xs
xsm
sm
md
lg

Huawei ยอมรับ "ปี 63 สุดโหด"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 62 ว่ายากแล้ว แต่ปี 63 จะเป็นปีที่ยากกว่าสำหรับหัวเว่ย (Huawei) แม้จะสามารถทำรายได้ กำไร และดันยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น ทั้งที่การถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐฯ ส่งผลให้หัวเว่ยได้รับผลกระทบอย่างหนักในครึ่งหลังของปี 62 แต่สถานการณ์ในปี 63 เชื่อว่าจะรุนแรงขึ้นอีก รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่หัวเว่ยยอมรับว่ายังไม่อาจประเมินผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด

นอกจากการรุกรานจากสหรัฐอเมริกา และการระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีประเด็นโอเพ่นแรน (OpenRAN) บริการโซลูชั่นโทรคมนาคมคู่แข่งที่จัดการทุกอย่างผ่านซอฟต์แวร์ซึ่งครอบคลุมทั้งเครือข่าย 2G, 3G, 4G และ 5G ทั้ง 3 ประเด็นเป็นหนามตำใจหัวเว่ยจากปาก “สวี จื๋อจวิน” (Eric Xu) รองประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานบริษัท หมุนเวียนตามวาระ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด

ผู้บริหารหัวเว่ยย้ำว่าหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังดำเนินต่อไป ทุกฝ่ายทั่วโลกก็จะต้องผจญกับคลื่นกระหน่ำเคราะห์ซ้ำกรรมซัดแบบเลี่ยงไม่ได้ โดยบอกว่าโลกอาจได้เห็นผลพวงความหายนะอย่างไม่รู้จบ และหากหายนะนั้นเกิดขึ้น “จะไม่มีผู้เล่นรายใดในโลกที่สามารถมีภูมิคุ้มกันหรือต้านทานได้”

สิ่งที่เห็นชัดจากคำพูดของผู้บริหารหัวเว่ย คือการปกป้องว่ารัฐบาลจีนไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเจ้าพ่ออุตสาหกรรมเทเลคอมของประเทศที่ถูกจับขึ้นเขียงต่อหน้าชาวโลก แต่กระนั้นหัวเว่ยก็ยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองเพราะศักยภาพของบริษัท โดยหัวเว่ยเน้นมุมมองให้โลกเห็นว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมถึงบริษัทในสหรัฐฯเอง

งบสวยและดูดี?

หัวเว่ยพยายามชูประเด็นว่าบริษัทไม่ห่วงเรื่องการเงิน เพราะหลายตัวเลขของบริษัทยังดูดีภายใต้การต่อสู้สุดฤทธิ์กับความท้าทายหลายด้านเพื่อให้หัวเว่ยชูคออยู่แถวหน้าของโลกได้

ตลอดปี 62 หัวเว่ยระบุว่ามีรายรับเพิ่มขึ้น 19.1% ต่อปี คิดเป็น 858,800 ล้านหยวนหรือ 3,983,666 ล้านบาท ผลกำไรพุ่งขึ้น 5.6% สู่หลัก 62,700 ล้านหยวนหรือ 290,842 ล้านบาท และกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น 22.4% คิดเป็น 91,400 ล้านหยวนหรือ 423,971 ล้านบาท บนการจัดส่งสมาร์ทโฟนเกิน 240 ล้านเครื่องตลอดปี

ขณะที่ 15.3% ของรายได้ปี 62 หรือประมาณ 131,700 ล้านหยวน (ราว 610,909 ล้านบาท) ถูกนำไปลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ตัวเลขนี้หัวเว่ยย้ำหนักหนาเพื่อแสดงความจริงใจว่าบริษัทโฟกัสเรื่องงาน R&D ต่อเนื่องไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร


หากมองที่กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม หัวเว่ยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.8% ต่อปีจนมีมูลค่า 296,700 ล้านหยวน (ราว 1,376,285 ล้านบาท) โดยหัวเว่ยได้ลงนามในสัญญา 5G เชิงพาณิชย์มากกว่า 90 สัญญาทั่วโลก และจัดส่งอุปกรณ์สถานีฐาน 5G มากกว่า 600,000 สถานี ตัวเลขเหล่านี้แม้จะดูสวยงาม แต่เมื่อขุดลึกลงไปจะพบว่าหัวเว่ยกำลังพบงานหนัก

ลูกค้าที่รักกันมายาวนานของหัวเว่ย ซึ่งทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ยุค 2G, 3G และ 4G วันนี้กำลังเลือกจะไปทางอื่นเมื่อโลกเข้าสู่ 5G ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโอเปอเรเตอร์ชื่อทีดีซี (TDC) ในเดนมาร์กและโวดาโฟน (Vodafone) ในออสเตรเลีย ถือว่าเป็นอีกผลกระทบจากการที่หัวเว่ยถูกเพิ่มเข้าในบัญชีดำ “เอ็นติตี้ลิสต์” (US Entity List) จนมีคำสั่งห้ามมิให้บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ทำงานกับหัวเว่ยตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 62


ในช่วง 6 เดือนแรก หัวเว่ยประเมินว่าการรุกรานของสหรัฐฯทำให้บริษัทมีรายได้หดหายไปมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มากกว่า 3.2 แสนล้านบาท) เพราะบริษัทต้องเร่งสื่อสารและสร้างความมั่นใจให้คู่ค้า รวมถึงลูกค้าทุกคนทั่วโลก จนกระทั่งธุรกิจสามารถฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 จนมีผลประกอบการสวยงาม

“เราต้องเร่งให้ความรู้ตลาด ทำให้มีต้นทุนการสื่อสารมากในเวลานั้น แรงกดดันจากสหรัฐฯทำให้งาน 5G บางส่วนสะดุดลง จนต้องใช้เวลามากในการอธิบายให้พันธมิตร หน่วยงานในหลายประเทศ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

ผู้บริหารหัวเว่ยยอมรับว่าเวลานั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นรวดเร็วที่สุดจาก US Entity List คือธุรกิจสมาร์ทโฟน และผลประกอบการที่สะท้อนว่าการจัดส่งในประเทศจีนเติบโตอย่างสวยงามในปี 2562 นั้น ไม่ได้เป็นเพราะความตั้งใจจะลดขนาดการดำเนินงานระหว่างประเทศลง เพราะกลุ่มธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์สำหรับจำหน่ายให้ผู้บริโภคยังคิดเป็น 54% ของรายได้ทั้งหมด แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการนำอีโคซิสเต็มชื่อหัวเว่ยโมบายเซอร์วิสเซส (Huawei Mobile Services) หรือ HMS มาเป็นอาวุธหนัก

HMS ถูกเปิดตัวในช่วงปลายปี 2562 ในฐานะระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็มเพื่อแทนที่บทบาทของกูเกิล (Google) ต่อธุรกิจคอนซูเมอร์ของหัวเว่ย HMS จะทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนนักพัฒนาขณะเดียวกันก็จะเป็นมาร์เก็ตเพลสหรือตลาดเพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้ โครงการนี้สามารถชี้ชะตาธุรกิจสมาร์ทโฟนหัวเว่ยได้แบบ 100% เนื่องจากสมาร์ทโฟนจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับแอปพลิเคชันที่ติดตั้งลงไป ดังนั้นอนาคตของสมาร์ทโฟนหัวเว่ยจึงผูกติดกับความสำเร็จของโครงการนี้


นอกจากตัวอุปกรณ์ หัวเว่ยยังต้องเผชิญความท้าทายในธุรกิจอื่นด้วย เพราะรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาบีซีจี (Boston Consulting Group) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) เชื่อว่าการปิดกั้นของสหรัฐฯจะเป็นข้อจำกัดจนทำให้จีนสูญเสียตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไป

ประเด็นนี้ ผู้บริหารหัวเว่ยชี้ว่าหากหัวเว่ยและบริษัทจีนรายอื่นไม่สามารถทำงานกับบริษัทสหรัฐได้ บริษัทอื่นที่ไม่ใช่บริษัทจีนก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติอเมริกันก็จะถูกลดอิทธิพลลงไปอีก กลายเป็นการเปิดทางให้อุตสาหกรรมทั่วโลกที่ต้องการแข่งขันกับจีน ซึ่งส่วนนี้หัวเว่ยยกเครดิตให้กับกลยุทธ์ “Made in China 2025” ที่รัฐบาลจีนพร้อมสนับสนุนเต็มที่เพื่อให้จีนเติบโตในเซ็กเมนต์นี้

ความท้าทายเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเมื่อเทียบกับวิกฤตโควิด-19 เพราะปี 62 หัวเว่ยมีศึกด้านเดียวที่ต้องรับมือคือการจัดการกับการถูกขึ้นบัญชีดำ แต่ปี 63 หัวเว่ยจะต้องเผชิญภาวะแทรกซ้อนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้โอกาสของการสวนหมัดตอบโต้กับคู่แข่งที่กำลังฮอตอย่าง Open RAN นั้นทำได้ไม่เต็มที่

ยุคหลังโควิด-19 ยังมัว

นอกเหนือจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น โควิด-19 ก็เป็นอีกความท้าทายที่ชัดเจนสำหรับหัวเว่ย โดยเฉพาะเรื่องห่วงโซ่การผลิต ที่ต้องผจญความยุ่งยากชัดเจนเรื่องการติดต่อกับซัปพลายเออร์ต่างประเทศ

แม้วันนี้ความสามารถในการผลิตที่ประเทศจีนบ้านเกิดนั้นเกือบกลับมาเต็ม 100% แล้วทั้งที่อยู่ในสถานการณ์โควิดเสี่ยงสูง แต่ปัญหาคือวันนี้โควิด-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็วนอกประเทศจีน โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของซัปพลายเออร์และการผลิตส่วนประกอบ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับบริษัทอื่นทั่วโลก

ความท้าทายอีกอย่างที่ค้ำคอหัวเว่ยอยู่คือความกังวลของลูกค้า ซึ่งในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ชัดเจนว่าเหล่าเทลโคกำลังสนใจปรับปรุงความยืดหยุ่นของเครือข่ายมากขึ้นกว่าการเปลี่ยนทั้งโครงข่ายเป็น 5G เหมือนที่หัวเว่ยเร่งทำตลาดขายอุปกรณ์สถานีฐานอยู่ ประเด็นนี้หัวเว่ยเชื่อว่าการติดตั้งสถานีฐาน 5G จะยังขยายตัวไม่หยุด แต่จะมีการประสานงานมากขึ้นเพื่อปรับปรุงความเสถียรของเครือข่ายดั้งเดิม ในช่วงที่โควิดทำให้สังคมโลกเปลี่ยนแปลงจนอาจมีผลต่อโลก 5G ในอนาคต

“สวี จื๋อจวิน” (Eric Xu) รองประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานบริษัท หมุนเวียนตามวาระ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด
หัวเว่ยมองว่า OpenRAN เป็นความท้าทายในระยะสั้น เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่ม OpenRAN ที่เน้นซอฟต์แวร์มากกว่าทุ่มเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ จะไม่มีผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญกับธุรกิจหัวเว่ยในอนาคต เบื้องต้นผู้บริหารหัวเว่ยแนะว่าบริษัทเทลโคควรพิจารณาโครงข่ายแบบซิงเกิลแรน (Single RAN) และ OpenRAN แบบคู่ขนานกันไป ซึ่งจะตอบสนองความต้องการทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน

เมื่อมองรอบด้าน ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมโลกอย่างหัวเว่ยจะต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักในช่วงปี 63 ท่ามกลางอุปสรรคที่ใหญ่กว่าเดิม ผู้บริหารหัวเว่ยปฎิเสธว่าไม่สามารถประเมินภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของหัวเว่ยในช่วง 2 ปีนับจากนี้ แต่สิ่งที่พอให้สบายใจได้บ้าง คือความแพร่หลายของการประชุมออนไลน์ การช็อปออนไลน์ และกิจกรรมออนไลน์ที่จะเกิดต่อเนื่องถึงยุคหลังโควิด ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดเน็ตเวิร์กทราฟฟิกมาก ส่งให้มีความต้องการเน็ตเวิร์กคุณภาพสูง และต้องปลอดภัยเป็นพิเศษ

สถานการณ์นี้ทำให้หัวเว่ยเชื่อว่า ธุรกิจสื่อสารที่มีแนวโน้มสุดโหดในปี 63 จะเป็น ”ความโหดที่มีอนาคต” เพราะทุกคนจะต้องเน้นลงทุน เพื่อตอบความต้องการกิจกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องให้ได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น