ชัดเจนแล้วว่าเมตาเวิร์ส (Metaverse) โลกอินเทอร์เน็ตยุคหน้าจะไม่จำกัดตัวอยู่แค่ภาคเอกชน แต่กำลังขยายวงไปสู่ภาครัฐบาล โดยล่าสุดกรุงโซล เกาหลีใต้ ประกาศพร้อมเป็นเมืองแรกของโลกที่เข้าสู่จักรวาลเมตาเวิร์ส (Metaverse) และวางแผนเจียดเงินหลายล้านวอนออกมาทำโครงการในฐานะส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมือง 10 ปีเพื่อปั้นเมืองอัจฉริยะ
แผนนี้อาจไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกเมืองหรือทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยและอีกหลายชาติที่ยังต้องใช้เวลาจับตาดูและประเมินสถานการณ์ในขณะที่เมตาเวิร์สยังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว ไม่แน่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อาจจะกำลังจับตาดูอยู่ว่า OTT หรือบริการวิดีโอออนไลน์รูปแบบใหม่จะมีคอนเทนต์ในโลกเสมือนอะไรบ้าง? ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอสอาจจะกำลังประเมินเรื่องแนวทางการคุ้มครองความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างใกล้ชิดอยู่ก็ได้
ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลไทย กูรูผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจเทคโนโลยีอย่าง ‘อริยะ พนมยงค์’ จุดประกายว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำคือการหาโอกาสใหม่จากโลกยุคใหม่ที่กำลังมา โดยย้ำว่าสิ่งที่สำคัญคือการกลับมามองพื้นฐานว่าเมตาเวิร์สคืออะไร และการสร้างเมืองจำลองขึ้นมานั้น ผู้คนจะไปอยู่เพื่อทำอะไร ซึ่งหากมองออก ภาครัฐก็จะรู้ว่าโลกใหม่จะมาพร้อมโอกาสใหม่ในการแก้ปัญหาระดับชาติได้อีกทาง
สำหรับนิยามของคำว่าเมตาเวิร์ส (Metaverse) ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ ได้เล่าวิสัยทัศน์ว่าเมตาเวิร์สจะเป็นยุคต่อไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมอบประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันในรูปแบบไฮบริด โดยจะขยายประสบการณ์สู่รูปแบบสามมิติ หรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริง สิ่งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงแก่ผู้อื่นได้แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกัน
รวมถึงทำกิจกรรมที่ไม่สามารถทำร่วมกันในโลกความจริงได้ ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์สอธิบายว่า เมตาเวิร์สเป็นคำที่กว้าง โดยทั่วไปหมายถึงการแบ่งปันสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังหมายถึงพื้นที่ดิจิทัล ซึ่งถูกสร้างให้เหมือนจริงมากยิ่งขึ้น โดยการใช้ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR)
จากโซล ถึงเอล ซัลวาดอร์ และฟิลิปปินส์
อริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัททรานสฟอร์เมชันนัล (Transformational) ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมา เมตาเวิร์สไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง แต่เป็นการเคลื่อนไหวจากภาคเอกชนเป็นหลัก และสิ่งที่อยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมองคือโลกใหม่อย่างเมตาเวิร์สนั้นเป็นเหมือนโครงการอสังหารูปแบบใหม่ที่จะนำไปสู่โอกาสต่อยอดอีกมากมาย และจะเป็นช่องทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเมืองหรือประเทศได้อย่างที่เอล ซัลวาดอร์ และฟิลิปปินส์ทำได้
‘สิ่งที่อยากให้มองคือเมตาเวิร์สต้องเป็นเรื่องสนุก อาจจะเข้าไปเล่นเกมหรืออาจจะเข้าไปเจอกลุ่มคนและชุมชน ทั้งหมดคือต้องทำแล้วสนุก ความท้าทายของการกำกับดูแลคือผู้ให้บริการทั้งหมดไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง การจะติดตามหาผู้กระทำผิดนั้นยากมาก ควบคุมแทบไม่ได้ และด้วยรูปแบบการกระจายศูนย์ ไม่มีศูนย์กลางในการควบคุมที่เป็นรูปธรรม จึงถือเป็นความท้าทายของทั้งโลก ทั้งหมดคืออนาคต ซึ่งยังไม่มีใครควบคุมได้ เช่นเดียวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีธนาคารใดควบคุมได้’
อริยะอธิบายว่าทุกฝ่ายควรเข้าใจว่าเมตาเวิร์สเป็นยุคใหม่ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะเป็นวิธีที่ชาวออนไลน์จะไปพบปะเจอกันในรูปแบบที่ลึกยิ่งขึ้น สิ่งที่เห็นในเมตาเวิร์สจะมากกว่ายอดไลค์ (Like) และรูปหรือวิดีโอที่เห็นในปัจจุบัน อาจจะไม่ได้มีการสัมผัสกัน และอาจไม่ได้เห็นตัวหรือร่างกายของกันละกัน แต่จะเห็น ‘identity’ หรืออัตลักษณ์ซึ่งในขณะนี้รู้จักกันในนามอวาตาร์ รวมถึง NFT หรือ Non-Fungible Token ซึ่งก็คือสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) ประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็น ‘เจ้าของ’ ของสินทรัพย์
อริยะเชื่อว่าประชาชน 99% รู้สึกงงว่าเมตาเวิร์สคืออะไร เพราะในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ บางคนยังไม่รู้จักโลกเสมือนที่เรียกกันว่าเมตาเวิร์ส แต่แล้วจู่ๆคำนี้ก็เป็นกระแสขึ้นมาเมื่อเฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศว่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นเมต้า (Meta) เพื่อแสดงจุดยืนว่าบริษัทจะพาทุกคนเข้าสู่ยุคใหม่ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยวางงบพัฒนามากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างอาณาจักรเสมือนขึ้นมา
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการกลับมามองพื้นฐาน ว่าเมตาเวิร์สคืออะไร การสร้างเมืองจำลองขึ้นมาจะทำให้คนที่เข้าไปอยู่นั้นทำอะไร ในส่วนภาครัฐ การจะทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างจุดให้บริการติดต่อหน่วยงานบนเมตาเวิร์สนั้นอาจไม่ได้ให้ความสนุกกับผู้ใช้ ซึ่งหากไม่สนุก บริการนั้นย่อมไม่เกิด
เรื่องนี้ตรงกับกรณีของกรุงโซล ซึ่งประกาศว่าจะเป็นเมืองแรกที่เข้าสู่เมตาเวิร์ส ทำให้ผู้คนสามารถสวมอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริง เพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลของเมือง รวมถึงปรึกษาเจ้าหน้าที่ในโลกเสมือนจริงได้ที่ ‘Metaverse Seoul’ เบื้องต้น นายกเทศมนตรีกรุงโซลระบุความตั้งใจที่จะสร้าง ‘เมืองแห่งการอยู่ร่วมกัน’ ที่ปลอดภัย เป็นผู้นำ และเป็นเมืองแห่งอนาคต เมืองนี้จะมีระบบนิเวศการสื่อสารเสมือนจริงสำหรับทุกพื้นที่ของการบริหารงานเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และการบริการพลเมือง โดยจะพัฒนาบริการสำหรับผู้เปราะบางทางสังคม รวมถึงเนื้อหาด้านความปลอดภัยและความสะดวกสำหรับคนพิการผ่านเทคโนโลยี Extended Reality (XR)
งบลงทุนโครงการนี้จะดึงมาจาก 3.9 พันล้านวอนที่เตรียมไว้ในแผน Seoul Vision 2030 โดยนายกเทศมนตรี ‘โอ เซ-ฮุน’ ย้ำว่ากรุงโซลมีนโยบายอำนวยความสะดวกและเดินหน้าสนับสนุนทุกธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ Metaverse Seoul เกิดขึ้นได้ ทั้งสำนักงานนายกเทศมนตรีเสมือน ห้องปฏิบัติการด้านฟินเทคของกรุงโซล รวมถึงย่านเศรฐกิจและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโซล เช่น จัตุรัสควังฮวามุน พระราชวังท็อกซู และตลาดนัมแดมุน ซึ่งคาดว่าในปี 2023 กรุงโซลจะสามารถเปิดเทศกาลโคมไฟกรุงโซล ได้บนเมตาเวิร์ส เพื่อให้ทุกคนทั่วโลกสามารถเพลิดเพลินได้
แผนของกรุงโซลนั้นอาจจะเหมาะกับโซล แต่สำหรับเมืองอื่น ผู้บริหารแต่ละเมืองจะต้องรับมือด้วยการศึกษาอย่างละเอียด และประเมินสถานการณ์ในบ้านอย่างใกล้ชิด
หากผู้ใหญ่ในประเทศไทยต้องการตามทันเรื่องเมตาเวิร์ส คำแนะนำของอริยะคือการเริ่มต้นทดลองสัมผัสโลกเมตาเวิร์สยุค 0.0 ผ่านเทคโนโลยีที่มีให้บริการแล้วในปัจจุบัน โดยอาจจะเริ่มที่ NFC ซึ่งอริยะถือไว้หลายตัว หรืออาจจะเริ่มที่เกม และอีกหลายหนทางที่จะเปิดโลกทัศน์ให้เข้าใจยิ่งขึ้น
จุดนี้อริยะย้ำว่าการมองเมตาเวิร์สเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กยุคถัดไป ไม่ได้แปลว่าพรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ปกติที่ประเทศไทยบังคับใช้นั้นสามารถกำกับดูแลเมตาเวิร์สได้แล้ว ในเมื่อความท้าทายคือบริการเหล่านี้เป็นอนาคตที่ยังไม่มีใครสามารถกำกับดูแลได้ สิ่งที่ต้องการให้หน่วยงานกำกับดูแลไทยดำเนินการ คือการเปลี่ยนรูปแบบความคิด และเปลี่ยนมุมมองจากคนที่คุ้นเคยกับการอยู่ในโลกแบบรวมศูนย์ มาเป็นโลกที่กระจายศูนย์ซึ่งทุกคนมีอำนาจควบคุมหรือ decentralized
‘ในมุมเมืองไทย อาจจะต้องดูว่าจะใช้จุดนี้ เป็นโอกาสได้อย่างไร? ตัวอย่างหนึ่งที่ดีคือประเทศเอล ซัลวาดอร์ซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศเป็นบิตคอยน์ ทำให้ไม่ต้องผูกเงินติดกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ถือว่ารัฐบาลมองข้ามช็อต มีความกล้า ไม่แก้ปัญหาแบบวนไปวนมา รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์สามารถพาตัวเองเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้บิตคอยน์อย่างถูกกฏหมาย อยู่ดีๆคนก็รู้จักประเทศนี้ขึ้นมา ถือเป็นการเปิดโลก ซึ่งยังต้องเรียนรู้กันต่อว่า รัฐบาลจะตั้งรับและใช้เป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้อย่างไร’
สำหรับเอล ซัลวาดอร์ นั้นเป็นประเทศเดียวในโลกที่รับรองเงินบิตคอยน์เป็นสกุลเงินถูกกฏหมาย ล่าสุดหน่วยงานในประเทศมีการออกมาโชว์ว่าสามารถนำกำไรจากการถือครองเงินดิจิทัล มาใช้สร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนกว่า 20 แห่ง
อริยะเชื่อว่าโลกอนาคตอย่างเมตาเวิร์สคือโลกใหม่ที่จะมาพร้อมโอกาสใหม่ให้สังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยเป็นประเทศที่ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมเล่นเกม แต่ทัศนคติของผู้ใหญ่บางคนยังมองการเล่นเกมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโลกวันนี้คือการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งเล่นเกมแล้วได้เงินจริง สามารถเป็นอาชีพได้ มีการรับโทเคนทุกเดือน เป็นโมเดล Play to earn ซึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูงมากอย่างฟิลิปปินส์ สามารถสร้างอาชีพใหม่ให้คนในประเทศได้มีรายได้มากกว่า 600-700 เหรียญต่อคน
รายงานก่อนหน้านี้พบว่า เกมเมอร์ชาวฟิลิปปินส์มีรายได้เฉลี่ยจากการเล่น Axie Infinity อยู่ที่ 10,000 เปโซฟิลิปปินส์ หรือประมาณ 6,589.53 บาทต่อเดือน
‘ดังนั้นอย่ามองว่าเป็นการมั่วสุม แต่ให้มองเป็นอนาคต สิ่งที่อยากให้ผู้ใหญ่ลองคือการเริ่ม สามารถเริ่มได้หลายทาง ส่วนตัวผมเลือกศึกษาเกม เพราะเกมเป็นสิ่งที่จะดึงผู้คนไปอยู่บนเมตาเวิร์ส ซึ่งจะเหมือนอสังหาฯในรูปแบบหนึ่ง การสร้างเมตาเวิร์สจึงเหมือนกับการสร้างโครงการอสังหาฯหนึ่งขึ้นมา ถ้ามีคนไปอยู่ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้น เพราะมีโอกาสซื้อของ หรือจับจ่ายอื่นๆตามมา ดังนั้นอย่าคิดว่าจะทำแค่ยกโลกออฟไลน์ มาตั้งไว้ในโลกออนไลน์แค่นั้น‘
มองเมตาเวิร์สคืออสังหาฯ
อริยะยกตัวอย่างว่า แม้จะไม่มีตัวตน และมีแค่ NFT แต่คนบนเมตาเวิร์สอาจจะต้องการเครื่องตกแต่งเช่น รถสปอร์ต หรือกระเป๋าสินค้าหรูหรา และสินค้าอื่นๆ ภาวะนี้ทำให้แบรนด์ดังระดับโลกใช้เป็นโอกาสในการออก NFT รุ่นพิเศษแล้วจำหน่ายในราคาแพงกว่าสินค้าจริง ตรงนี้ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเพราะแบรนด์ใหญ่เข้าใจดีว่านี่จะเป็นสิ่งที่มีความหมายในอนาคต และสร้างโอกาสทางธุรกิจก่อนที่เมตาเวิร์สจะเป็นเมนสตรีม
ปัจจุบันอริยะเองก็กำลังต่อยอดธุรกิจบนเมตาเวิร์ส โดยหลังจากเปลี่ยนงานจากการบริหารงานในองค์กรใหญ่ วันนี้อริยะก่อตั้งบริษัทของตัวเองชื่อทรานส์ฟอร์เมชันนัล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน Tech Venture Builder ที่จะร่วมมือกับบริษัทใหญ่ในไทย เพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ล่าสุด อริยะทำโครงการร่วมกับสยามพิวรรธน์ ในการสร้างจุดยืนให้สยามพิวรรธน์มีกลยุทธ์ดิจิทัลบน ‘โลกคู่ขนาน’ ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรรอบด้านในการสร้างไลฟ์สไตล์เชื่อมออฟไลน์ - ออนไลน์ และปฏิวัติประสบการณ์ค้าปลีกแห่งอนาคต
เช่นเดียวกับภาครัฐ อริยะยอมรับว่านี่เป็นโครงการใหม่ที่ต้องศึกษาต่อเนื่อง บริษัทจึงยังอยู่ระหว่างหาแนวทาง แต่สิ่งที่แน่นอนคือการไม่ยกห้างออฟไลน์ ขึ้นไปออนไลน์บนเมตาเวิร์ส แต่จะต้องหาช่องทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ภาคเอกชนจำเป็นต้องทำเช่นกัน
ถ้าใครไม่ทำ คนนั้นย่อมรับมือไม่ไหว