xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายละเอียด AIS ต่อยอดทีมพัฒนา ‘หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก และต้องรับมือกับความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เกิดขึ้น AIS จึงได้ประกาศภารกิจเร่งด่วนเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ ROC ขึ้นมาช่วยดูแลผู้ป่วย ด้วยการทำงานร่วมกับทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยตั้งเป้าว่าจะส่งมอบหุ่นยนต์ 23 ตัวให้ 22 โรงพยาบาลภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมา เอไอเอส เริ่มมีการนำหุ่นยนต์ เข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ในศูนย์บริการมาสักพักแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Alex หรือ Lisa

ประกอบกับเมื่อเห็นถึงสถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงแรก ทำให้ทาง เอไอเอส รวบรวมทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านหุ่นยนต์ มารวมกันกลายเป็นทีม AIS Robotic Lab ขึ้นมาอยู่ภายใต้ AIS Next ซึ่งเป็นทีมภารกิจพิเศษในการพัฒนานวัตกรรม

ภารกิจหลักของ AIS Robotic Lab คือการพัฒนาหุ่นยนต์ ROC หรือ Robot for Card ที่จะเข้าไปช่วยลดความเสี่ยง ในการสัมผัส และติดเชื้อ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยได้เข้าไปทำงานร่วมกับแต่ละโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อออกแบบหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในแต่ละสถานที่

“ตอนนี้เอไอเอส ส่งมอบหุ่นยนต์ 5G ช่วยดูแลผู้ป่วยไปแล้ว 7 แห่ง และคาดว่าจะส่งมอบหุ่นยนต์ในเฟสแรกทั้ง 23 ตัว ให้แก่ 22 โรงพยาบาลได้ภายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งการคัดเลือกโรงพยาบาลเหล่านี้จะเป็นกลุ่มแรกที่รับการตรวจ และรักษาโควิด-19 ก่อน”

โดยในเวลานี้ เอไอเอส ได้ส่งมอบหุ่นยนต์ ROC ให้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันบำราศนราดูร และกรมแพทย์ทหารเรือ โดยหุ่นยนต์ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ คลินิกและหอผู้ป่วยโควิด-19 ทำหน้าที่เข้าไปดูแลและตรวจอาการผู้ป่วยภายในห้องพักผู้ป่วย แทนหมอและพยาบาล ช่วยแบ่งเบาภาระ ลดเสี่ยง ลดสัมผัส เซฟแพทย์และพยาบาล

เหตุผลที่ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งมอบเนื่องมาจาก หุ่นยนต์แต่ละตัวจะใช้ทำภารกิจที่แตกต่างกันออกไป อย่างใช้รับผู้ป่วย ใช้เพื่อซักประวัติที่จุดคัดกรอง ผ่านระบบ VDO Call บนเครือข่าย 5G หรือใช้เพื่อตรวจเยี่ยมคนไข้ ใช้ส่งยาในห้องผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ทำให้ต้องมีการปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละโรงพยาบาล


หลักการทำงานพื้นฐานของ ROC คือเมื่อสื่อสารกับผู้ป่วย จะใช้กล้องวัดอุณหภูมิคนไข้ พร้อมใช้ 5G ส่งข้อมูลไปประมวลผลบนคลาวด์ และหุ่นยนต์ยังรองรับการใช้ VDO Call เพื่อให้แพทย์ สามารถสื่อสารกับคนไข้ จนถึงใช้แท็บเล็ตในการควบคุมหุ่นยนต์ได้ด้วย

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส กล่าวถึง แผนการพัฒนาหุ่นยนต์ 5G ทางการแพทย์ในอนาคต ยังสามารถปรับปรุงอย่างการลดการปนเปื้อนจากการสัมผัส ด้วยการปรับใช้การสั่งงานด้วยเสียง การทำความสะอาดหุ่นยนต์ ให้สามารถเดินผ่านอุโมงค์ฆ่าเชื้อ จนถึงการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาทำความสะอาดหุ่นยนต์ และห้องภายในโรงพยาบาล

หรือการนำภาพที่บันทึกไว้ มาใช้ระบบ Machine Learning เพื่อให้ระบบประมวลผลการตั้งค่าสำหรับการวัดอุณหภูมิอัตโนมัติในสภาพแสงที่แตกต่างกัน เพื่อลดความผิดพลาดของการตั้งค่าด้วยแพทย์ หรือพยาบาลที่อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญ

รวมไปถึงการเชื่อมต่อระเบียนจากโรงพยาบาลให้หุ่นยนต์เดิน ไปตรงจที่ข้างเตียงคนไข้ ใช้นำทางผู้ป่วย จนถึงการเชื่อมต่อกับ IoT จะสามารถนำข้อมูลจากดีไวซ์ต่างๆ มาร่วมกันวิเคราะห์ และเป็นข้อมูลให้แพทย์ใช้วินิจฉัยโรคได้

“การเก็บข้อมูลของหุ่นยนต์ในเวลานี้ จะเป็นการเก็บแบบ Digital Signature ที่จะไม่ระบุตัวตนของผู้ใช้ได้เพื่อป้องกันเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งในอนาคตทางทีมงานก็จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อปรับใช้รูปแบบการเก็บข้อมูล Digital Identity ต่างๆ ของคนไข้ เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”

ทั้งนี้ เอไอเอส ได้วางงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการ AIS Next ไว้ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่แยกออกมาจากการนำ 5G เข้าไปใช้เหลือในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19






กำลังโหลดความคิดเห็น