รมว.ดีอีเอส เผยความคืบหน้าโครงการอีอีซีดี เสน่ห์แรง นักลงทุนต่างชาติเตรียมเข้ามาลงทุนในไทย คาดเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในอาเซียนได้ไม่ยาก เร่งพัฒนาบุคลากรดิจิทัลรองรับความต้องการของตลาด
*** ปั้นอีอีซีดี สู่ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน
โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรืออีอีซีดี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตั้งอยู่บนพื้นที่ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กว่า 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีเคเบิลใต้น้ำ สถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน และพื้นที่ว่างเปล่า มีทำเลอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์ไปรษณีย์ ศรีราชา ซึ่งเป็นศูนย์กลางคัดแยกขนาดใหญ่ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง สถานี อ.ศรีราชา จึงนับเป็นทำเลที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนในการใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค
สำหรับการขับเคลื่อนในโครงการอีอีซีดีนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าสู่ประเทศไทยจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอีเอส เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างอาคารสำนักงาน จำนวน 5 อาคาร ภายใต้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท และ 2.โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ซึ่ง กสท โทรคมนาคม ทำหน้าที่หาผู้บริหารโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการเป็น 'อาเซียน ดิจิทัล ฮับ' ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลครบเครื่องเหมาะสมกับการเข้ามาลงทุน
*** ยักษ์ใหญ่ต่างชาติจ่อลงทุน
'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ 2 โครงการดังกล่าว ว่า โครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ เป็นการขยายผลจากแนวคิดการจัดตั้งสถาบันไอโอทีเดิม บนพื้นที่ 30 ไร่ เพื่อดึงดูด สร้างแรงจูงใจ สร้างความเชื่อมั่น ให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา สถาบัน และภาครัฐ สร้าง Digital Ecosystem และ Open Platform สำหรับ สตาร์ทอัป ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบสินค้าและบริการดิจิทัลของธุรกิจชั้นนำ และสตาร์ทอัป รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต (New S-curve Digital Industry) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มุ่งเน้นอุตสาหกรรมไอโอที หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะ และระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มีทั้งสิ้น 5 อาคาร ประกอบด้วย
อาคารแรก งบประมาณ 48 ล้านบาท พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร สำหรับบริษัทที่สนใจเช่าเป็นสาขาได้ดำเนินการสร้างเสร็จสิ้นแล้ว อาคารที่ 2 ในพื้นที่ 45,000 ตารางเมตร งบประมาณ 168 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ค.2564 ซึ่งเปิดพื้นที่ในการทำงาน ทดลอง ทดสอบทั้งเทคโนโลยีเอไอ และบล็อกเชน
ส่วนอาคารที่ 3 งบประมาณ 1,300 ล้านบาท พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร อยู่ระหว่างการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อเป็นแล็บในการพัฒนาแอปพลิเคชัน 5G ให้มีสินค้าออกสู่ตลาด ขณะที่อาคารที่ 4 และ 5 จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 ด้วยงบประมาณอาคารละ 800 ล้านบาท พื้นที่อาคารละ 20,000 ตารางเมตร โดยอาคารที่ 4 เป็น Digital Edutainment Centre มีพื้นที่ให้ทดสอบทดลองและจัดกิจกรรม ส่วนอาคารที่ 5 เป็น Digital Go Global Centre เป็นพื้นที่รองรับดิจิทัล สตาร์ทอัป และเป็นสำนักงานและมีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมด้วย
ส่วนโครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ คาดว่าภายใน 2 เดือน จะสามารถประกาศเงื่อนไขการลงทุน (ทีโออาร์) เพื่อเชิญชวนบริษัทเข้ามายื่นข้อเสนอประมูลเป็นบริษัทบริหารจัดการพื้นที่ และได้ผู้ชนะประมูลปลายปีนี้ โดยมีผู้แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว 2 กลุ่มบริษัท ในรูปแบบพีพีพี ซึ่งเรื่องนี้ พุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสได้เดินหน้าเจรจาหาลูกค้าต่างชาติให้แก่ผู้ชนะการประมูลรอไว้แล้ว โดยเป็นบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกา 2 บริษัท มูลค่าการลงทุนบริษัทละ 3-4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงกลายเป็นแรงจูงใจให้มีกลุ่มบริษัทสนใจเข้ามายื่นซองประมูล ทำให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงดีอีเอสจะเดินหน้าโครงการนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่ารถไฟฟ้ารางเดี่ยวจะมีการสร้างเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีศรีราชา มายังโครงการดิจิทัล พาร์ค แห่งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางอีกด้วย
***จับมือภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรดิจิทัล
นอกจาก 2 โครงการในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โครงการอีอีซีดี ยังมีทำเลที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล เพราะบริเวณใกล้เคียงมีสถาบันการศึกษาและศูนย์ขนส่งและกระจายสินค้าและพัสดุของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ด้วย โดยกระทรวงดีอีเอสได้ร่วมมือกับ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา ในการเป็นศูนย์ทดสอบเทคโนโลยี 5G (5G Testbed) จัดตั้งขึ้นบนหลักการการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการนำคลื่นความถี่ 5G มาประยุกต์ใช้งานจริงในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จาก 5G และยังเป็นแหล่งศึกษานอกห้องเรียนของคณาจารย์ และนิสิต และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนากำลังคนในพื้นที่อีอีซี
สำหรับยูสเคส ที่ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการ ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเกษตรและอาหาร โดยการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการเกษตรตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูป นำเทคโนโลยี 5G มาใช้พัฒนายูสเคส ตั้งแต่กระบวนการผลิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น ระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ 2.ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขนส่ง ที่นำ 5G มาใช้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การพัฒนาระบบการผลิตอัจฉริยะ การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการผลิตควบคุมได้จากระยะไกล การจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการระบบขนส่งอัตโนมัติในคลังสินค้า และ 3.ด้านการศึกษา พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยในการเรียนการสอน เช่น การใช้ AR/VR เป็นเครื่องมือประกอบการสอน หรือหลักสูตรออนไลน์ต่างๆ ในรูปแบบ 4K หรือ 8K
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการเป็นศูนย์ DAT Co-Working Space มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพแรงงานดิจิทัลรองรับพื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคการศึกษา จนเป็นต้นแบบในการพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อีกทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตรความรู้ขั้นพื้นฐาน และความรู้ขั้นสูง เพื่อให้สามารถทำงานกับเครื่องมือประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง และยังมีการสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดึงความสามารถของเอไอ และ Data Sciences มาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในเขตพื้นที่ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ตลอดจนในพื้นที่อีอีซีโดยรอบได้
'จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการนำดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจของตนเองมากขึ้น แรงงานทักษะดิจิทัลจึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลและกำลังคนดิจิทัลจะช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจได้ ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเร่งยกระดับและปรับทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน และสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่มีทักษะไอโอที การวิเคราะห์ข้อมูล เอไอ โรโบติก หรือทักษะดิจิทัลอื่นๆ ที่จำเป็นในอนาคต ให้เกิดบุคลากรด้านดิจิทัลที่เพียงพอทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ โดยหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาแรงงานทักษะดิจิทัลขั้นสูง ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจทั้งในอีอีซี และขยายผลความร่วมมือไปยังภูมิภาคอื่นๆ ตอบสนองความต้องการ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต' รมว.ดีอีเอส กล่าวสรุป