xs
xsm
sm
md
lg

JLL เผยแนวโน้มตลาดลงทุนซื้อขายอาคารเอเชียปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิกมีการลงทุนซื้อขายอาคารอย่างคึกคัก แต่ช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เกิดภาวะหยุดชะงักอันเป็นผลจากวิกฤติการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยในไตรมาสแรกของปี มูลค่าการลงทุนซื้อขายอาคารที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงพาณิชย์ (ไม่นับรวมการซื้อขายที่อยู่อาศัย) ปรับตัวลดลง 26% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี คาดว่าไตรมาส 2 เป็นต้นไป ตลาดการลงทุนจะมีกิจกรรมการซื้อขายเพิ่มขึ้น หลังจากที่หลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และนักลงทุนยังคงมีความสนใจสูงในการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

รายงานจากเจแอลแอล ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ เอเชียแปซิฟิกมีการลงทุนซื้อขายอาคารรวมมูลค่าทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 พบว่า ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนซื้อขายลดลงมากที่สุด คือ ศูนย์การค้า (-39%) ตามด้วยอาคารสำนักงาน (-36%) และโรงแรม (-22%) ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น คืออสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์ (โกดังและศูนย์กระจายสิ้นค้า) โดยปรับเพิ่มขึ้น 9%

ในระยะแรกของการเกิดโรคระบาด นักลงทุนเน้นที่การประเมินผลกระทบที่มีต่อพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ในเบื้องต้น ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้การตัดสินใจลงทุนหยุดชะงัก แต่ในขณะนี้บรรดานักลงทุนได้มองการณ์ไกลมากขึ้นถึงแนวทางในการหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ โดยให้ความสำคัญสูงต่อการกระจายพอร์ตการลงทุนไปยังอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่ของประเภทอสังหาริมทรัพย์และทำเลที่ตั้ง

นายทิม แกรแฮม ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษากลยุทธ์การลงทุน เจแอลแอล
กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก พันธบัตรให้ผลตอบแทนติดลบ และตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง การลงทุนซื้ออาคารจึงเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่พร้อมสร้างรายได้และมีความผันผวนต่ำ

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้เป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และเริ่มให้ภาคธุรกิจหลักๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้ ตามมาด้วยอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ พร้อมๆ กับการกลับมาของตลาดการลงทุนซื้อขายอาคารในบางประเทศ หนึ่งในตัวอย่างล่าสุดคือการร่วมทุนระหว่างอลิอันซ์และชาร์เตอร์ฮอลล์เพื่อเข้าซื้อพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์จากเอแอลดีไอ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เกตในออสเตรเลียเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้

ในช่วงก่อนหน้านี้ มีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงหลายประการที่เริ่มพัฒนาตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียแปซิฟิก และยิ่งมีพัฒนาการที่รวดเร็วมากขึ้นไปอีกโดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง และส่งผลต่อความต้องการอสังหาริมทรัพย์ เช่น การขยายอิทธิพลของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมอร์ซ ส่งผลให้มีความต้องการอสังหาริมทรัพย์ดาต้าเซ็นเตอร์และอสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีการเจรจาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มนี้คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ามูลค่าการลงทุนจะขยับตัวสูงขึ้นต่อไปอีกเนื่องจากนักลงทุนต้องการหาโอกาสกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลักเดิมๆ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม

ในขณะเดียวกัน การที่บริษัท/องค์กรต่างๆ ซึ่งแต่เดิมมีความสนใจอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้นโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเกี่ยวกับสถานที่ทำงานสำหรับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช้ออฟฟิศของบริษัท ซึ่งเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น องค์กรต่างๆ เหล่านี้ถูกบังคับให้ใช้นโยบายดังกล่าวไปโดยปริยาย ซึ่งมีหลายๆ องค์กรโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และสถาบันการเงิน ที่ประสบความสำเร็จกับนโยบายดังกล่าว

คำถามที่ตามมาคือ บริษัท/องค์กรต่างๆ จะลดการเช่าใช้พื้นที่สำนักงานลงหรือไม่ หากสามารถให้พนักงานบางส่วนยังคงทำงานจากที่บ้านได้หลังวิกฤติการณ์โควิด-19 ทำให้นักลงทุนที่สนใจซื้ออาคารสำนักงานอาจต้องนำแนวโน้มนี้เข้ามารวมอยู่ในเกณฑ์การพิจารณา

อย่างไรก็ดี เจแอลแอลเชื่อว่า หลายบริษัทจะยังคงใช้นโยบายการให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน แต่ขณะเดียวกันก็มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับความต้องการในตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า โดยเชื่อว่าอาคารสำนักงานจะยังคงเป็นสินทรัพย์หลักที่นักลงทุนให้ความสำคัญต่อไป ตราบเท่าที่สังคมเมืองยังคงขยายตัวและมีอสังหาริมทรัพย์กลุ่มอาคารสำนักงานเป็นองค์ประกอบสำคัญ นอกจากนี้ ตลาดอาคารสำนักงานในหลายๆ เมืองของเอเชียแปซิฟิกยังคงสามารถรับมือกับผลกระทบของสถานการณ์โรคระบาดได้ และยังไม่พบว่ามีสัญญาณของการที่เจ้าของอาคารประสบปัญหาจนถึงกับต้องปล่อยขายอาคารในราคาต่ำ

“โดยภาพรวม ยังมีนักลงทุนจำนวนมากที่มีทุนหนา แต่นักลงทุนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะตัดสินลงทุนในระยะปานกลางหรือระยะยาว ส่วนนักลงทุนที่มีแผนชัดเจนแล้วและพร้อมลงทุนหรือกระจายพอร์ตการลงทุนในขณะนี้ โอกาสการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิกยังคงเปิดกว้าง” นายแกรแฮม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น