xs
xsm
sm
md
lg

"อีลอน มัสก์" แจงชัด ทำไมเสนอซื้อทวิตเตอร์ 4.3 หมื่นล้านดอลล์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ยื่นข้อเสนอซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) เครือข่ายสังคมชื่อดังด้วยเงินสด 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น รวมมูลค่า 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท แจงชัดเสนอซื้อเพราะทวิตเตอร์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง นักสังเกตการณ์คาดทวิตเตอร์อาจถูกปรับโครงสร้างจากบริษัทมหาชนเป็นบริษัทเอกชน ตามรอยมัสก์ที่ฝักใฝ่แนวทางบริหารบริษัทแบบเอกชนมาตลอด

อีลอน มัสก์ ระบุไว้ในเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ว่าข้อเสนอที่เกิดขึ้นคือข้อเสนอที่ดีที่สุดและเป็นข้อเสนอครั้งสุดท้าย ซึ่งหากไม่ได้รับการยอมรับ อีลอน มัสก์จะต้องพิจารณาตำแหน่งของตัวเองใหม่ในฐานะผู้ถือหุ้น ในภาพรวม มัสก์ชี้ว่า ทวิตเตอร์มีศักยภาพที่ไม่ธรรมดา และต้องการจะปลดล็อกทวิตเตอร์ให้ได้

“ผมลงทุนในทวิตเตอร์ เนื่องจากผมเชื่อในศักยภาพของมันในการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเสรีภาพในการพูดทั่วโลก และผมเชื่อว่าเสรีภาพในการพูดเป็นสิ่งจำเป็นทางสังคมสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง” มัสก์ระบุ

การเสนอซื้อกิจการทวิตเตอร์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่โลกตื่นเต้นกับข่าวว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesla และ SpaceX กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ต้นเดือนเมษายน 65 จนกระทั่งมีข่าวว่ามัสก์จะเข้าร่วมเป็นบอร์ดบริหาร จากนั้นจึงมีการปฏิเสธว่าจะไม่มีการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะบอร์ดอย่างที่หลายคนคิด ล่าสุด ข่าวใหม่ที่ถูกเผยแพร่ในขณะนี้ชี้ว่า มัสก์ออกมาแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของทวิตเตอร์ โดยบอกว่าทวิตเตอร์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว เนื่องจากนับตั้งแต่เริ่มลงทุน มัสก์ตระหนักได้ว่าทวิตเตอร์จะไม่เติบโตหรือตอบสนองความจำเป็นทางสังคมหากยังคงอยู่ในรูปแบบปัจจุบัน ดังนั้น ทวิตเตอร์จำเป็นต้องได้รับการปรับโครงสร้างให้เป็นบริษัทเอกชน

ด้านทวิตเตอร์นั้นออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดียืนยันว่าได้รับข้อเสนอแล้ว พร้อมกล่าวว่า คณะกรรมการจะทบทวนข้อเสนออย่างรอบคอบ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นของทวิตเตอร์ทุกคน 



สำหรับมัสก์ รายงานชี้ว่ามหาเศรษฐีรายนี้ทยอยซื้อหุ้นทวิตเตอร์ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 65 และได้สะสมสัดส่วนการถือหุ้น 9.1% ด้วยเงินลงทุนกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในเบื้องต้น มัสก์ยอมรับข้อเสนอเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารทวิตเตอร์ จนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ซีอีโอทวิตเตอร์คนปัจจุบัน "ปารัค อากราวาล" (Parag Agrawal) เปิดเผยว่า มัสก์ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในบอร์ดบริหาร ซึ่งได้ลบข้อจำกัดเรื่องการต้องถือหุ้นถึงสัดส่วนที่กำหนดออกไป ในช่วงเวลานั้น มัสก์เก็บตัวเงียบไม่ออกมาบอกความคืบหน้าแผนการของตัวเองที่เตรียมไว้ให้ทวิตเตอร์ โดยไม่มีการเปิดเผยว่าทัสก์ตั้งใจจะใช้เงินลงทุนอย่างไร แต่ระบุว่าได้ว่าจ้างมอร์แกน สแตนเลย์ (Morgan Stanley) หรือ MS ยักษ์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีทเป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการทำธุรกรรมนี้

ปัจจุบัน มัสก์เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 2.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะการถือครองหุ้นเทสลาในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงหุ้นสเปซเอ็กซ์ โดยในขณะที่หุ้นของทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นเกิน 10% หุ้นของเทสลากลับลดลง 2%

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า มัสก์เป็นนักธุรกิจที่ไม่ชอบให้บริษัทของตัวเองมีการซื้อขายหุ้นในที่สาธารณะ เห็นได้จากในเดือนสิงหาคมปี 2561 มัสก์เคยประกาศบนทวิตเตอร์ว่าการทำโครงสร้างให้เทสลาเป็นบริษัทเอกชนนั้นเป็นเส้นทางธุรกิจที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ในขณะที่บริษัทสำรวจอวกาศแบบส่วนตัวรายอื่น เช่น เวอร์จิน (Virgin Galactic) ได้เป็นบริษัทมหาชนแล้ว สเปซเอ็กซ์ยังคงเป็นบริษัทเอกชน ทั้งที่มีการคาดเดาว่าสเปซเอ็กซ์พร้อมสำหรับการเสนอขายต่อสาธารณะแล้วก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น