โนเกียโชว์ตัวเลขดีลการค้า 5G เชิงพาณิชย์ทะลุ 90 ฉบับ ขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมอันดับ 2 ของโลกด้วยธุรกิจอุปกรณ์เครือข่าย 5G ที่ดำเนินการจริงแล้ว 34 เครือข่ายทั่วโลก ด้าน “เดวิด ออกซฟอร์ด” ผู้อำนวยการ โนเกีย ประเทศไทย คนล่าสุดหยอดคำหวาน ระบุโนเกียอยู่ในไทยมาแล้ว 30 ปี ปักหลักพัฒนามาทุก G ทั้ง 2G, 3G และ 4G เชื่อว่า 30 ปีนับจากนี้โนเกียจะได้พัฒนา 5G รวมถึง 6G ให้คนไทยได้ใช้งาน พุ่งเป้าทำตลาดกลุ่มท่าเรือ-การไฟฟ้าในประเทศไทย
เดวิด ออกซฟอร์ด ผู้อำนวยการ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไทยเป็หนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความพร้อมก้าวสู่มาตรฐานอุตสาหกรรมยุค 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไทยได้แสดงความพร้อมไปสู่เทคโนโลยียุคใหม่โดยการเริ่มใช้งานระบบ 5G ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่
“โนเกียได้อยู่เคียงข้างประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารมาโดยตลอด ในการเข้าสู่ยุค 5G เรามุ่งหวังที่จะนำเสนอเครือข่ายที่ช่วยให้เกิดการปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล และการใช้งานแอปพลิเคชันของอุตสาหกรรม 4.0 เราพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและลูกค้าองค์กรของเราในการเร่งพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่โดยการนำเทคโนโลยีสื่อสารที่ก้าวหน้าล้ำสมัยมาการปรับใช้กับกระบวนการทางธุรกิจ”
โนเกียย้ำว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญของบริษัท ซึ่งโนเกียมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านระบบการสื่อสารของประเทศไทยมากว่า 30 ปี เริ่มตั้งแต่การวางเครือข่าย 2G, 3G และ 4G ทั่วประเทศ โนเกียมุ่งหวังที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของการเชื่อมต่อ และจะเน้นตอบสนองการใช้งานอุตสาหกรรมยุค 4.0 ด้วย 5G
พุ่งเป้าท่าเรือ-การไฟฟ้า
องค์กรไทยที่โนเกียเล็งเห็นศักยภาพในการใช้งาน 5G ในองค์กร คือท่าเรืออุตสาหกรรมและองค์กรด้านสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า นอกจากการร่วมมือกับทรูในการให้บริการ Network Slicing ที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) และการเป็นพันธมิตรดีแทคเพื่อให้บริการอุปกรณ์ 5G/4G โนเกียยังอยู่ระหว่างการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ด้วย เบื้องต้น โนเกียมั่นใจว่าจะนำทรัพยากร เทคโนโลยี และความสามารถมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กรอื่นในประเทศไทยได้
สิ่งที่โนเกียจะโฟกัสคือ บริการโซลูชันเครือข่ายไร้สายส่วนตัวระดับอุตสาหกรรม โดยวางจุดขายเรื่องความน่าเชื่อถือสูง มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพคงที่ มีระบบรักษาความปลอดภัยในตัว และมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับทุกอุปกรณ์ ทั้งหมดนี้โนเกียยกยูสเคสการใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารในท่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ (Container Terminal Use Case) ว่าสามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายระหว่าง Terminal กับ Terminal ลูกข่ายด้วยความเร็วสูงและมีความหน่วงต่ำ ทำให้การควบคุมเครนยกสินค้าทำได้จากระยะไกลแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถควบคุมตรวจจับอุณหภูมิตู้สินค้าแช่เย็น อายุของสินค้า การควบคุมกระบวนการผลิตและจัดการขั้นตอนการทำงาน และการตรวจจับวิเคราะห์โดยใช้วิดีโอ สำหรับด้านสาธารณูปโภค (Utility Use Case) 5G ของโนเกียทำให้เครือข่ายเฉพาะกิจแบบต่างๆ ทำงานร่วมกันได้ เช่น ฟาร์มกังหันสร้างไฟฟ้าด้วยพลังงานลมที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยองค์กรสามารถอบรมบุคลากรภาคสนามและการสร้างห้องควบคุมเสมือนจริง
ในภาพรวม การใช้ 5G ในเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2021 ที่เริ่มให้บริการ คาดว่าจะมีปริมาณผู้ใช้งาน 5G ทะลุ 200 ล้านคนในปี 2025 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ในประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาเป็นประเทศไทย ส่งผลให้โมบายทราฟฟิกบน 5G เติบโตขึ้นจนกินสัดส่วน 23% ของทราฟฟิกรวม ท่ามกลางการเชื่อมต่อ 1,800 ล้านอุปกรณ์
บทสรุปคือ โนเกียเชื่อว่า เอเชียจะเป็นตลาดที่มีการเติบโตของ 5G สูงที่สุด ปัจจุบันโนเกียระบุว่าลูกค้าผู้ให้บริการด้านการสื่อสารของบริษัทมีเครือข่ายรวมที่พร้อมรองรับผู้ใช้บริการจำนวน 6,400 ล้านเลขหมาย ลูกค้าองค์กรของโนเกียใช้งานเครือข่ายสื่อสารระดับอุตสาหกรรมกว่า 1,300 เครือข่ายทั่วโลก
การประกาศตัวเลขดีล 5G ครบ 90 ดีลของโนเกีย เกิดขึ้นหลังจากที่ “อีริกสัน” คู่แข่งสัญชาติยุโรปประกาศทำสัญญาฉบับที่ 100 ไปเมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่คู่แข่งอีกรายอย่างหัวเว่ย โชว์ตัวเลขเมื่อเมษายน 63 ว่าได้ลงนามในสัญญา 5G เชิงพาณิชย์มากกว่า 90 สัญญาทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนการถูกโทษแบนในหลายประเทศ