อีลอน มัสก์ บรรลุข้อตกลงใช้เงินสดซื้อกิจการทวิตเตอร์ อิงค์ ด้วยราคา 44,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.) ในการซื้อขายที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจการควบคุมแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่มีผู้ใช้หลายๆ ล้านคนทั่วโลก มาสู่กำมือของบุรุษผู้ร่ำรวยที่สุดในพื้นพิภพเวลานี้
นี่คือช่วงเวลาสำคัญมากสำหรับบริษัทอายุ 16 ปีแห่งนี้ ที่ผงาดขึ้นมาเป็นรายหนึ่งของประดาเวทีแสดงความคิดเห็นสาธารณะซึ่งทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก ทว่าเวลานี้กำลังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ดาหน้าเข้ามาเป็นชุดใหญ่
มัสก์ ซึ่งชอบประโคมเรียกตัวเองว่าเป็นนักนิยมการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีชนิดเต็มพิกัด วิพากษ์วิจารณ์ทวิตเตอร์เรื่อยมาในเรื่องความพยายามที่จะบันยะบันยันไม่สุดโต่ง เขาประกาศว่าต้องการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบถึงอัลกอริธึม หรือหลักในการคำนวณเพื่อจัดลำดับความสำคัญของทวีตต่างๆ ที่มีผู้โพสต์ขึ้นมา ขณะเดียวกัน เขาก็คัดค้านการที่ทางทวิตเตอร์ให้อำนาจมากเกินไปแก่พวกบริษัทต่างๆ ที่มาลงโฆษณา
ขณะที่พวกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวาดหวังว่า ในยุคการบริหารปกครองของมัสก์ แพลตฟอร์มนี้จะมีการบันยะบันยันกันน้อยลง รวมทั้งคืนสิทธิให้แก่บุคคลต่างๆ ที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำเพราะแสดงความเห็นหรือพฤตการณ์อันสุดโต่ง อย่างเช่น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าถึงแม้พวกอนุรักษนิยมพากันเชียร์ลั่นถึงอนาคตที่น่าจะมีการควบคุมกันลดลง แต่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนบางรายกลับส่งเสียงแสดงความหวาดกลัวว่าจะมีการทวีตเผยแพร่ข้อความแสดงถึงความเกลียดชังเพิ่มขึ้นลิ่วๆ
มัสก์ยังเป็นผู้ที่เรียกร้องอย่างแข็งขันให้ทวิตเตอร์ปรับปรุงฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า มีปุ่มสำหรับให้ผู้ใช้แก้ไขปรับปรุงทวีตที่ตนเองโพสต์ขึ้นไปแล้ว และต่อสู้กำจัด “สแปม บอต” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คอยทวีตสิ่งซึ่งไม่มีใครต้องการขึ้นไปรกแพลตฟอร์ม
หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูเหมือนยังไม่มีความแน่นอนอะไร แต่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้เร่งพูดคุยหารือกัน หลัง มัสก์ โน้มน้าวพวกผู้ถือหุ้นของทวิตเตอร์ด้วยการแจกแจงรายละเอียดทางการเงินที่เขาเสนอ
ด้วยแรงกดดันเช่นนี้ ทวิตเตอร์จึงเริ่มต้นเจรจากับ มัสก์ ที่ยื่นเสนอขอซื้อบริษัทด้วยราคา 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยที่มัสก์ระบุในคำแถลงว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยแบบที่สามารถใช้การได้จริง และทวิตเตอร์ก็เป็นเวทีสาธารณะสำหรับแสดงความคิดเห็นในแบบดิจิทัล ที่มีไว้ให้ผู้คนได้ถกเถียงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ”
แจ็ก ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ เข้ามาร่วมวงในคืนวันจันทร์ (25) ด้วยการทวีตข้อความต่อเนื่องเป็นชุด ซึ่งสนับสนุนการขายบริษัทให้แก่มัสก์ เขาแสดงความขอบคุณทั้ง มัสก์ และปารัก อกราวัล ซีอีโอทวิตเตอร์คนปัจจุบัน สำหรับ “การนำพาบริษัทให้ออกมาจากสถานการณ์ที่ไม่มีทางเป็นไปได้” และระบุว่า “ทวิตเตอร์เป็นบริษัทที่ผมถือเสมอมาว่าเป็นประเด็นเพียงหนึ่งเดียวของตัวผมเองและก็เป็นความเสียใจครั้งใหญ่ที่สุดของผมด้วย มันกำลังตกเป็นของวอลล์สตรีทและโมเดลที่มุ่งจะหาโฆษณา การนำเอามันกลับคืนมาจากวอลล์สตรีทถือว่าเป็นการเดินก้าวแรกที่ถูกต้อง”
หุ้นทวิตเตอร์ขยับสูงขึ้น 5.77% ในวันจันทร์ (25) โดยปิดที่ 51.70 ดอลลาร์ ดีลนี้ทำให้ราคาหุ้นตัวนี้ขยับขึ้นไปเกือบๆ 40% จากราคาปิดของวันก่อนหน้าที่มัสก์เปิดเผยว่าเขาได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทนี้เอาไว้มากกว่า 9% แล้ว แต่กระนั้นยังคงต่ำกว่าระดับ 70 ดอลลาร์ ที่ซื้อขายกันเมื่อปีที่แล้ว
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของมัสก์ กลายเป็นเป็นการสานต่อธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าอภิมหาเศรษฐีทั้งหลายที่เข้าซื้อควบคุมแพลตฟอร์มสื่อมวลชนทรงอิทธิพลต่างๆ เป็นต้นว่า การเข้าซื้อวอชิงตันโพสต์ ของ เจฟฟ์ เบซอส ในปี 2013
ทวิตเตอร์แถลงว่า มัสก์สัญญาที่จะรับภาระหนี้ของบริษัทจำนวน 25,500 ลานดอลลาร์ รวมทั้งการจัดหาความสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเข้ามาอีก โดยที่วางหลักทรัพย์เป็นประกันเอาไว้จำนวน 21,000 ล้านดอลลาร์
มัสก์ ซึ่งจากข้อมูลของฟอร์บส์ระบุว่า มีทรัพย์สินรวม 268,000 ล้านดอลลาร์ ระบุว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกที่เขากังวลสนใจไม่ใช่ผลประกอบการของทวิตเตอร์
"การมีแพลตฟอร์มสาธารณะที่ไว้ใจได้สูงสุดและครอบคลุมอย่างกว้างขวาง มีความสำคัญอย่างที่สุดต่ออนาคตของอารยธรรม ผมไม่แคร์เรื่องเงินๆ ทองๆ เลยแม้แต่นิดเดียว" เขาเคยพูดไว้เช่นนี้ระหว่างการแถลงต่อสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้
มัสก์ เวลานี้เป็นซีอีโอของทั้งเทสลา อิงค์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และสเปซ เอ็กซ์ บริษัทธุรกิจการขนส่งทางอวกาศ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาจะมีเวลาให้ทวิตเตอร์มากแค่ไหน ในขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ของเขาซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 80 ล้านคน ถูกมองว่ามีความสำคัญ ในฐานะเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์แก่เทสลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เบื้องต้น ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าต่อจากนี้ไปใครจะเป็นผู้บริหารงานทวิตเตอร์
ถึงแม้ ทวิตเตอร์ มีขนาดแค่ 1 ใน 10 ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่กว่าอย่างเฟซบุ๊ก แต่ทวิตเตอร์มีความสำคัญเกินขนาดมาก มันถูกยกเครดิตในการช่วยโหมกระพือกระแสการจลาจลลุกฮือ "อาหรับสปริง" ในตะวันออกกลาง และถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในเหตุการณ์พวกผู้สนับสนุนของทรัมป์บุกจู่โจมอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021
หลัง ทวิตเตอร์ แบนบัญชีอย่างเป็นทางการของ ทรัมป์ สืบเนื่องจากการพัวพันกับการปลุกปั่นก่อเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ดังกล่าว มัสก์ ได้ทวีตข้อความว่าผู้คนมากมายคงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากกับพวกสื่อไฮเทคแถวชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ที่ทำตัวเป็นตุลาการโดยพฤตินัยของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
ทางด้านทรัมป์ ซึ่งกำลังพยายามสร้างสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า “ทรัมป์ โซเชียล” เพื่อเป็นคู่แข่งของทวิตเตอร์ ระบุในวันจันทร์ (25) ว่าเขาจะไม่กลับสู่ทวิตเตอร์อีกแล้ว
ส่วนทำเนียบขาว ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับดีลนี้ของมัสก์ แต่บอกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความกังวลมาช้านานเกี่ยวกับอำนาจของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์
"ความกังวลของเราไม่ใช่เรื่องใหม่" เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุในวันจันทร์ พร้อมกล่าวว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบ "ท่านประธานาธิบดีพูดมานานเกี่ยวกับความกังวลของเขาต่ออำนาจของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ในนั้นรวมถึงทวิตเตอร์และอื่นๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน"
(ที่มา : รอยเตอร์)