xs
xsm
sm
md
lg

อีริคสันมั่นใจโควิด-19 ไม่ชะลอ 5G ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นาดีน อัลเลน
อีริคสันสะท้อนผลกระทบจากการล็อกดาวน์และการระบาดของโควิด-19 ผ่านรายงานอิริกสัน โมบิลิตี้ปีล่าสุด คาดโควิดไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้การลงทุน 5G ชะลอตัวเพราะไทยมีการประมูล 5G แล้วทำให้เห็นความแข็งแกร่งและสัญญาณการลงทุนสูงมากในไทย ย้ำไทยเป็นตลาดที่มีจุดแข็งโดดเด่นในตลาดอาเซียน รวมถึงรัฐบาลก็สนับสนุนเต็มที่ ประกาศ 1 ใน 2 เป้าหมายปีนี้คือการยกระดับ 5G ไทยผ่านทรู ไม่เอ่ยชื่อดีแทคทั้งที่ปี 62 ผู้บริหารเคยเผยว่ามีการอัปเดท 5G ในประเทศไทยแล้วที่ดีแทคและทรู

นางนาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับปริมาณการรับส่งข้อมูลบนเครือข่าย ที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่จากย่านธุรกิจไปสู่ชุมชนที่พักอาศัยอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนต้องทำงานหรือเรียนที่บ้าน โดยรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด แสดงให้เห็นว่าการใช้เครือข่ายมือถือและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบ้าน กำลังเพิ่มบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

“อย่างที่ทราบกัน โควิด-19 มีผลสำคัญกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ที่ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน การกระจายตัวและการใช้งานเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป เรื่องนี้จะส่งผลถึงการใช้เทคโนโลยีในไทย 2 ส่วน คืออาจมีการชะลอการลงทุน แต่ถ้ามองในเชิงบวก จะยิ่งพบว่าความต้องการเพิ่มขึ้น คิดว่าโควิดจะขับเคลื่อนโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการพยายามตอบความต้องการใช้งาน และความคาดหวังว่าโครงข่าย 5G จะรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่”

ในรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด พบบทบาทสำคัญของเครือข่ายในช่วงโควิด-19 ต่อสังคม เพราะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสื่อสารในช่วงวิกฤติ รายงานจึงคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดผู้ใช้ 5G ทั่วโลกจะพุ่งสูงถึง 190 ล้านราย และจะทะยานแตะระดับ 2,800 ล้านรายภายในสิ้นปี 2568 โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้เชิงพานิชย์ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ 


สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย เชื่อว่าจะใช้เทคโนโลยีเซลลูล่าร์ผ่าน 5G เป็นอันดับ 2 รองจากเทคโนโลยี LTE และภายในปี 2568 จำนวนผู้ใช้ 5G จะเพิ่มเป็น 270 ล้านราย หรือคิดเป็น 21% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมด


รายงาน Ericsson Mobility Report ประจำเดือนมิถุนายน 2563 ชี้ว่าตลาดผู้ใช้เครือข่าย 5G บางแห่งเติบโตแบบชะลอตัว อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่กำลังเร่งพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นการส่งสัญญานให้อีริคสัน ปรับเพิ่มประมาณการผู้ใช้ 5G ทั่วโลก ณ สิ้นปี 2020



สรุปแล้วตัวเลขคาดการณ์ผู้ใช้ 5G ทั่วโลกปี 2563 ที่ประเมินไว้ 190 ล้านราย และจะทะยานแตะระดับ 2,800 ล้านรายภายในสิ้นปี 2568 นั้นเพิ่มจากที่อีริกสันเคยประเมินไว้หลายเท่าตัว โดยรายงานอิริคสัน โมบิลิตี้เมื่อปี 62 เคยระบุว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ใช้ 5G ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 1,900 ล้านรายเท่านั้น

ในมุมปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟน 1 เครื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย พบว่าจะสูงถึง 25GB ภายในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย 33% ต่อปี โดยอัตราการเติบโตเกิดจากพื้นที่ใช้งานและการใช้สัญญาณเครือข่าย 4G และการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเฉลี่ยการใช้ดาต้าต่อสมาร์ทโฟน คาดว่าการใช้งานโมบายล์ดาต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 25 EB ต่อเดือน จากปกติที่ 3.2 EB ต่อเดือน หรือมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 40% ต่อปี

การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้การใช้งานเครือข่ายมือถือและอินเตอร์เน็ตบ้านเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยในย่านที่พักอาศัยมีปริมาณการใช้ดาต้าอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์เติบโตราว 20-100% แต่ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็สังเกตเห็นความต้องการใช้งานเครือข่ายมือถือเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ช่วงล็อกดาวน์ อีริคสันพบว่า 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจจาก 11 ประเทศ ที่ใช้งานเทคโนโลยี ICT มีการเปิดใช้บริการเทคโนโลยี ICT ต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ แอปฯ เรียนออนไลน์และ แอปฯ ดูแลสุขภาพ ที่ช่วยให้ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายได้ดีขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมการดำเนินธุรกิจทั่วโลก นอกจากเปิดโอกาสให้องค์กรเชื่อมต่อกับลูกค้าหรือดำเนินธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างไม่สะดุดแล้ว ระบบเครือข่าย 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลยังสร้างโอกาสการขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ แก่ผู้ให้บริการเครือข่าย อาทิ สุขภาพ ยานยนต์ และการผลิต



ผู้บริหารอีริคสันสรุปว่าสิ่งที่โลกได้เห็นจากการล็อกดาวน์มี 2 ด้าน คือผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจาก 5G เห็นได้ชัดจากเกาหลีใต้ที่การใช้ 5G เพิ่มขึ้นเกิน 6.3 ล้านรายภายใน 1 ปี ดังนั้นผู้ให้บริการต้องตอบความต้องการของผู้บริโภคให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ด้านที่ 2 คืออุตสาหกรรม เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โรงงานการผลิต และพลังงาน ทุกรายจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการผลิตที่เทคโนโลยีจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ไทยควรโฟกัสที่เฮลท์แคร์ 5G จะเสริมความแข็งแกร่งด้านบริการแพทย์ได้ คิดว่าไทยสามารถยกระดับด้วยการใช้เทคโนโลยีขยาย จะมีโอกาสทางธุรกิจสูงมาก”

ผู้บริหารทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของอีริคสันในตลาดไทยช่วงปีนี้ คือการเป็นคีย์พาร์ทเนอร์กับโอเปอเรเตอร์ไทย ซึ่งมีการประกาศเป็นพันธมิตรกับทรูแล้ว อีกเป้าหมายคือการนำเอาความเชี่ยวชาญที่มีมาใช้กับตลาดไทย ทั้งด้านเทคโนโลยีและยูสเคสที่เป็นประโยชน์มาใช้กับประเทศไทย เพื่อให้ 5G ไทยก้าวไปอีกระดับ

“จริงๆ เราทำงานร่วมกับคู่ค้าสำคัญคือโอเปอเรเตอร์ มีประกาศกับทรู วางโครงข่าย 5G แล้ว เราจะเอา 5G มาให้บริการผู้บริโภคในไทย”

ปัจจุบัน อีริคสันมีสัญญา 5G กับโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกทะลุ 93 ฉบับแล้ว ในจำนวนนี้ 40 เครือข่ายเริ่มให้บริการจริงแล้ว เพิ่มจาก 24 ฉบับที่เคยประกาศไว้เมื่อปี 62 และ 14 รายที่ให้บริการ 5G


สำหรับประเทศไทย แดนสยามเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดใช้ระบบเครือข่าย 5G เชิงพานิชย์เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ มีการประเมินว่าในปี 2568 ระบบเครือข่าย 5G จะสร้างรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราว 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ.


กำลังโหลดความคิดเห็น