 ล้านคน ทำให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบนทวิตเตอร์ แต่บางครั้งการทวิตรัวๆ ก็ทำให้เขามีปัญหากับคนอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานผู้คุมกฎ เช่น เอสอีซี
ก่อนเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมบอร์ด มัสก์ทวิตข้อความมากมายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พาดพิงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในทวิตเตอร์ อย่างไรก็ตาม ทวิตหลายรายการ เช่น การเสนอให้ยกเลิกโฆษณา การเปลี่ยนสำนักงานใหญ่ในซานฟรานซิสโกเป็นศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ถูกลบทิ้งนับจากนั้น
มัสก์ที่ประกาศตัวสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นสุด บอกว่า ทวิตเตอร์ไม่ยึดมั่นในหลักการนี้ ซึ่งเป็นความคิดเดียวกันกับพวกผู้ติดตามโดนัลด์ ทรัมป์ และสมาชิกการเมืองปีกขวาจัดที่ถูกระงับบัญชีทวิตเตอร์ ด้วยเหตุผลว่าละเมิดกฎ
สัปดาห์ที่แล้ว ซีอีโอและสมาชิกบอร์ดหลายคนของทวิตเตอร์ยกย่องมัสก์อย่างเปิดเผย และแย้มว่า อาจพิจารณาไอเดียของเขาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม บริษัทแห่งนี้ประกาศชัดเจนว่า ในฐานะสมาชิกบอร์ด มัสก์จะไม่สามารถตัดสินใจการดำเนินงานวันต่อวันหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ เช่น การยกเลิกการแบนทรัมป์
(ที่มา : เอพี, เอเจนซีส์)