xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ “Facebook ประเทศไทย” กับภารกิจ Meta สร้างสะพานสู่เมตาเวิร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่การสร้างพื้นฐานสู่โลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) จะทำให้ Meta ต้องร่วมมือกับทุกภาคอุตสาหกรรม
“เฟซบุ๊ก ประเทศไทย” เปิดวิสัยทัศน์หลัง รีแบรนด์เป็น “เมต้า” (Meta) เผยความคืบหน้าและแนวทางการพูดคุยกับหน่วยงานไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ย้ำจะทำไม่ได้ประสานแค่ภาครัฐ เพราะการสร้างพื้นฐานสู่โลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) จะต้องมีการร่วมมือกับทุกภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้น ประเมินความเสี่ยงในไทยเหมือนทั่วโลก ทั้งความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความปลอดภัย และความเท่าเทียมในการเข้าถึงซึ่งบริษัทให้ความสำคัญอยู่แล้วในขณะนี้ มั่นใจ Metaverse มาแน่เพราะ 5 เทรนด์แรงหนุนต่อเนื่อง

แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่ารู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญของบริษัท โดยเมต้าในภาษากรีกมีความหมายว่า beyond คือ ก้าวข้ามไปอีกขั้นของเทคโนโลยี แนวคิดนี้สะท้อนทิศทางที่บริษัทกำลังดำเนินไป และอนาคตที่บริษัทกำลังสร้าง สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือ แม้ชื่อบริษัทอาจจะเปลี่ยน แต่พันธกิจของบริษัทยังคงมุ่งเน้นการเชื่อมต่อผู้คนบนประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิม

“เรามุ่งมั่นในการนำเสนอประสบการณ์บนเมตาเวิร์สเพื่อให้ผู้คนได้เชื่อมต่อกัน ค้นพบชุมชนและสร้างธุรกิจ เมตาเวิร์สจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมในอนาคต เราได้เริ่มเห็นตัวอย่างการนำเมตาเวิร์สมาใช้แล้วทั้งในวงการการศึกษา การทำงาน การแพทย์ สุขภาพ (fitness) กีฬา บันเทิงและเกม และสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่เห็นได้ชัดคือ โลกแห่งการค้าและการชอปปิ้ง เราเชื่อมั่นว่าเมตาเวิร์สจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญและสร้างเศรษฐกิจสำหรับครีเอเตอร์ (creator economy) ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงานอีกมากในอนาคต”

แพร ระบุว่า Meta ได้บูรณาการแอปพลิเคชันในเครือของ Facebook เข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้ชื่อใหม่ของบริษัท โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นในการผลักดันเมตาเวิร์ส (metaverse) สู่การใช้งานในชีวิตจริง และช่วยเหลือผู้คนในการเชื่อมต่อกัน ค้นหาชุมชน และพัฒนาธุรกิจให้เติบโต

  แพร ดํารงค์มงคลกุล
สำหรับเมตาเวิร์ส ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดในการพัฒนาเทคโนโลยีของ Meta เพื่อช่วยเหลือผู้คนในการเชื่อมต่อกัน ค้นหาชุมชน และเติบโตไปด้วยกัน เมื่อ Facebook ได้เปิดตัวขึ้นในปี พ.ศ.2547 ผู้คนได้เปลี่ยนแปลงวิธีการในการเชื่อมต่อ รวมถึงแอปพลิเคชันอย่าง Messenger และ Instagram ก็ได้มอบพลังในการเชื่อมต่อให้ผู้คนอีกจำนวนหลายพันล้านคนทั่วโลก

"เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หลักอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เรากำลังใช้เวลาในการวางพื้นฐานของ Social Technology ในอนาคต ประสบการณ์บนแอปพลิเคชันหลักของเราจะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างอีโคซิสเต็มของเมต้าเวิร์สในอนาคต"

เมตาเวิร์สคืออะไร

แพร นิยามเมตาเวิร์สโดยอ้างอิงจากจดหมายของผู้ก่อตั้งบริษัท “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ที่ได้บรรยายถึงวิสัยทัศน์ว่า เมตาเวิร์สจะเป็นยุคต่อไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมอบประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันในรูปแบบไฮบริด โดยจะเป็นการขยายประสบการณ์สู่รูปแบบสามมิติ หรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริง สิ่งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงแก่ผู้อื่นได้แม้ในขณะที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน รวมถึงทำกิจกรรมที่ไม่สามารถทำร่วมกันในโลกความจริงได้อีกด้วย เมต้าเวิร์สจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่สําคัญมากที่จะ transform โลกใบนี้

วิสัยทัศน์ของ Meta คือการสร้างประสบการณ์ที่เสมือนจริงมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความรู้สึกของการมีตัวตนอยู่จริง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเชื่อมต่อและบทสนทนาแก่ผู้คน ราวกับว่าพวกเขากำลังอยู่กับอีกบุคคลหนึ่งหรืออยู่ในพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้อยู่ด้วยกันในชีวิตจริง แต่ในเวลาที่เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เทคโนโลยีเมตาเวิร์สจะช่วยให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นราวกับประสบการณ์ได้พบกันในชีวิตจริง

“เราต้องการที่จะสร้างเมต้าเวิร์สอย่างมีความรับผิดชอบ นั่นหมายถึง เราลงทุนการทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น 10,000 ล้านเหรียญใน Reality Labs ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยพัฒนาเทคโนโลยีของเราโดยเน้นไปที่การสร้างเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้มากที่สุด เรายังลงทุน 50 ล้านเหรียญในการทำวิจัยและสร้างโครงการระยะเวลา 2 ปี ต่างๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ นักวิชาการ และอุตสาหกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงและพัฒนางานของเราให้ถูกต้องและปลอดภัยตั้งแต่แรกเริ่ม”

ไม่ต้องเดินทาง แต่ชาว Metaverse  จะสามารถเบียดกับคนคอเดียวกันในคอนเสิร์ตเดียวกันได้จากบ้าน
แพร ย้ำว่า บริษัทยังได้เปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยให้ผู้คนสร้างประสบการณ์เมตาเวิร์สได้ เช่น Presence Platform ที่จะทำให้การสร้างประสบการณ์โลกความจริงแบบผสมผสาน (Mixed reality experiences) เกิดขึ้นได้บน Quest 2 รวมถึงขั้นต่อไปของบริษัทที่จะใช้ศักยภาพสูงสุดของเมตาเวิร์สในอนาคต รวมถึงการลงทุนกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการการอบรมแบบครบทุกมิติสำหรับครีเอเตอร์รุ่นใหม่ๆ

5 เทรนด์หนุน Metaverse มาแน่

หนึ่งในสัญญาณที่สะท้อนว่า A Bridge to the Metaverse หรือสะพานสู่โลกเมตาเวิร์สจะเกิดขึ้นแน่นอนคือ 5 เทรนด์แรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เทรนด์แรกคือ VR / AR (Virtual reality และ Augmented reality) เทคโนโลยีแสดงภาพเสมือนจริงที่ปัจจุบันมีครีเอเตอร์กว่า 600,000 คนทั่วโลกที่ใช้เอฟเฟกต์ AR มากกว่า 2,500,000 เอฟเฟกต์บนแพลตฟอร์มของบริษัท รวมถึงผู้คนทั่วไปกว่า 700 ล้านคนที่เริ่มใช้เอฟเฟกต์ AR บน Facebook และผ่านอุปกรณ์ต่างๆ โดยครีเอเตอร์จากเอเชียแปซิฟิก และละตินอเมริกานับเป็นร้อยละ 60 ของผู้ที่ใช้ Spark AR เป็นประจำทุกเดือน

เทรนด์ที่ 2 คือ Business Messaging จากการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของผู้คนอยากที่จะสื่อสารกับธุรกิจได้ในรูปแบบเดียวกันกับการคุยกับเพื่อนผ่านการส่งข้อความ และผู้คนกว่า 500 ล้านคนมีการส่งข้อความหาธุรกิจทุกๆ วันบนแพลตฟอร์มของ Meta

เทรนด์ที่ 3 คือ Mega Sales Days มหกรรมลดราคาสินค้าออนไลน์ 9/9, 11/11, 12/12 ที่หลายคนเรียกว่า Mega Sales Day กลายมาเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นทุกปี เชื่อว่าจะเป็นจุดแรกเริ่มของผู้ที่เริ่มต้นการชอปปิ้งออนไลน์สำหรับเมต้าเวิร์ส ประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบออนไลน์และออฟไลน์จะถูกทำให้มีความเสมือนจริงและเชื่อมต่อกันอย่างเรียบเนียนมากที่สุด

แพรเชื่อว่าครีเอเตอร์จะโตมากในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ถ้าครีเอเตอร์ลงทุนเรื่อง AR ก็จะยิ่งสร้างเงินได้มากขึ้นในอนาคต
เทรนด์ที่ 4 คือ Creators แพร เชื่อว่าครีเอเตอร์จะมีบทบาทสำคัญในเมต้าเวิร์สไม่ว่าจะเป็นการสร้างสินค้าดิจิทัล (Digital Merchandise) การออกแบบงานศิลปะหรือ Digital Experience และ Content และเทรนด์ที่ 5 คือ Video เบื้องต้นเชื่อว่าเทรนด์การดูวิดีโอยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะวิดีโอแบบสั้น

“เราเห็นได้จากความชื่นชอบของคนที่ใช้ Reels โดยนับได้ว่าเป็นเป็นการสร้าง Engagement ที่เติบโตมากที่สุดบน Instagram และในเอเชีย เราได้มีการเปิดตัว Reels แล้วใน 10 ประเทศ สถิติพบว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยรับชมวิดีโอออนไลน์ในแต่ละเดือน และกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มผู้ชมที่กำลังเติบโต โดยคิดเป็นสัดส่วน 28 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ชมทั้งหมด เมื่อเทียบกับกลุ่มมิลเลนเนียล (23 เปอร์เซ็นต์) และกลุ่ม Gen X รวมกับเบบี้บูมเมอร์ (49 เปอร์เซ็นต์)”

ปีหน้าจะชัดขึ้น

เมื่อถามถึงความคืบหน้าและแนวทางการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย แพรย้ำว่าทุกอย่างยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะต้องมีการประสานงานกับทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการพูดคุยถึงความเสี่ยงเพื่อรับมือร่วมกัน เชื่อว่าในอนาคตบริษัทจะมีการประกาศข้อมูลออกมาเพิ่มเติม

สำหรับธุรกิจ แพรเชื่อว่าเมื่อธุรกิจฝันตัวเข้าไปในเมตาเวิร์สก็จะทำให้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะการใช้งานที่จะเปลี่ยนให้อินเทอร์เน็ตยิ่งเสมือนจริงมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์มากกว่าปัจจุบัน ที่ยังจำกัดและไม่เต็มที่เท่ากับการเดินทางเข้าไปที่ร้าน สิ่งที่ธุรกิจต้องเตรียมเพื่อให้สามารถเข้าไปอยู่ในโลกของเมตาเวิร์สนั้นมีหลายองค์กรประกอบ ทั้งฮาร์ดแวร์ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และส่วนประกอบอื่นที่อาจมีทั้งฟรีและไม่ฟรี

ในส่วนของอนาคตบริการเฟซบุ๊ก บริษัทระบุว่าได้แยกเป็น 2 ส่วน คือ การสร้างเวอร์ชวลแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนมาตอบโต้กันได้แล้วที่ Horizon Worlds ซึ่งเปิดตัวแล้วที่สหรัฐฯและแคนาดา และเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์โอคูลัส (Oculus) ส่วนที่ 2 คือ การสร้างสะพานเชื่อมกับสิ่งที่บริษัทมี เพื่อให้ธุรกิจอื่นได้เข้าไปมีตัวตนในแพลตฟอร์ม เชื่อว่าในอนาคตจะมีธุรกิจไทยออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แม้จะไม่มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนว่าไทยเป็นเวฟไหน แต่ขอให้ติดตามเพราะไทยเป็นผู้นำของภูมิภาค และมีการพูดคุยอยู่เสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น