ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ปิดกล่องไปเป็นที่เรียบร้อย
การรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่ปรากฎว่ามีผู้เสนอตัวขอเป็น “พ่อเมืองหลวง-แม่เมืองหลวง” รวมทั้งสิ้น 31 ราย
ประกอบไปด้วย หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล, หมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล อิสระ, หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล อิสระ, หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์, หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ อิสระ, หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อิสระ, หมายเลข 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อิสระ, หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อิสระ, หมายเลข 9 น.ส.วัชรี วรรณศรี อิสระ, หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ อิสระ
หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย, หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ พรรคไทยศรีวิไลย์, หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ อิสระ, หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา อิสระ, หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที อิสระ, หมายเลข 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อิสระ, หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ อิสระ, หมายเลข 18 น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ อิสระ, หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค อิสระ, หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ อิสระ
หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ อิสระ, หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ อิสระ, หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ อิสระ, หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต อิสระ, หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ อิสระ, หมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ อิสระ, หมายเลข 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ อิสระ, หมายเลข 28 นายสราวุธ เบญจกุล อิสระ, หมายเลข 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม อิสระ, หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม พรรคกรีน และ หมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา อิสระ
สามารถจำแนกเป็นผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน ผู้สมัครที่มีอายุมากที่สุด คือ วิทยา จังกอบพัฒนา อายุ 75 ปี ที่ถือเป็น “ขาประจำ” ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.มาแล้วหลายสมัย ส่วนอายุน้อยที่สุด ได้แก่ “จิ๊บ” ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อายุ 43 ปี จากกลุ่มใส่ใจ ที่มี “นายห้างวินท์” วินท์ สุธีรชัย อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ส่งเข้าประกวด
ตัวเลขผู้สมัคร 31 รายถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทุบสถิติครั้งเลือกตั้งเมื่อปี 2539 ที่มีผู้สมัคร 29 คนลง ถือเป็นความคึกคักหลังห่างหายไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาเป็นเวลาถึง 9 ปี
เป็นบรรยากาศที่คึกคักโหมโรงกันมาตั้งแต่ก่อนวันรับสมัคร ยิ่งคึกคักเป็นทวีคูณหลังจากที่ผู้สมัครแต่ละรายได้เบอร์ประจำตัว แต่ละรายเข็นกลยุทธ์หาเสียงทั้งแบบ “ออนไลน์-ออฟไลน์” ออกมาฟาดฟันกันอย่างเต็มที่ ก่อนถึงวันกาบัตร 22 พ.ค.65
หากว่ากันตามเนื้อผ้า ผนวกกับผลโพลหลายสำนักที่ผ่านมา ก็ยอมรับว่าศิกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ มี “ตัวเต็ง” ที่มี “โอกาส” คว้าชัยได้อยู่เพียง 7 รายเท่านั้น ไล่ตั้งแต่ “เต็งหาม” อย่าง “ชัชชาติ” ตามมาด้วย “อัศวิน - วิโรจน์ - สุชัชวีร์ - สกลธี - ศิธา - รสนา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำหนักในส่วนของ “ผู้สมัคร+นโยบาย” สำคัญต่อการตัดสินใจของคน กทม. แต่สำหรับสนาม กทม.งวดนี้ ต้องยอมรับว่า นโยบายที่ปล่อยออกมาใช้หาเสียงในช่วงโค้งแรกของแต่ละราย ออกจะคล้ายๆกัน
ทุกคนต่างพูดถึงปัญหารถติด น้ำท่วม สิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน หรือการยกระดับโรงเรียน-โรงพยาบาลในสังกัด กทม. แทบทั้งสิ้น
เพียงแต่ปรับ “กิมมิก” ให้แตกต่างกันออกไปตามกลยุทธ์ และมอตโต้ของแต่ละคน
อย่าง “ชัชชาติ” ปล่อยออกมาถึง 200 นโยบายภายใต้แนวคิด “9 ดี” ซึ่งหากเจาะลงไปใน 200 นโยบาย กางเปรียบเทียบกับของผู้สมัครรายอื่นๆ ก็ถือว่าครอบคลุมของเกือบทุกคน
ขณะที่ “อัศวิน” จัดกลุ่มนโยบายเป็นด้านๆ ได้แก่ 1.นโยบายเมืองป้องกันน้ำท่วม, 2.นโยบายเมืองเดินทางสะดวก, 3.นโยบายเมืองแห่งสุขภาพ, 4.นโยบายเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม, 5.นโยบายเมืองปลอดภัย, 6.นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้, 7.นโยบายเมืองดิจิทัล และ 8.นโยบายเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย
คล้ายกับ “สกลธี” ที่เสนอนโยบายหลักออกมาเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข, ด้านการศึกษา, ด้านการขนส่ง จราจร ล้อรางเรือ, ด้านดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น, ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง และด้านเศรษฐกิจและสังคม
ที่ว่านโยบายคล้ายกันนั้น เพราะเป็นการสังเคราะห์มาจากปัญหาของ กทม.ที่หมักหมมมานาน และสัมผัสได้ไม่ยาก นโยบายต่างๆ จึงล้วนแล้วแต่ไปในทางแก้ไข สะท้อนผ่านคีย์เวิร์ดที่แต่ละผู้สมัครส่งออกมาทั้ง “ปรับ - เปลี่ยน - แก้ - ดีขึ้น - ดีกว่า”
จนอาจพูดได้ว่า หากมองแค่นโยบายที่เลิศหรูแทบทุกคน ก็เลือกใครก็ได้ที่จะเข้ามา “ทำจริง” ไม่ใช่ “ขายฝัน” เท่านั้น
และอย่างที่ทราบว่าการเลือกตั้งในสนาม กทม.ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเมืองภาพใหญ่ ที่ส่งผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้จะมีขึ้นในช่วงอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ จึงมีปัจจัยเรื่อง “กระแส” และ “ขั้วการเมือง” เข้ามาเป็นตัวชี้ขาดด้วย
โดยหากแบ่งตาม “ขั้วการเมือง” ในส่วนของตัวเต็ง ที่แม้หลายรายจะลงสมัครในนาม “อิสระ” แต่ก็จะสามารถแบ่งเป็น “ขั้วรัฐบาล” ได้แก่ “อัศวิน-สุชัชวีร์-สกลธี” และ “ขั้วฝ่ายค้าน” ที่มี “ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา”
ส่วน “รสนา” อาจจะนับได้ว่าเป็น “ผู้สมัครที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง” เมื่อเทียบกับผู้สมัครตัวเต็งคนอื่นๆ
แม้ระยะหลังผู้ชนะต้องได้เกิน 1 ล้านคะแนนก็ตาม แต่ก็เป็นการสู้กัน 2 ตัวแทนจาก 2 ขั้วเท่านั้น มาครั้งนี้แต่ละขั้วมีตัวเลือกถึงอย่างน้อยฝ่ายละ 3 คน ย่อมทำให้ “เสียงแตก-แชร์แต้ม”
จนเชื่อว่าผู้ที่สามารถทำแต้มได้ราว 7 แสนคะแนนก็อาจเข้าป้ายผู้ว่าฯกทม.ได้แล้ว
จากคะแนนตัวตั้งจากการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.เมื่อปี 2562 ที่ฝ่ายรัฐบาล มีพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ รวมกันได้ราว 1.3 ล้านเสียง ขณะที่ฝ่ายค้าน รวมกันระหว่างคะแนนของพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ในตอนนั้น รวมกันได้ราว 1.4 ล้านเสียง
ชี้ให้เห็นว่า “ผู้สมัครอิสระ” มีโอกาสไม่น้อย
และเมื่อแบ่งกลุ่มตามขั้วการเมืองแล้ว หากตัด “สุชัชวีร์-วิโรจน์-ศิธา” ที่ลงในนามพรรคออกไป ก็อาจจะเห็นว่า ผู้สมัครที่ลงในนามอิสระบางราย อาจจะไม่อิสระจริง
คนที่ถูกครหามากที่สุดไม่พ้น “ชัชชาติ” ที่พยายามขายภาพ “วัน แมน โชว์” โดดหนีพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ออกมาลงในนามอิสระ เพราะเกรงว่าจะกระทบฐานเสียงฝ่ายที่ไม่ชอบ “ทักษิณ - เสื้อแดง”
แต่ยิ่งหนีเท่าไรก็ยิ่งมักตัวว่า “ชัชชาติ-เพื่อไทย” ยังเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่การที่พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ มี ส.ส.กทม.ถึง 9 คน กลับไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ส่วน “ชัชชาติ” ก็ไม่ส่งทีม ส.ก.เช่นกัน
หรือเรื่องซุบซิบวันรับสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่พรรคเพื่อไทยส่งปูพรมทั้ง 50 เขต ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทยหลายเขตพยายามงัดแท็กติกทุกวิถีทางเพื่อให้เบอร์เดียวกับ “ชัชชาติ” จนทำเอาวุ่นวาย
ตลอดจนการติดป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย ที่ผูกชิดติดป้าย “ชัชชาติ” ราวกับเป็นป้ายฝืนเดียวกัน กระทั่งบางคนแทรก “สีเขียว” ที่เป็นธีมของ “ชัชชาติ” เข้าไปในป้ายที่ใช้ “สีแดง” ของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก จนดูไม่จืด ราวกับป้ายเทศกาลคริสมาสต์
แล้วยังมีกรณีสั่งผลิตป้ายหาเสียงจากโรงงานเดียวกับ ส.ก.เพื่อไทย รวมทั้งมีคนสังเกตเห็นว่า ทีมงาน ส.ก.เพื่อไทย เป็นคนนำป้าย “ชัชชาติ” ไปติดให้ด้วย
ถัดมาที่ “อัศวิน” ที่ลงในนามอิสระ โดยเลือกจะไม่ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ล่าสุดท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เริ่ม “ส่งซิก” ว่าสนับสนุน “อัศวิน” จากการลงพื้นที่เดินตลาด ทั้งที่ตลาดสะพานขาว หรือตลาดนางเลิ้ง ใกล้ๆ ทำเนียบรัฐบาล
ชัดเจนที่สุดคงเป็นวันที่ชวน “พี่ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไปลงพื้นที่ “คลองโอ่งอ่าง” ที่ถือเป็น “ผลงานชิ้นโบว์แดง” ของ “อัศวิน” สมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม.แต่งตั้ง
หรือยามถูกถามถึงคุณสมบัติของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ “นายกฯตู่” ก็มักเน้นย้ำแทบไม่ซ่อนนัยว่า ต้องการผู้ว่าฯ กทม.ที่สานงานต่องานเดิมที่ทำไว้ เพราะของเดิมดีขึ้นเยอะแล้ว
ตรงตามสโลแกน “กรุงเทพฯต้องไปต่อ” ของ “อัศวิน” แบบไม่บังเอิญ
ก็คล้ายกับกรณีของ “สกลธี” ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “พี่น้อง 3 ป.” จนเข้านอกออกในตึกไทยคู่ฟ้า-กระทรวงมหาดไทย-มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ได้แบบสบาย การลาออกจารองผู้ว่าฯกทม. และมาสมัครผู้ว่าฯกทม. ก็ได้เข้าไปแจ้งกับ “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” รวมไปถึง “อาป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ด้วยตัวเอง
ขายภาพความเป็น “คนรุ่นใหม่” เผื่อจะสามารถแชร์แต้มจากกลุ่มเยาวน หรือนิวโหวตเตอร์ ที่มีกว่า 7 แสนเสียง หรือ 20% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน กทม. แต่ก็ดูจะยากเพราะภาพของ “สกลธี” สลัดไม่หลุดจากความเป็นลูกหลานของ “พี่น้อง 3 ป.” ในฐานะลูกชายของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาฯ คมช.
และยังสลัดไม่หลุดจากความเป็นแกนนำ กปปส. รวมทั้งมี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ออกมาเชียร์เต็มสูบจนดูจะไม่เป็นผลดีกับ “สกลธี” เท่าใดนัก
ประเมินตามนี้ก็จะพบว่า ในกลุ่มตัวเต็งที่ลงอิสระ ไม่ได้อิสระจริงอย่างที่พยายามขายภาพ สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่จริงใจ” ตั้งแต่แรก และด้วยความไม่อิสระ เมื่อเข้าไปมีอำนาจ ก็ย่อมทำงานแบบ “ไม่อิสระ” อาจถูก “บงการ-ชักใย” ไปด้วย
ความไม่อิสระจริงของผู้สมัครตัวเต็งทั้งหลาย จึงขับความโดดเด่นของ “ม้านอกสายตา” อย่าง “รสนา” ขึ้นมา
ไม่แปลกที่ “รสนา” จะชูสโลแกน “อิสระตัวจริง” เป็น “จุดขาย” เหนือกว่าผู้สมัครหัวแถวทั้งหลายที่ต่างก็ “ไม่อิสระ” แม้จะลงสมัครในนามอิสระก็ตาม
เพราะจับจริตได้ว่าคน กทม.นิยมผู้ว่าฯกทม. รวมทั้ง ส.ก.ที่เป็นอิสระ ไม่สังกัดพรรคมากกว่า จากผลสำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ระบุว่า 72.5 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าผู้ว่าฯกทม.ไม่ควรสังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ 63.8 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า ส.ก.ไม่ควรสังกัดพรรคการเมือง
และอย่าลืมว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพบว่า มีเพศหญิงถึง 2,378,027 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวน 4,374,131 คน มากกว่าเพศชายที่มี 1,996,104 คน
โอกาสของ “รสนา” ที่ถูกมองเป็น “ม้านอกสายตา” ก็มีไม่น้อย เพราะเป็น “ผู้สมัครหญิง” รายเดียวในระนาบตัวเต็ง หากได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเห็นผู้ว่าฯ สังกัดพรรคการเมืองหรืออิสระไม่จริง บวกกับ “พลังผู้หญิง-พลังเงียบ” ที่เชื่อว่า มีจำนวนไม่น้อย
ไม่เท่านั้น “รสนา” ยังสร้างความแตกต่างโดยการเสนอ “นโยบายปราบโกง” ที่ต่างจากผู้สมัครตัวเต็งรายอื่นๆ ไม่ต้องไปไกล เอาแค่เปิดประเด็นเรื่องงบหาเสียงผู้ว่าฯกทม.ตามกฎหมายที่ต้องไม่เกิน 49 ล้านบาท ส่วนเงินเดือนผู้ว่าฯ กทม.ที่รับครบเทอม 4 ปี อยุ่ที่เพียง 5.4 ล้านบาท หรือหากรวมค่าตำแหน่งก็ไม่เกิน 10 ล้านบาท
ชี้ให้เห็นว่าพวกที่ระดมติดป้ายหาเสียง “ขาดทุนเละเทะ” เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะได้รับ หากชนะเลือกตั้ง คงต้องตั้งแท่น “ถอนทุน” ตั้งแต่ต้น
“เป้าหมายในการมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ของคนๆ นั้น อาจไม่ใช่การทำเพื่อประชาชน แต่กลายเป็นการทำเพื่อธุรกิจการเมืองมากกว่า” รสนา ว่าไว้
ทั้งความชัดเจนในแง่ความอิสระ ความแตกต่างด้านนโยบายปราบโกง อาจส่งให้ “รสนา” ไม่ใช่ “ม้านอกสายตา” อย่างที่ถูกปรามาสไว้ก็เป็นได้.