ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และผู้ท้าชิงอย่าง มารีน เลอ แปง ในวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) ผ่านเข้าไปชิงชัยในรอบ 2 ของศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส หลังมีคะแนนเบียดกันคู่คี่สูสีในศึกเลือกตั้งรอบแรก กลายเป็นการเชผิญหน้าโดยตรงระหว่างฝ่ายฝักใฝ่เสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับฝ่ายชาตินิยมขวาจัด ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านการเป็นสมาชิกอียู และนาโต้
ด้วยจากการคาดการณ์ว่า มาครง มีคะแนนนำหน้า เลอ แปง หลังผ่านพ้นศึกเลือกตั้งรอบแรกในวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) ผู้สมัครคนสำคัญอื่นๆ ต่างพากันออกยอมรับความพ่ายแพ้ ยกเว้นแต่ เอริค เซมมูวร์ ผู้สมัครฝ่ายขวาจัดอีกคน ทั้งหมดเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกลับมาลงคะแนนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อสกัดกั้นฝ่ายขวาจัด
ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพล Ifop พบว่า คะแนนนิยมของทั้งคู่เป็นไปอย่างสูสี โดย มาครง ได้แรงหนุน 51% ส่วน เลอ แปง มีคะแนนนิยม 49% และด้วยขอบเขตความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดังนั้นชัยชนะจึงสามารถออกไปทั้ง 2 ทาง
ในปี 2017 มาครง คว้าชัยชนะไปด้วยคะแนนโหวต 66.1%
เลอ แปง ทำคะแนนตีตื้น หลังจากมีคะแนนนิยมตามหลัง มาครง ห่างถึง 10 จุด ในผลสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลจากการรณรงค์หาเสียงที่มุ่งเน้นประเด็นค่าครองชีพ โดยเธอบอกว่าเธอเป็นคนเดียวที่ปกป้องผู้อ่อนแอและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ที่เหนื่อยหน่ายกับบรรดาผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองทั้งหลาย
มาครง รวบรวมคะแนนเสียงได้ราว 28.1-29.5% ในศึกเลือกตั้งรอบแรก ส่วนมาครงมีคะแนนราว 23.3-24.4% จากการคาดการณ์ของสำนักโพล Ifop, OpinionWay, Elabe และ Ipsos ขณะที่ผลอย่างเป็นทางการคาดหมายว่าจะมีการยืนยันออกมาหลังจากนี้ในวันอาทิตย์ (10 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น
นานกว่า 2 ทศวรรษแล้วที่ไม่มีประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใดที่ชนะเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัย 2
ไม่ถึง 1 เดือนก่อน มาครง อยู่บนเส้นทางกลับสู่เก้าอี้อย่างสบายๆ จากผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลต่างๆ ผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และบทบาทรัฐบุรุษของเขาในความพยายามหลีกเลี่ยงสงครามในยูเครน บนปีกตะวันออกของยุโรป
อย่างไรก็ตาม เขามาเสียท่าเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของหาเสียง และถูก เลอ แปง ลดช่องว่างลงมาเรื่อยๆ
เลอ แปง ซึ่งเคยชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อย่างเปิดเผย จนกระทั่ง ปูติน รุกรานยูเครน ได้เดินทางเยี่ยมเยือนเมืองและหมู่บ้านต่างๆ เป็นเวลานานหลายเดือน เธอมุ่งเน้นประเด็นค่าครองชีพที่ก่อปัญหาแก่ประชาชนหลายล้านคน และฉวยประโยชน์จากความขุ่นเคืองที่มีต่อคณะผู้ปกครองประเทศ
อาเดรียน เธียร์รี ผู้สนับสนุนวัย 23 ปี ของมาครง ยอมรับว่า "มารีน เลอ แปง รู้วิธีพูดคุยกับประชาชนมากกว่าเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ของพวกเขา ระหว่างช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า มาครง จำเป็นต้องใส่ใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสมากขึ้น หยุดเรื่องราวของการทูตไว้สักพัก"
หาก เลอ แปง ความชัยชนะในศึกเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 24 เมษายน มันจะก่อความสั่นสะเทือนแก่สถาบันเหมือนกับเมื่อครั้งที่ชาวสหราชอาณาจักรโหวตเบร็กซิต ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือกรณีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวสู่ทำเนียบขาวในปี 2017
ฝรั่งเศส ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอียู จะเซถลาจากการเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการบูรณาการของยุโรป สู่การนำของประธานาธิบดีผู้ที่มีความเคลือบแคลงสงสัยต่ออียู และมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อพันธมิตรทหารนาโต้เช่นกัน
แม้ในอดีต เลอ แปง เคยละทิ้งความทะเยอทะยาน "เฟร็กซิต" หรือถอนฝรั่งเศส ออกจากสกุลเงินเดียวของยูโรโซน แต่เธอมองอียู ในฐานะเป็นแค่กลุ่มพันธมิตรของบรรดารัฐอำนาจอธิปไตยเฉยๆ
(ที่มา : รอยเตอร์)